ไม่พบผลการค้นหา
ม็อบช่วยกระตุ้นยอดขายได้บ้าง ทว่าชีวิตพ่อค้า-แม่ค้ายังลำบากสะสม ลั่น! ขอนายกฯ ลาออกเพื่ออนาคตเศรษฐกิจดีขึ้น

การชุมนุมประท้วงของกลุ่มประชาชนที่เรียกตนเองว่า 'คณะราษฏร 2563' กระจายทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด กินเวลาเกิน 1 สัปดาห์ นับตั้งแต่ 14 - 21 พ.ค.ที่ผ่านมา 

สีสันที่มาพร้อมกับขบวนผู้ชุมนุม คือเหล่ารถจักรยานยนต์พ่วงขายของที่มีสินค้าเป็นลูกชิ้นปิ้งทอดไปจนถึงสารพัดร้านค้าอำนวยความสะดวก ให้ผู้เข้าร่วมการประท้วงไม่ต้องรู้สึกหิวโหยจนเกินไป

ทว่าความโดดเด่นที่แท้จริงของพวกเขาเหล่านี้กลับเป็นความ 'ฉับไว' ของการเข้าถึงพื้นที่ชุมนุม ปาน 'ซีไอเอ' หรือ สำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ พูดง่ายๆ คือ รู้ลึก รู้ไวเหมือนเป็นสายลับ

'วอยซ์ออนไลน์' ลงพื้นที่บริเวณย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเพื่อพูดคุยกับ 'หน่วยข่าวกรอง' เหล่านี้ ก่อนพบว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พ่อค้าแม่ค้าต้องพลิกบทบาทขึ้นมาเป็น 'ผู้หยั่งรู้' สถานที่จัดการชุมนุม ไม่ได้มาจากกรุ๊ปไลน์ลับหรือเทคโนโลยีลับขั้นสูง หากเป็นแต่เพียงสัญชาตญาณการเอาตัวรอดในภาวะเศรษฐกิจถดถอยเท่านั้น 


เปิดชีวิตชาวกรุงฯ

หญิงสาวรายหนึ่งผู้เดินทางเข้าเมืองหลวง เพื่อหวังมาเก็บหอมรอมริบเล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้เธอเป็นลูกจ้างของร้านค้าแห่งหนึ่ง แต่ถูกปลดออกจากงานเนื่องจากเจ้าของไม่สามารถแบกภาระค่าใช้จ่ายในช่วงโควิด-19 ไหว ปัจจุบันจึงขายยำรถเข็นมาเป็นเวลาประมาณ 3 เดือน 

ม็อบ - อนุสาวรีย์ - ร้านค้า
  • เจ้าของร้านยำ

เธอเล่าให้ฟังว่าความลำบากของการเปลี่ยนบทบาทมาเป็นแม่ค้า คือต้องสู้กับความเสี่ยงว่าการค้าขายทุ่มเวลาและแรงกายเยอะ แต่อาจไม่ได้ผลตอบแทนตามที่คิดเอาไว้ ทำให้ที่ผ่านมาเธอยอมรับว่าต้องอยู่กับสามีในกรุงเทพฯ แบบ "อดๆ อยากๆ"

เท่านั้นยังไม่พอ ในฐานะหัวเรือใหญ่ของบ้าน ซึ่งมีอีกหลายชีวิตให้ต้องดูแลรออยู่ต่างจังหวัด เธอไม่สามารถส่งเงินกลับไปเลี้ยงดูหลายชีวิตเหล่านั้น รวมถึงลูกของเธอเองได้อย่างที่เคย

 

"เคยส่งไปบ้านเป็นหมื่น ตอนนี้เดือนละพันยังเยอะเลย"
ม็อบ - อนุสาวรีย์ - ร้านค้า
  • เจ้าของร้านลูกชิ้น

ด้านแม่ค้าลูกชิ้นปิ้งที่มาจับจองพื้นที่ใจกลางการชุมนุมกับสามีย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นอาชีพที่มาจากความพยายามหาเลี้ยงปากท้อง เนื่องจากงานอื่นๆ ไม่สามารถรองรับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ พอมีคนชวนให้มาขายลูกชิ้นจึงลองทิ้งอาชีพซักอบรีดของตนเอง และทิ้งอาชีพคนขับรถแท็กซี่ของสามีมุ่งสู่จักรยานยนต์พ่วงลูกชิ้นแทน

หญิงวัยผู้ใหญ่ซึ่งปัจจุบันมีอาการปวดหลังค่อนข้างหนักชี้ว่า อาชีพค้าขายลูกชิ้น ซึ่งทำมาเกิน 5 ปีนั้น ในช่วงแรกดูแลครอบครัวได้ค่อนข้างดี

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่มีวิกฤตโรคระบาดซึ่งทำให้รายได้ของประชาชนทั่วไปลดลง รายได้ของเธอจึงจมลงเช่นเดียวกัน แม้พยายามยืดระยะเวลาการขายออกไปก็ตาม 

"จากเคยได้ 3,000 บาท เหลือมา 2,000 บาท เดี๋ยวนี้ขายได้ 1,200-1,300 บาท ก็ยังมี ก็ต้องยอม จะให้ไปทำอะไร จะเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น ทุกอาชีพมันก็เดือดร้อนหมด จะให้เราเปลี่ยนไปทำอะไร เราก็ต้องประคับประคองชีวิตอาชีพนี้ไป"


ม็อบ - อนุสาวรีย์ - ร้านค้า
  • เจ้าของร้านไก่ทอด

ขณะที่ชายเจ้าของร้านขายไก่ทอดชี้ว่าปัจจุบันสถานการณ์ทั้งหมดนับตั้งแต่มีการรัฐประหารทำให้เขาขายไก่ได้เพียงแค่ 10 กิโลกรัม จากก่อนหน้านี้ที่เคยขายได้ราว 60-80 กิโลกรัม/วัน โดยให้เหตุผลว่าปัจจัยหลักที่ทำให้การค้าขายซบเซาเป็นเพราะกำลังซื้อของประชาชนทั่วไปที่อ่อนแรงลง 

ในประเด็นนี้เจ้าของร้านลูกชิ้นเสริมว่า "ดูก็รู้แล้ว เขาอยากกินลูกชิ้นเรา เราก็อยากขาย เขาก็ไม่ซื้อ เขาก็เดินๆ เราก็จะทำยังไง ก็เด็กมันไม่มีเงินอ่ะเนาะ จะให้เราทำยังไง"


ม็อบไม่ได้อยู่ตลอดไป

'หน่วยข่าวกรอง' ทั้ง 3 รายชี้ว่า ที่ผ่านมาการมาขายสินค้าตามที่ชุมนุมช่วยกระตุ้นยอดขายให้ได้บ้าง แต่ไม่ใช่สัดส่วนที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญขนาดนั้น ขณะที่มุมมองต่อจากนี้ แต่ละคนเห็นพร้อมกันว่า ต้องกลับไปต่อสู้ดิ้นรนอย่างที่เคยเป็นมา เพราะไม่มีทางเลือกอื่น

เจ้าของร้านไก่ทอด กล่าวว่า ตนเองคงกลับไปขายของตามจุดประจำบริเวณถนนสุขุมวิทเนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายหลายอย่างต้องรับผิดชอบ โดยเฉพาะค่าเทอมของลูก แม้ทุกวันนี้รายรับแต่ละวันแทบจะไม่เพียงพอค่าเช่าบ้านด้วยซ้ำ

ม็อบ 21 ต.ค. รถพ่อค้าแม่ค้าอนุสาวรีย์ชัย

"ผมก็ไปขายตามปกติของผมที่เดิมไปเรื่อยๆ ตามปกติ ถึงจะได้น้อยเราก็ต้องไปเพราะว่าเรามีค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายเรา ค่าบ้าน ค่าลูกเรียนหนังสือ ค่าอะไรมันแย่ไปหมดแล้ว"

ด้านแม่ค้าร้านยำซึ่งเงินที่เก็บหอมรอมริบหมดไปกับช่วงปิดเมืองที่ผ่านมา ไม่ได้มีตัวเลือกที่แตกต่างไปมากกว่าการเดินหน้าขายของในบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิต่อไป สอดคล้องกับเจ้าของร้านลูกชิ้นที่มองว่าการเอาตัวรอดที่ฉลาดสุดในเวลานี้คืออยู่แบบไม่มีหนี้สิน 


สารจาก 'ซีไอเอ'

หน่วยข่าวกรอง 3 ราย ฝากข้อความถึงรัฐบาลเพื่อให้พวกเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและไม่ต้องหวังพึ่งพิงแรงกระตุ้นยอดขาย อาทิ ในกรณีของม็อบที่ไม่ยั่งยืน ทั้ง 3 ราย เห็นพ้องกันว่าต้องการให้รัฐบาลชุดนี้ลาออก

"ถ้ารัฐบาลชุดนี้อยู่ต่อไปไม่มีอะไรดีขึ้น ดูแล้วมันไม่ดี ต่อให้พวกของเขาเป็นนายกฯ เปลี่ยน 10 คน มันก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ให้เด็กเขาเปลี่ยนประเทศดีกว่า" แม่ค้าร้านลูกชิ้น กล่าว

"อยากให้เปลี่ยน (รัฐบาล) มากกว่า" เจ้าของร้านยำ

"ช่วยลาออกไป ยุบสภาไป แค่นั้นแหละจะได้จบๆ สักที ดูอย่างประชาชนทุกวันนี้ ทุกสาขาอาชีพ ที่รวมตัวกันเพราะอะไร ก็อย่างที่เห็น" เจ้าของร้านไก่ทอด

ก่อนหน้านี้ 'วอยซ์ออนไลน์' ได้หยิบข้อมูลงานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เพื่อนำเสนอว่าการชุมนุมประท้วงไม่ได้สร้างผลเสียต่อเศรษฐกิจประเทศในระยะสั้นและระยะยาวในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับความไม่แน่นอนทางการเมืองอื่นๆ อาทิ การรัฐประหาร

ในทำนองที่ไม่แตกต่างกัน 'หน่วยข่าวกรอง' หรือพ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้ ไม่อาจมีกิจการค้าขายที่ดีขึ้นอย่างทันตาเห็นเพียงเพราะการจัดชุมนุม ตัวช่วยสำคัญในกิจการของพวกเขาคือกำลังซื้อโดยรวมของประชาชน ที่จะได้มาก็เมื่อ 'การเมืองดี' มีรัฐบาลที่รับรู้รับฟังเข้าถึงความทุกข์ร้อนของประชาชนทุกกลุ่ม และมีประสิทธิภาพบริหารจัดการเศรษฐกิจ ไม่ใช่หวังพึ่งม็อบที่เป็นแหล่งรวบรวมคนจำนวนมาก เพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: