นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ควอลิตี้เฮาส์ จำกัด (มหาชน) อดีต รมว.คมนาคม โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นต่อการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และแชร์เฟซบุ๊กของ Athikhom Khoms Khunawut ที่เล่าถึงภาพผู้โดยสารบนรถไฟกรุงเทพ-อุบลราชธานี โดยระบุว่า เห็นข่าวการประมูลรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินมูลค่านับแสนล้านบาท และ วันนี้ (13 พ.ย.) ได้เห็นภาพจาก facebook ของ Athikhom Khoms Khunawut ที่ถ่ายภาพผู้โดยสาร และเล่าถึงการให้บริการของการนั่งรถไฟขบวน 141 กรุงเทพ-อุบลราชธานี แล้ว มันเป็นความแตกต่างกันราวกับนรกกับสวรรค์
ขณะที่ เราตื่นเต้นไปกับการลงทุนรถไฟฟ้าความเร็วสูงมูลค่านับแสนล้านบาท เราต้องไม่ลืมการดูแลประชาชนที่ยังต้องใช้รถไฟชั้นสามในการเดินทาง
ขณะที่ เราตื่นเต้นไปกับการลงทุนรถไฟฟ้าหลากหลายสี มูลค่านับแสนล้านบาท เราต้องไม่ลืมการดูแล ประชาชนที่ยังต้องใช้รถเมล์ รถสาธารณะ ในการเดินทาง
หัวใจของการคมนาคม คือ การดูแลการให้บริการประชาชนด้วย ไม่ใช่มุ่งแต่การลงทุนขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียวครับ
พร้อมกับมีผู้แสดงความเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การนั่งรถไฟไทยท้ายเพจ 'ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ '
หลังจากเมื่อวานนี้ (12 พ.ย. 2561) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้รับซองข้อเสนอราคาในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา จาก2 กลุ่มบริษัท ที่เข้ายื่นซอง ได้แก่
1.กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย) , บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย) , บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย)
2.กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ประเทศไทย) , บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD , China Railway Construction Corporation Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน) , บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย) , บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM
ขณะที่ รฟท.ยังเป็น 1 ใน 7 รัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้แผนฟื้นฟูของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ คนร. ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. แต่งตั้งขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อน เพื่อแก้ปัญหาผลขาดทุนสะสมของรัฐวิสาหกิจทั้ง 7 แห่ง ซึ่งต่อมามีเพียงธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เท่านั้น ที่สามารถแก้ปัญหาขาดทุนสะสมและหลุดออกจากแผนฟื้นฟูดังกล่าวได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :