นายมุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้สั่งให้มีการสอบสวนกรณีที่กองทัพพยายามจะขัดขวางการประท้วงขับไล่นางสาวพักกึนเฮ อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ที่มีข่าวอื้อฉาวว่าใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อเอื้อให้คนใกล้ชิดทุจริต หลังจากสัปดาห์ก่อน ส.ส.พรรครัฐบาลปัจจุบันเปิดเผยเอกสารของหน่วยข่าวกรองของกองทัพเกาหลีใต้ที่ระบุว่า จะนำทหารออกมา หากผู้ประท้วงใช้ความรุนแรงในเดือนมีนาคมปี 2017 หลังศาลตัดสินชะตากรรมว่านางสาวพักจะยังนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ต่อไปได้หรือไม่
เอกสารดังกล่าวอธิบายว่ากองทัพจะรับมือกับการประท้วงจากทั้งฝ่ายสนับสนุนและต่อต้านนางสาวพักอย่างไรบ้าง แต่หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้นางสาวพักพ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้อย่างเป็นทางการ การประท้วงไม่ได้ใช้ความรุนแรงมากจนกลายเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ จึงไม่ได้นำกองทัพออกมาสลายการชุมนุม
อย่างไรก็ตาม ลิมแตฮุน นักเคลื่อนไหว ได้วิเคราะห์เอกสารฉบับนี้และพบว่า แผนการขัดขวางการประท้วงของประชาชน มุ่งเป้าไปที่ผู้ประท้วงต่อต้านนางสาวพักเป็นหลัก แม้ผู้ประท้วงหลายล้านคนนี้จะเข้าไปประท้วงอย่างแน่วแน่แต่สงบเรียบร้อยก็ตาม
แผนรับมือผู้ประท้วงของกองทัพยังรวมไปถึงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และการพิจารณาว่ากองทัพจะเลี่ยงขั้นตอนการสั่งการของกองทัพไปจากเดิมได้อย่างไรบ้าง เพื่อให้นำกองทัพออกมาขัดขวางการชุมนุมของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ลิมยังตั้งข้อสงสัยว่าผู้บัญชาการกองทัพอาจรวมตัวกันวางแผนการทำรัฐประหาร เพื่อเพิ่มอำนาจให้กับนางสาวพัก หากศาลตัดสินใจเธอกลับไปนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีได้อีกครั้ง แต่นายลิมได้แสดงความเห็นว่า ไม่มีเหตุผลใดที่กองทัพต้องเตรียมแผนการนำทหารออกมาสลายการชุมนุม และไม่มีเหตุผลให้ต้องคิดถึงการใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยซ้ำ
ด้านนายแบ็ก เฮ-รยอน ส.ส.ของพรรครัฐบาลแสดงความเห็นว่าแผนขัดขวางการประท้วงของกองทัพ “ไม่ต่างจากการรัฐประหาร” หากผู้บัญชาการกองทัพวางแผนจะใช้มาตรการรุนแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุมต่อต้านนางสาวพัก
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารหลายคนมองว่า แม้การชุมนุมจะเป็นไปอย่างสงบ แต่กองทัพมีหน้าที่เตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ที่อาจรุนแรงจนถึงจุดที่กองทัพต้องเข้าไปแทรกแซงสถานการณ์อยู่แล้ว เพื่อรักษาความสงบของบ้านเมือง โดยอดีตนายทหารชาวเกาหลีใต้กล่าวว่า เห็นได้ชัดว่าผู้จัดทำเอกสารฉบับนี้ “ติดอยู่กับอดีต” แต่ก็ถือเป็นการกล่าวหาเกินจริง หากจะมองว่าแผนรับมือการประท้วงเป็นแผนสำหรับการทำรัฐประหาร
เกาหลีใต้เคยมีการนำรถถังและทหารมายึดอำนาจของประชาชน รัฐบาลเผด็จการทหารเกาหลีใต้เคยปราบปรามประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยด้วยกระสุนจริง คุมขัง ทรมาน และประหารชีวิตผู้ที่ต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ รวมถึงนำรถถังและรถหุ้มเกราะไปประจำการตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อข่มขู่นักศึกษาที่เป็นเรี่ยวแรงของฝ่ายประชาธิปไตย แต่เมื่อรัฐบาลเผด็จการทหารเกาหลีใต้ถูกโค่นล้มไปในช่วงปี 1980 กองทัพเกาหลีใต้ก็ไม่เข้ามาแทรกแซงทางการเมืองอีก
ทั้งนี้ สำนักข่าวเอพีได้รวบรวมความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านการทหาร 5 คน และทั้งหมดมองว่า โอกาสที่จะเกิดการรัฐประหารในเกาหลีใต้ยุคศตวรรษที่ 21 มีน้อยมาก เนื่องจากสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ตในเกาหลีใต้จะทำให้คนที่คิดวางแผนรัฐประหารไม่สามารถเก็บความลับไว้ได้ การขนกองทัพเข้าไปในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นก็ทำได้ยาก และรถถังกับยานพาหนะทางทหารก็ต้องใช้เวลานานมากกว่าจะเดินทางเข้ากรุงโซลได้ และที่สำคัญที่สุดก็คือ ทหารและเจ้าหน้าที่ในกองทัพรุ่นใหม่ที่เกิดและเติบโตในช่วงที่ประชาธิปไตยเบ่งบานมีแนวโน้มว่าจะไม่ทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา หากคำสั่งนั้นไม่ใช่คำสั่งที่เคียงข้างกับประชาชนชาวเกาหลีใต้
ที่มา : AP