สำหรับประเทศจีน การเปลี่ยนแปลงสู่ระบบตลาดได้สร้างความมั่งคั่งแก่ประชาชนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ปัจจุบันขนาดเศรษฐกิจของจีนเป็นอันดับสองรองเพียงสหรัฐฯอเมริกา อย่างไรก็ตามความเหลื่อมล้ำก็เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน ช่องว่างระหว่างรายได้คนจนคนในเมืองและคนชนบทถ่างออกเรื่อยๆ ในด้านการรักษาจากเดิมที่ระบบคอมมิวนิสต์ที่รัฐมีหน้าที่จัดหาการรักษาให้ประชาชนอย่างเท่าเทียม ก็เริ่มมีปัญหาการเข้าถึงมากขึ้นเมื่อราคาค่ารักษาสูงขึ้นตามกลไกตลาด การกระจายของแพทย์และบุคลากรเองก็กระจุกในเมืองมากกว่าชนบทมากขึ้น แต่ทว่าระบบการบริหารจัดการองค์กรสาธารณสุขกลับยังคงล้าหลังและรวมศูนย์กลางอยู่คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลท้องถิ่น โดยที่ระบบกลไกการตรวจสอบ ระบบความโปร่งใสยังต้องพัฒนาอีกมาก การระบาดของไข้หวัดนกได้เปิดเผยความไร้ประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการ ข้อมูลสุขภาพถูกปกปิดจากรัฐบาลท้องถิ่น ประชาชนไม่ได้รับการป้องกันโรคที่ดีพอ ความเสียหายดังกล่าวส่งผลให้ทางพรรคคอมมูนนิสม์เร่งหาทางปฏิรูประบบสุขภาพขึ้นใหม่
แพทย์เท้าเปล่า
ในช่วงปี 1949-1979 ระบบสุขภาพจีนเป็นการวางแผนส่วนกลาง ด้วยเงื่อนไขทรัพยากรการแพทย์มีอย่างจำกัด นโยบายสุขภาพจึงมุ่งเน้นไปที่การป้องกันรักษาโรค และการขยายการรักษาปฐมภูมิครอบคลุมประชากรทั้งหมด และพัฒนาสมุนไพรจีนด้วยวิทยาศาสตร์เพื่อให้มีประสิทธิภาพการรักษาเทียบเท่ายาแผนตะวันตก เป็นการพึ่งพาตนเองและลดการนำเขายาจากต่างประเทศ ในปี 1965 ท่านประธานเหมา เจอ ตุง ต่างเห็นปัญหาการกระจายที่ไม่ทั่วถึงของแพทย์ที่กระจุกตัวอยู่ในเมือง จึงมีดำรินโยบายการกระจายแพทย์ไปยังชนบทด้วยนโยบาย "แพทย์เท้าเปล่า" อันเป็นแพทย์มวลชนเพื่อมวลชน แพทย์เหล่านี้จะได้รับการอบรมการแพทย์ระยะสั้นหนึ่งถึงสองปีโดยเน้นความรู้ด้านการป้องกันโรคและการรักษาปฐมภูมิเพื่อไปทำงานในเขตชนบท ซึ่งหลังจากนั้นสามารถศึกษาต่อเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาเป็นแพทย์หรือนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตัวอย่างบุคคลสำคัญเช่น Chen Zhu อดีตรัฐมนตรีสุขภาพของจีนก็เคยทำงานเป็นหมอเท้าเปล่าก่อนไปศึกษาเพิ่มเติมด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้และปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยปารีส7
ความสำเร็จของแพทย์เท้าเปล่าช่วยขยายการครอบคลุมการรักษากว่า 90% ของประชากรในช่วงทศวรรษ 60-70 ช่วยชีวิตประชาชนในชนบทเป็นจำนวนมาก แต่ทว่าการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจของจีนทำระบบแพทย์เท้าเปล่าค่อยๆ หายไปในปี 1981 เนื่องจากรัฐบาลเริ่มลดเงินอุดหนุนโรงพยาบาลรัฐ ค่ารักษาถูกผลักไปให้ประชานมากขึ้น แพทย์เท้าเปล่าหลายๆ คนศึกษาความรู้เพิ่มเติมเพื่อสอบวุฒิเป็นหมอแผนตะวันตกและเริ่มเก็บค่ารักษาจากคนไข้ ค่าใช้จ่ายโดยตรงจากคนไข้เพิ่มขึ้นจาก 20.4% เป็น 46.4% ในปี 1978 ทำให้ประชาชนยากจนถูกกีดกันออกจากระบบการรักษา อย่างไรก็ตามมรดกของแพทย์เท้าเปล่าก็ยังคงความสำคัญในเขตชนบทจีน และพรรคคอมมูนนิสม์พยายามรื้อฟื้นใหม่อีกครั้งเพื่อคนจนในชนบทเข้าถึงการรักษา ในปี2002 รัฐบาลจึงออกแผนงาน New Rural Cooperative Medical Schemes ขึ้นมา โดยองค์กรสุขภาพระดับหมู่บ้านจะได้รับการแนะนำจากรัฐบาลซึ่งทำงานร่วมกับอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน ส่วนด้านการเงินโครงการนี้จะได้รับการสนับสนุน2 ส่วนคือ งบประมาณจากรัฐบาลกลางโดยแบ่งให้หมู่บ้านยากจนมากกว่าหมู่บ้านร่ำรวย อีกส่วนได้มาจากคนในท้องที่โดยจ่ายในรูปเบี้ยประกัน
หนึ่งประเทศสองระบบ
ด้วยความแตกต่างทางสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจและการประกอบอาชีพระหว่างเขตชนบทและเขตเมือง จีนได้พัฒนาระบบประกันสุขภาพภาคบังคับที่แตกต่างกัน 3 ระบบ คือ ระบบประกันสุขภาพในเขตชนบท ระบบประกันสุขภาพในเขตเมืองสำหรับลูกจ้าง และประกันสุขภาพสำหรับผู้ไม่ได้ทำงานและอาศัยในเขตเมือง โดยระบบประกันสุขภาพชนบทสามารถครอบคลุมกว่า 90% ของประชากรในปี 1976 โดยได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น และชาวนา ส่วนระบบประกันลูกจ้างก่อนจีนหันมาใช้ระบบตลาดนั้นเนื่องจากประชาชนไม่มีการว่างงานจึงมีระบบประกัน 2 แบบคือ ระบบประกันของข้าราชการและนักเรียนนักศึกษา และประกันสำหรับรัฐวิสาหกิจ
อย่างไรก็ตามระบบตลาดก็ได้ทำลายระบบประกันสุขภาพเขตชนบทลง เมื่อรัฐลดการอุดหนุน ค่าเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นทำให้ชาวนาไม่สามารถซื้อได้ การครอบคลุมจึงลดลงเหลือ 5% ของประชากรในชนบท ซึ่งต้องการปฏิรูปการคลังอย่างเร่งด่วนเพื่อขยายการครอบคลุมทั้งหมดก่อนปี 2020 รัฐบาลได้เพิ่มเงินอุดหนุน 80% ของค่าประกันสุขภาพเขตชนบท และออกกฎให้รัฐบาลท้องถิ่นขยายการครอบคลุมอย่างเร่งด่วน ส่วนประชาชนเขตเมืองนั้นรัฐบาลได้ปฏิรูประบบประกันใหม่เป็น ระบบประกันสุขภาพสำหรับคนทำงานครอบคลุมประชากรกว่า 264 ล้านคน ซึ่งเก็บเบี้ยประกันจากลูกจ้างและนายจ้าง และประกันสุขภาพสำหรับผู้ไม่ได้ทำงานและอาศัยในเขตเมืองครอบคลุมประชากรกว่า 271 ล้านคน ซึ่งให้สิทธิประโยชน์การรักษาพื้นฐานโดยมีระบบการคลังคล้ายกับระบบประกันสุขภาพเขตชนบท
ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนไม่แสวงกำไร
ส่วนประชาชนเขตเมืองและเขตชนบทที่ไม่สามารถจ่ายค่าเบี้ยประกันได้จะได้รับสังคมสงเคราะห์จากรัฐบาลและการบริจาคสาธารณะจากภาคเอกชน รัฐบาลพยายามกระตุ้นภาคเอกชนให้ลงทุนเพื่อสังคมมากขึ้น เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระรับบาลเพิ่มการแข่งขันและประสิทธิภาพในระบบสุขภาพ สำหรับโรงพยาบาลและคลีนิคไม่แสวงกำไรจะได้รับการลดหย่อนภาษี โดยรัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดราคาค่ารักษา นโยบายการลงทุนและนโยบายการให้การรักษาประชาชนของโรงพยาบาลเอกชนต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกับนโยบายสุขภาพรัฐและนโยบายสุขภาพรัฐบาลท้องถิ่น นอกจากนี้ระบบประกันจะเป็นตัวช่วยตรวจสอบราคา ประเมินสิทธิประโยชน์การรักษา คุณภาพการรักษา ควบคุมงบประมาณค่าใช้จ่ายโรงพยาบาลผ่านระบบการทำคู่สัญญาระหว่างโรงพยาบาลและบริษัทประกัน
เมื่อเปรียบเทียบกับระบบสุขภาพไทยแล้ว เรายังมีอาสาสมัครสุขภาพประจำหมู่บ้านกว่า 8 แสนคน ถ้าพัฒนาความรู้ความสามารถแล้วจะช่วยเหลือการเข้าถึงการรักษาของประชาชนในเขตชนบท และเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลคนไข้และผู้สูงอายุที่บ้านเพื่อรองรับสังคมสูงวัยในอนาคต นอกจากนี้ถ้าเราสามารถกระตุ้นให้เกิดโรงพยาบาลเอกชนไม่แสวงกำไรมากขึ้นเพื่อรับผิดชอบประชาชนในสังคมมากขึ้นก็อาจช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลรัฐได้เช่นกัน