คดีดังกล่าวได้รับการฟ้องร้องต่อมาร์ติเนลลี โดยคดีมุ่งเน้นไปที่การซื้อบริษัทสื่อ ซึ่งอัยการกล่าวว่ามาร์ติเนลลีเข้าซื้อด้วยเงินทุนจากสัญญาของรัฐผ่านบริษัทแนวหน้าหลายแห่ง โดยคดีดังกล่าวมีชื่อเรียกในปานามาว่าเป็นคดี “ธุรกิจใหม่” ซึ่งเป็นชื่อของบริษัทแนวหน้าด้านสื่อ ที่ถูกกล่าวหาว่ามาร์ติเนลลีใช้เงินของรัฐเข้าซื้อ
“เมื่อการเมืองผ่านเข้ามาทางประตู ความยุติธรรมก็ออกไปทางหน้าต่าง” มาร์ติเนลลีกล่าวในทวีตส่วนตัวบนทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา พร้อมประณามคดีดังกล่าว โดยมาร์ติเนลลีระบุว่าการพิจารณาคดีเป็นรูปแบบหนึ่งของการประหัตประหารทางการเมือง และทนายความของเขาบอกว่า มาร์ติเนลลีจะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาล
อัยการระบุว่า บริษัทดังกล่าวสั่งเก็บเงินประมาณ 43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1,467 ล้านบาท) ต่อบริษัทที่ได้รับสัญญาจากรัฐบาล และจากนั้นเงินเหล่านั้นได้ถูกนำไปใช้ซื้อกลุ่มบริษัทสื่อ ที่มีอำนาจควบคุมสื่อระดับชาติหลายแห่ง
เมื่อเดือนที่แล้ว มาร์ติเนลลีกลายมาเป็นผู้สมัครท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีปานามาอย่างเป็นทางการคนแรก ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั้วไปของประเทศปี 2567 หลังจากเขาได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของพรรคเรียลิซานโด เมตาส ซึ่งเป็นพรรคที่เขาก่อตั้งขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน นอกจากนี้ มาร์ติเนลลียังเคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีปานามาตั้งแต่ปี 2552 ถึง 2557
ศาลสั่งห้ามไม่ให้มาร์ติเนลลีเดินทางออกจากปานามาเนื่องจากการดำเนินคดี และก่อนหน้านี้นั้น ลูกชาย 2 คนของเขาเคยรับโทษจำคุกในสหรัฐฯ เนื่องจากมีส่วนร่วมในแผนการฟอกเงิน ลูกทั้งสองของมาร์ติเนลลียังเคยถูกพิจารณาคดีในปานามาอีกด้วย
ทั้งนี้ มาร์ติเนลลีพ่อถูกส่งตัวข้ามแดนจากสหรัฐฯ ในปี 2561 เมื่อเขาถูกกล่าวหาว่าใช้เงินสาธารณะเพื่อสอดแนมผู้สื่อข่าวและคู่แข่งทางการเมือง อย่างไรก็ดี ศาลปานามาสั่งยกคำร้องต่อมาร์ติเนลลีในปี 2564 หลังจากศาลไม่พบหลักฐานที่เพียงพอ โดยปัจจุบันนี้ มาร์ติเนลลีและลูกชายของเขาถูกสั่งห้ามเดินทางเข้าสหรัฐฯ
นอกจากนี้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (13 ก.ค.) สหรัฐฯ ยังได้ออกคำสั่งห้ามไม่ให้ ฮวน คาร์ลอส วาเรลา โรดริเกซ อดีตประธานาธิบดีปานามาอีกคน เดินทางเข้าประเทศสหรัฐฯ เนื่องจากการมีมีบทบาทใน “การคอร์รัปชันครั้งใหญ่” ขณะการดำรงตำแหน่งของเขา
“การทุจริตส่งผลให้ชาวปานามาไม่ได้รับบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล และถนนหนทางอย่างไม่ยุติธรรม ทำลายโอกาสทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของพวกเขา” แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวในเวลานั้น “หากไม่มีการแก้ไข การคอร์รัปชันจะยังบั่นทอนความเจริญรุ่งเรืองของปานามา ทำให้ประชาธิปไตยอ่อนแอลง และขัดขวางไม่ให้ (ปานามา) บรรลุศักยภาพสูงสุดของตน”
ที่มา: