ไม่พบผลการค้นหา
วิเคราะห์การเมืองผ่าน 6 คำถามนายกรัฐมนตรี คสช.ส่อปฏิบัติการล้มภารกิจตัวเอง ยื้อปลดล็อกพรรคการเมืองป่วน 2 พรรคการเมืองใหญ่ เพื่อเลื่อนเลือกตั้งถึงกลางปี 62

ถึงวันนี้ดูเหมือนเซียนการเมืองจะเริ่มมองเห็นทิศทางของ คสช.แจ่มชัดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาตั้ง 6 คำถาม หลังพรรคการเมืองกดดันปลดล็อกการเมือง คือนัยยะปูทางสร้างความพร้อมเพื่อ “อยู่ต่อ” หรือไม่ 

โดยเฉพาะเมื่ออยู่ ๆ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ออกมาบอกว่า มีกลุ่มป่วนเมืองเตรียมก่อกวน สร้างความวุ่นวาย ทั้ง ๆ ที่สถานการณ์จริงยังเงียบสงบ และอยู่ๆ ก็มีข้อเสนอปลดล็อกเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งระดับชาติ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยมีการเตรียมการด้านกฎหมายรองรับเอาไว้เลย

ทิศทางยิ่งชัดมากขึ้น เมื่อ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกมาเตือนดังๆ เหลืออีกไม่ถึง 49 วัน พรรคการเมืองต้องแจ้งเปลี่ยนสมาชิกพรรค หากไม่ทันย่อมหมายถึงการสิ้นสภาพการพรรคการเมือง โดยไม่ต้องเสนอศาลรัฐธรรมนูญตีความ ขณะที่รัฐบาลยังคือไม่มีทีท่าว่าจะปลดล็อกการเมือง

ถึงขนาดนายสมชัยบอกว่า แม้จะปลดล็อกการเมืองวันนี้ หรือ วันพรุ่งนี้ พรรคการเมืองขนาดใหญ่ก็ไม่สามารถปรับปรุงฐานข้อมูลสมาชิกพรรค ตามที่ พ.ร บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองได้ทันตามกฏหมายพรรคการเมืองที่จะครบกำหนด 90 วัน ในวันที่ 5 ม.ค. 2561 หลังบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ที่ผ่านมา

อาจจะมีเพียงพรรคการเมืองขนาดเล็กสมาชิกไม่มากทำงานทัน แต่พรรคการเมืองขนาดใหญ่ทำงานไม่ทันแน่นอน ตัวอย่างเช่นพรรคประชาธิปัตย์มีสมาชิก 2.7 ล้านคน ต้องใช้เวลามากกว่า 277 วัน หรือ 9 เดือนในการทำฐานข้อมูลสมาชิกพรรค เพื่อให้พรรคการเมืองมีเวลาหายใจ นายสมชัยเสนอให้ หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตาม ม.44 สั่งการแก้ไขผ่อนคลายในกรอบระยะเวลาและเงื่อนไขการทำกิจกรรมของพรรคเมือง

นั่นคือการสร้างซีรีย์เพื่อยื้อเลือกตั้งหรือไม่ ในประเด็นนี้ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล นักวิเคราะห์การเมือง มองว่า รัฐบาลกำลังพยายามทำให้ภารกิจของตัวเองล่มหรือไม่ หรือภารกิจที่เป็นไปตามโรดแมป แต่ไม่ให้เป็นไปตามโรดแมป หรือการล้มภารกิจตัวเอง

ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เห็นว่า การโยนโจทย์ หรือการบ้านยากๆ ให้พรรคการเมืองทำในเรื่องการทำฐานข้อมูลสมาชิกพรรค เป็นเรื่องที่กฏหมายพรรคการเมืองไม่ควรกำหนดขึ้นแต่แรก เพราะสมาชิกพรรคไม่ได้หมายถึงเจ้าของพรรค แต่คนที่เลือกพรรคการเมืองต่างหากที่จะเป็นเจ้าของพรรค การกำหนดให้ทำฐานข้อมูลสมาชิกพรรคจึงเป็นการสร้างปัญหาให้กับพรรคการเมืองขนาดใหญ่

“เป็นปัญหาที่สร้างขึ้นมาเองกันทั้งนั้น หรือจะเรียกว่า สร้างเงื่อนไขให้พรรคการเมืองต้องทำกิจกรรม ถือเป็นการบ้านที่ยากเกินไปและรู้ว่าพรรคการเมืองใหญ่ๆ จะทำการบ้านได้ไม่ครบถ้วน จึงเท่ากับไปลดความพร้อมของพรรคขนาดใหญ่”

เมื่อพรรคการเมืองมีเวลาทำการบ้านไม่เพียงพอ บวกกับรัฐบาลยังไม่มีการปลดล็อกพรรคการเมือง จึงถือเป็นการวางอุปสรรคให้กับพรรคการเมืองในการเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง 

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการเปิดทางให้กับนักร้องเรียนไปยื่นเรื่องต่อ กกต.-ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งการยุบพรรคการเมืองได้ โดยเฉพาะกับพรรคใหญ่ๆ ที่อาจไม่สามารถทำตาม พ.ร บ.พรรคการเมืองได้ในอนาคต การสร้างอุปสรรคไม่ให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่เกิดความพร้อมในการเลือกตั้ง จึงเท่ากับเป็นการตอบโจทย์ ข้อที่ 1 ของ 6 คำถามนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้มีพรรคใหม่และนักการเมืองใหม่ๆ เข้ามามีบทบาทในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ม.ล.ณัฏฐกรณ์ มองว่า คสช.ไม่จะปลดล็อกพรรคการเมืองในปีนี้แน่นอน แต่จะเลื่อนไปจนถึงกลางปี 2561 เพื่อลดเวลาทำกิจกรรมของพรรคการเมือง จนทำให้มีเหตุผลในการอ้างความไม่พร้อมของพรรคการเมืองเพื่อเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ความไม่พร้อมของพรรคการเมืองจึงเป็นเหตุผลให้เลื่อนโรดแมปเลือกตั้งจากปลายปี 2561 เพื่อยืดเวลาให้พรรคการเมืองมีความพร้อมเพื่อเตรียมสู่การเลือกตั้ง จนทำให้การเลือกตั้งอาจจะเลื่อนไปเป็นกลางปี 2562  

ขณะที่นายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท ตีความการยื้อปลดล็อกการเมืองออกเป็นหลายประเด็น แต่มีปลายทางคือความมั่นใจว่าจะสามารถอยู่ต่อในอำนาจได้หลังการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการส่งสัญญาณปลดล็อกการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือการโยนคำถาม 6 คำถาม ล้วนเป็นการเมืองของ คสช.ที่จะถ่วงเวลาในการสร้างทางเลือก เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถอยู่ในอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จที่สุด

เมื่อยังไม่มีทางเลือกที่ดีที่สุด จึงไม่ใช่เวลาการปลดล็อกการเมือง แม้จะมีเสียงเรียกร้องจากนักการเมืองอาชีพก็ตาม