นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ข้อมูล ณ วันที่ 18 ส.ค. 2561 เวลา 10.00 น. เขื่อนวชิราลงกรณมีปริมาณน้ำในเขื่อน 7,896 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือ ร้อยละ 89 ซึ่งเกินกว่าเกณฑ์การควบคุมตอนบน และมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำไม่ต่ำกว่าวันละ 100 ล้าน ลบ.ม. หลังจากได้รับผลกระทบจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแ���งและอิทธิพลของพายุโซนร้อนเบบินคา ทำให้มีฝนตกหนาแน่นบริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำตอนบนอย่างต่อเนื่อง
เขื่อนวชิราลงกรณจึงจำเป็นต้องพร่องน้ำ ตามนโยบายของศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) โดยจะระบายน้ำผ่านช่องทางปกติ วันละ 43 ล้าน ลบ.ม. และระบายผ่านทางระบายน้ำล้น (Spillway) วันละ 10 ล้าน ลบ.ม. รวมเป็นวันละ 53 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่วันที่ 23 – 27 ส.ค. 2561 ส่งผลให้ลำน้ำท้ายเขื่อนจะมีปริมาณมากขึ้น จึงขอให้ประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท้ายเขื่อนอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ กฟผ. จะติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำของเขื่อนวชิราลงกรณอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเขื่อน กฟผ. ทั่วประเทศ ซึ่งแผนการระบายน้ำและการบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามนโยบายจากกรมชลประทานและคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำแต่ละจังหวัด โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนเป็นสำคัญ และขอให้ประชาชนมั่นใจว่า เขื่อนของ กฟผ. ทุกแห่งยังคงมั่นคง แข็งแรง ปลอดภัย มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยติดตามพฤติกรรมของเขื่อนตลอดเวลา
สทนช. เร่งพร่องน้ำใน 4 เขื่อนใหญ่ หลังปริมาณน้ำเกินระดับเก็บกักสูงสุด เพื่อรองรับน้ำใหม่จากอิทธิพลเบบินคา
นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต กล่าวถึงสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงวันนี้ ว่า หลังจากพายุโซนร้อน 'เบบินคา' (BEBINCA) บริเวณประเทศลาวตอนบนเคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ แล้วอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนตกชุกหนาแน่นกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ทำให้วันนี้ไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่กับมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะ 24 จังหวัด ที่ต้องเฝ้าระวังทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก ภาคใต้
ขณะที่ สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษจากระดับน้ำเกินเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ มี 4 แห่ง จึงเร่งระบายน้ำต่อเนื่อง คือ
เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ปริมาณน้ำ 751 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 106 ของความจุอ่าง ระบายออก 22.39 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 91 เซนติเมตร และแนวโน้มปริมาณน้ำยังคงไหลเข้าอ่างเพิ่มขึ้น โดยระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 40 เซนติเมตร
เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร ปริมาณน้ำ 531 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 102 ของความจุอ่าง พบพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่ง บริเวณบ้านนาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม บ้านพอกใหญ่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี ปริมาณน้ำ 7,878 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 89 ของความจุอ่าง ยังไม่พบพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 23-27 สิงหาคม จะปรับการระบายน้ำเป็นวันละ 53 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน จากเดิมระบายอยู่ 43 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพื่อเร่งพร่องน้ำรองรับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนที่เพิ่มขึ้น
เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ปริมาณน้ำ 194 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 86 ของความจุอ่าง มีน้ำไหลผ่านทางระบายน้ำล้นสูง 49 เซนติเมตร
รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวย้ำว่า ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่หรือกลางที่มีปริมาณน้ำในอ่างเพิ่มขึ้นรวดเร็ว 2 แห่ง คือ เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฏร์ธานี มีปริมาณน้ำ 4,884 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 87 ของความจุอ่างปริมาณน้ำไหลเข้า 23.60 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ได้เร่งพร่องน้ำให้เต็มศักยภาพของลำน้ำท้ายน้ำ โดยปรับแผนการระบายน้ำเป็นวันละ 25 ล้านลูกบาศก์เมตรตั้งแต่วันนี้ เพื่อรองรับปริมาณฝนที่ตกเหนือเขื่อน และอ่างเก็บน้ำคิรีธาร จ.จันทบุรี มีปริมาณน้ำ 75 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 99 ของความจุอ่าง ระบายน้ำออก 0.66 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง