ไม่พบผลการค้นหา
หลังเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้กักกัน พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. กลายเป็นกระแสข่าวทันที เมื่อถูกนำไปเชื่อมโยงกับ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ลี้ภัยทางการเมืองในต่างประเทศ ที่ประกาศกลับไทยในเดือน ก.ค.นี้ เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ต่อมา สิทธิ สุธีวงศ์รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์และโฆษกประจำกรมราชทัณฑ์ ออกมาชี้แจงประเด็นดังกล่าวว่า ระเบียบกรมราชทัณฑ์ดังกล่าว ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา เพื่อกำหนดขั้นตอนและวิธีการดูแลสวัสดิภาพของ ‘ผู้ถูกกักกัน’ ตามกฎหมาย 

มาตรา 40 , 41 และ 42 แห่งประมวลกฎหมายอาญา กำหนดให้ใช้วิธีการกักกันกับผู้ที่เคยถูกศาลยุติธรรมพิพากษาให้จำคุกหรือกักกันมาแล้ว และศาลเห็นว่า ผู้นั้นเป็นผู้กระทำความผิดติดนิสัย ซึ่งหากผู้นั้นยังมีโทษจำคุกหรือกักขังที่จะต้องรับอยู่ก็ให้จำคุกหรือกักขังเสียก่อน และให้นับวันถัดจากวันที่พ้นโทษจำคุกหรือพ้นจากการกักขังเป็นวันเริ่มกักกัน

ดังนั้น ‘การกักกัน’ จึง ‘ไม่ใช่การจำคุกนอกเรือนจำ’ แต่อย่างใด แต่เป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัยที่ศาลอาจมีคำพิพากษาเพิ่มเติมจากโทษทางอาญาที่ลงแก่จำเลย 

‘รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์’ ให้สัมภาษณ์รายการเจาะลึกทั่วไทย ออกอากาศวันที่ 9 มิ.ย. ขยายความว่าการกักกันคือวิธีการเพื่อความปลอดภัย และรองรับในการบังคับใช้ พ.ร.บ. มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 ที่ประกาศใช้เมื่อ ม.ค. 66 

กฎหมายนี้จะนำมาใช้กับกลุ่มนักโทษเด็ดขาดที่เกี่ยวกับทางเพศ และมีการใช้ความรุนแรงหลังจากพ้นโทษ เช่นคดีข่มขืน หรือ คดีฆาตกรรม ไม่เกี่ยวกับคดีทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นอำนาจของกรมราชทัณฑ์ที่จะพิจารณานำมาใช้โดยอนุโลม 

ซึ่งก่อนหน้านี้ ‘รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์’ ยังเผยว่าปัจจุบันกรมราชทัณฑ์มีผู้ถูกกักกันอยู่ในความดูแล จำนวน 57 ราย แบ่งเป็น ชาย 51 ราย หญิง 6 ราย และจากสถิติที่ผ่านมาส่วนใหญ่ผู้ถูกกักกันเป็นบุคคลไร้บ้าน ทำความผิดซ้ำในคดีลักทรัพย์เป็นหลัก


คดีแบบไหนเข้าข่ายบ้าง ?

จากประเด็นดังกล่าว ‘วิษณุ เครืองาม’ รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายรัฐบาลและรักษาการ  รมว.ยุติธรรม ชี้ว่า ในกฎหมายไทยมีโทษอยู่ 5 อย่างคือ 1.ประหารชีวิต 2.จำคุก 3.กักขัง 4.ปรับ 5.ริบทรัพย์สิน โดยการลงโทษแบบกักกันไม่ได้อยู่ในกฎหมายนี้ แต่เป็นสิ่งที่เรียกว่าวิธีการเพื่อความปลอดภัยและไม่ใช่โทษ

วิษณุ ยังย้ำว่าหลักเกณฑ์ในการเปลี่ยนให้กักขังที่บ้านมี 3 ประเภท  คือ  1. คนที่อยู่ระหว่างการสอบสวน 2. คนที่ถูกศาลสั่งจำคุกและรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 และ 3. หญิงมีครรภ์ที่ศาลสั่งประหารชีวิตแต่ยังไม่คลอด จึงต้องไปขังไปไว้ก่อน โดยจะไปขังที่บ้านหรือโรงพยาบาลก็ได้

จากข้อมูลของกระทรวงยุติธรรม พบว่า ผู้กระทำผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง เมื่อพ้นโทษแล้วจะกระทำความผิดซ้ำ ในระยะเวลา 3 ปี มากกว่า 50% จึงมีความจำเป็นต้องออกกฎหมายฉบับนี้ขึ้น

สำหรับคณะกรรมการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ประกอบไปด้วย

  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรม (ประธาน)
  • ปลัดกระทรวงยุติธรรม (รองประธาน)
  • ปลัดกระทรวงมหาดไทย
  • อธิบดีกรมการปกครอง
  • อธิบดีกรมการแพทย์
  • อธิบดีกรมราชทัณฑ์
  • อธิบดีกรมสุขภาพจิต
  • ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
  • เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
  • อัยการสูงสุด
  • กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่รัฐมนตรีแต่งตั้ง จากผู้เชี่ยวชาญและมีความรู้ความสามารถ อาทิ ด้านกฎหมาย ด้านจิตวิทยา ด้านสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น โดยมีจำนวนไม่เกิน 5 คน และมีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี และไม่สามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้เกินสองวาระได้ 

6 พื้นที่นำร่อง ‘กันกัน’ ป้องกระทำผิดซ้ำ 

โดยหลักเกณฑ์พิจารณาจะมีการประเมินว่า ผู้ต้องขังคดีฆ่าข่มขืนหรือฆาตกรรม ถ้ามีแนวโน้มที่จะออกไปกระทำผิดซ้ำก็จะขออำนาจศาลใช้คำสั่งบังคับตามาตรการกักกัน และนำไปสถานที่ที่กำหนดไว้ ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่เรือนจำ ประกอบไปด้วย

  • สถานกักกันคลองเปรม (กทม.)
  • สถานกักกันคลองไผ่ (นครราชสีมา) 
  • สถานกักกันเขาบิน (ราชบุรี)
  • สถานกักกันพิษณุโลก
  • สถานกักกันระยอง
  • สถานกักกันนครศรีธรรมราช

กฎเหล็กกักกัน ละเมิดสิทธิหรือไม่

จากเนื้อหาของระเบียบดังกล่าว มีเรื่องที่น่าสนใจคือ  ‘วิธีการกักกันและการปกครอง’ จะมีการแบ่งแยกชายและหญิง โดยนำผู้ถูกกักกันเข้าห้องในเวลา 18.00 น. และนำออกจากห้องกักกัน เวลา 06.00 น. ก่อนเข้านอนทุกคนต้องสวดมนต์ไหว้พระหรือปฏิบัติตามหลักศาสนา 

นอกจากนี้ผู้ถูกกักกันต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อบังคับ อาทิ ไม่นำของมึนเมาและผิดกฎหมายทุกชนิดเข้ามาในสถานกักกัน รวมถึงไม่กระด้างกระเดื่องขัดคำสั่งเจ้าหน้าที่

อย่างไรก็ตามในส่วน ‘วินัยผู้ถูกกักกัน’ หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงาน จะถูกลงโทษตั้งแต่การภาคทัณฑ์, ตัดการอนุญาตให้เยี่ยม 1 เดือน เว้นแต่การติดต่อทนายความ หรือแยกกักกันในสถานที่อันจำกัดไม่เกินครั้งละ 15 วัน 

‘ปกป้อง ศรีสนิท’ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยอธิบายใน the101.world ว่า มาตรา 22 ของ พ.ร.บ.มาตรการป้องกันทำผิดซ้ำคดีเพศ ระบุ ‘มาตรการเฝ้าระวัง’ นักโทษไว้ 13 ข้อ อาทิ ห้ามก่ออันตรายต่อละแวกชุมชนที่ตนอาศัย, ห้ามออกนอกประเทศเว้นแต่ศาลอนุญาต,ให้พักตามสถานที่กำหนด,ให้ใช้มาตรการทางการแพทย์ เพื่อรับการตรวจรักษาจากแพทย์ ซึ่งต้องได้รับความยินยอมจากผู้กระทำผิด, ให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวในการเฝ้าระวัง เป็นต้น

สำหรับมาตรการ ‘เฝ้าระวัง’ ภายหลังพ้นโทษทั้ง 13 ข้อนั้น ศาลสามารถกำหนดได้ไม่เกิน 10 ปี โดยมีการประเมินจากศาลทุก 6 เดือน หากพบว่าผู้พ้นโทษฝ่าฝืนมาตรการ ศาลสามารถกำหนดให้มีการคุมขังภายหลังพ้นโทษได้

ในส่วน ‘มาตรการคุมขังหลังพ้นโทษ’ หรือการกักกันนั้น ศาลสามารถออกคำสั่งได้ทันที โดยมีกำหนดคุมขังไม่เกิน 3 ปี โดยในทุกรอบ 6 เดือน ศาลจะเข้ามาตรวจสอบว่าสมควรที่จะขังนักโทษเด็ดขาดไว้ต่อไปหรือไม่

นอกจากนี้ ‘ปกป้อง’ ได้ตั้งคำถามไว้ 2 ประเด็นดังต่อไปนี้ 

1. การให้ศาลมาพิจารณานักโทษเด็ดขาดที่กำลังจะถูกปล่อยตัวอีกครั้ง ถือว่าสอดคล้องกับหลักห้ามดำเนินคดี 2 ครั้ง สำหรับการกระทำความผิดเพียงครั้งเดียวหรือไม่

คนเราเมื่อกระทำความผิดเพียงครั้งเดียว จะไม่ถูกนำขึ้นศาลเพื่อพิจารณาคดีสองครั้ง ถือเป็นหลักสิทธิมนุษยชนที่รับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14.7 การที่นักโทษเด็ดขาดที่เคยถูกศาลพิพากษาและจำคุกมาแล้วจนใกล้จะพ้นโทษ แล้วจะต้องถูกนำมาขึ้นศาลอีกครั้งในเวลาใกล้จะปล่อยตัวตามกฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ไม่ถือเป็นการขัดกับหลักการดังกล่าว 

เพราะการพิจารณาครั้งที่สองก่อนปล่อยตัวนี้ ไม่ใช่การพิจารณาการกระทำความผิดของเขาในอดีต แต่เป็นการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในอนาคตว่าเขาจะไปกระทำความผิดซ้ำอีกหรือไม่ ซึ่งควรมีมาตรการใดในการป้องกันไม่ให้เขาไปกระทำความผิดซ้ำ

2. การคุมขังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ให้ความเห็นใน General Comment หมายเลข 35 ว่า ในบางประเทศจะมีมาตรการที่เรียกว่า การคุมขังเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ การคุมขังดังกล่าวสามารถทำได้ถ้าเข้าเงื่อนไข 5 ประการคือ

1) เป็นมาตรการสุดท้าย (last resort)

2) เป็นกรณีที่ผู้กระทำได้ก่ออาชญากรรมรุนแรงและความเป็นไปได้ของผู้กระทำ ที่จะกระทำความผิดซ้ำอีกในอนาคต    

3) ต้องมีกระบวนการตรวจสอบตามกำหนดระยะเวลาโดยองค์กรอิสระ (independent body)

4) ต้องปฏิบัติกับผู้ถูกคุมขังภายหลังพ้นโทษแตกต่างจากนักโทษเด็ดขาดที่ถูกลงโทษในเรือนจำ และดำเนินการคุมขังเพื่อฟื้นฟูแก้ไขและนำผู้ถูกคุมขังกลับสู่สังคม

5) ไม่มีผลย้อนหลัง

กฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของไทยสอดคล้องกับแนวความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนใน 4 ข้อแรก คือ การคุมขังภายหลังพ้นโทษเป็นมาตรการสุดท้าย (มาตรา 28) มีความเสี่ยงไปกระทำความผิดซ้ำในอนาคต (มาตรา 28) มีการตรวจสอบการคุมขังโดยศาลทุก 6 เดือน (มาตรา 34) ปฏิบัติกับผู้ถูกคุมขังต่างจากนักโทษ (มาตรา 34 การห้ามขังในเรือนจำ)

อย่างไรก็ตาม บทเฉพาะกาลในมาตรา 43 ที่ว่า ให้นำกฎหมายนี้ไปใช้บังคับกับกรณีที่มีการปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาด ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดอยู่ก่อนวันที่พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ดูเหมือนบทเฉพาะกาลดังกล่าว จะให้เอาการคุมขังภายหลังพ้นโทษไปใช้กับการกระทำความผิดก่อนที่กฎหมายใช้บังคับได้ ซึ่งไม่น่าจะสอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน

อ้างอิง

https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/140D131S0000000000100.pdf

https://www.matichon.co.th/local/crime/news_4018471

https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230113102113631

https://www.the101.world/public-protection-from-serious-offenders/