นาวาโทคริสโตเฟอร์ โลแกน โฆษกกระทรวงกลาโหมแห่งสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 23 พ.ค. ระบุว่ากองทัพสหรัฐฯ สั่งถอนคำเชิญกองทัพจีนให้เข้าร่วมในการฝึกซ้อมรบทางทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิก หรือ RIMPAC ซึ่งจัดขึ้นทุก 2 ปี ช่วงเดือนมิถุนายน โดยตามปกติจะมีตัวแทนทางทหารจาก 20 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม รวมถึงจีน
ซีเอ็นเอ็นรายงานว่าสาเหตุหลักที่ทำให้สหรัฐฯ ถอนคำเชิญตัวแทนจากรัฐบาลจีนเข้าร่วมฝึกซ้อม RIMPAC เพื่อตอบโต้ที่จีนเคลื่อนไหวทางทหารช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีการนำเครื่องบินทิ้งระเบิดลงจอดบนเกาะหย่งชิง หรือเกาะวู้ดดี้ หนึ่งในหมู่เกาะพาราเซล ซึ่งเชื่อมต่อกับเกาะเทียมอื่นๆ ในทะเลจีนใต้ที่จีนสร้างเอาไว้ ทั้งยังติดตั้งระบบยิงต่อต้านขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศและระบบต่อต้านเรือดำน้ำก่อนหน้านี้ไม่นาน
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แถลงว่าการขยายอิทธิพลทางทหารในน่านน้ำระหว่างประเทศของจีน เข้าข่ายละเมิดกติการะหว่างประเทศด้านความมั่นคง เพราะพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในดินแดนข้อพิพาททางทะเลระหว่างจีนและประเทศสมาชิกอาเซียน แต่นายหลูกัง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ออกแถลงการณ์ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 21 พ.ค. โดยยืนยันว่าเกาะเทียมในทะเลจีนใต้เป็นดินแดนของจีน ความเคลื่อนไหวทางทหารจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ
ขณะที่ หวังอี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของจีน ซึ่งอยู่ระหว่างเดินทางเยือนสหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.เช่นกัน ก็ได้แถลงข่าวที่กรุงวอชิงตันต่อหน้านายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ โดยชี้ว่าท่าทีของสหรัฐฯ ไม่ช่วยแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงในทะเลจีนใต้ และที่ผ่านมา สหรัฐฯ เองก็ตั้งฐานทัพทางทะเลตามจุดต่างๆ มากมายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
คาดเกาะเทียมในทะเลจีนใต้รองรับทหารได้นับพันนาย
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงข้อมูลขององค์กรเฝ้าระวังระหว่างประเทศ 'เอิร์ธไรส์ มีเดีย' ซึ่งศึกษาภาพถ่ายดาวเทียมควบคู่กับการเก็บข้อมูลความเคลื่อนไหวทางภูมิศาสตร์ทั่วโลก พบว่าเกาะเทียมที่จีนสร้างขึ้นบริเวณแนวปะการังซูบี, มิสชีฟ และไฟเออรีครอสในทะเลจีนใต้ มีสิ่งปลูกสร้างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นลานบิน อาคารที่พักอาศัย รวมถึงสนามกีฬาบาสเก็ตบอล บ่งชี้ว่าเป็นการวางระบบสาธารณูปโภคระยะยาว
แดน แฮมเมอร์ ผู้อำนวยการเอิร์ธไรส์ มีเดีย ระบุว่าสิ่งปลูกสร้างและพื้นที่สันทนาการที่เห็นจากภาพถ่ายดาวเทียมของหมู่เกาะเทียมในทะเลจีนใต้ คล้ายคลึงกับฐานบัญชาการของกองทัพประชาชนจีนที่เห็นในจีนแผ่นดินใหญ่ และคาดว่าพื้นที่บนเกาะเทียมจะรองรับทหารได้ประมาณ 1,000-2,600 นาย ขัดแย้งกับคำแถลงของรัฐบาลจีนที่ยืนยันมาตลอดว่าการสร้างเกาะเทียมมีวัตถุประสงค์เพื่อกิจกรรมของพลเรือน
ขณะที่ นิวยอร์กไทม์สรายงานว่า เกาะเทียมของจีนถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2556 โดยอ้างอิงจากข้อมูลของโครงการเพื่อความโปร่งใสทางทะเลแห่งเอเชีย (AMTI) พบว่าการพัฒนาสิ่งปลูกสร้างมีทั้งเหนือผิวน้ำและใต้น้ำ ซึ่งนอกเหนือจากสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ยังมีการวางระบบเรดาร์เพื่อการสื่อสารและลานจอดเครื่องบิน
ความเคลื่อนไหวของจีนเหล่านี้ก่อความไม่พอใจให้แก่ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม และไต้หวัน ซึ่งต่างก็อ้างสิทธิในหมู่เกาะแถบทะเลจีนใต้เช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: