สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยภาพดวงจันทร์ช่วงหัวค่ำวันที่ 3 ธันวาคม 2560 เป็นวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงปรากฏในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ระยะห่างประมาณ 357,973 กิโลเมตร จะสังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย หรือมักเรียกว่า “ซูเปอร์ฟูลมูน” (Super Full Moon) ภาพดังกล่าวบันทึกไว้เมื่อเวลาประมาณ 19:00 น. ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
ทั้งนี้ ช่วงเวลาดังกล่าว ดวงจันทร์เพิ่งโผล่พ้นจากขอบฟ้า ซึ่งหากเราสังเกตดวงจันทร์ขณะอยู่บริเวณใกล้ขอบฟ้าจะรู้สึกว่ามีขนาดปรากฏใหญ่กว่าตำแหน่งอื่นๆ แท้จริงแล้วเป็นเพียงภาพลวงตาที่เรียกว่า “Moon Illusion” เนื่องจากบริเวณขอบฟ้ามีวัตถุให้เปรียบเทียบขนาด เช่น ภูเขา ต้นไม้ อาคาร เป็นต้น แต่บริเวณกลางท้องฟ้าไม่มีวัตถุใดมาเปรียบเทียบขนาด การมองดวงจันทร์บริเวณกลางท้องฟ้าจึงรู้สึกว่าดวงจันทร์มีขนาดเล็กกว่าปกติ
อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก หรือ ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) ครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในอีกหนึ่งเดือนข้างหน้า ตรงกับวันที่ 2 มกราคม 2561 มีระยะห่างประมาณ 356,595 กิโลเมตร จะเข้าใกล้และมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าครั้งนี้ และยังเป็นซูเปอร์ ฟูลมูนที่ใหญ่ที่สุดในปี 2561 อีกด้วย
ภาพขนาดปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี (ขวา) ในวันที่ 3 ธันวาคม 2560 ที่ระยะห่างประมาณ 357,973 กิโลเมตร เปรียบเทียบกับขนาดปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี (ซ้าย) เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2560 ที่ระยะห่างประมาณ 406,261 กิโลเมตร มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าขณะอยู่ไกลโลกมากที่สุดประมาณ 14% และมีความสว่างมากกว่าประมาณ 30%
ขอขอบคุณภาพจาก : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)