นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า วานนี้ (25 ต.ค.61) ทางองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ได้ส่งหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยสรุปรวบรวมข้อมูล ข้อคิดเห็น และข้อเสนอที่ได้จากการจัดงานเสวนา หัวข้อ "สุวรรณภูมิ สนามบิน 1 ใน 3 ของโลก…ฝัน หรือ เป็นได้จริง ?" ซึ่งจัดเมื่อวันที่ 18 ต.ค. ที่ผ่านมา เพื่อให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา
โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเสวนา ได้แก่ พล.อ.ต. ม.ล. ประกิตติ เกษมสันต์ เลขาธิการสภาสถาปนิก, ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) , ดร.ต่อตระกูล ยมนาค ผู้แทนโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) และนายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมทั้งผู้สนใจเข้าร่วมฟังการเสวนา พร้อมกับสรุปข้อเสนอ 2 ข้อที่วิทยากร และผู้เข้าร่วมเสวนานำเสนอ ดังนี้
1.ควรมีการศึกษาและกำหนดแผนแม่บทในการปรับปรุงสนามบินสุวรรณภูมิครั้งนี้ใหม่ เพื่อให้เป็นสนามบินที่ทันสมัยและตอบสนองผลประโยชน์ของประเทศอย่างรอบด้านได้ในระยะยาว โดยเปิดให้สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฯ รวมทั้งสภาวิชาชีพด้านสถาปนิกและวิศวกรได้มีส่วนร่วมอย่างเหมาะสม หรือจ้างที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์มาช่วยให้คำแนะนำ ซึ่งกระบวนการนี้ควรทำโดยเร่งด่วน และไม่ควรใช้เวลานาน
2.บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานการบินพลเรือนแห่งชาติ และกระทรวงการคลัง ควรทำงานร่วมกันเพื่อให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ และเกิดความสำเร็จอย่างดียิ่งต่อไป
ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวลงนามโดยนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
'สามารถ' โพสต์เฟซบุ๊กโต้ รมช.คมนาคม ยืนยันเทอร์มินัล 2 ทำผิดแผนแม่บท
นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส. ประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก วันนี้ (26 ต.ค.) ระบุว่า ปมเทอร์มินัล 2 ถ้าคนหน้างานรู้ดีที่สุดแล้วจะมี รมต.ไว้ทำไม? ซึ่งเป็นการข้อถกเถียงกับคำให้สัมภาษณ์ของนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ใน 6 ประเด็น ได้แก่ 1) กรณีรมช. ระบุว่า คนที่อยู่หน้างานรู้ดีที่สุดนั้น ซึ่งนายสามารถเห็นว่า คนที่เป็นรัฐมนตรีจะต้องรู้ไม่น้อยกว่าคนที่อยู่หน้างาน และจะต้องเข้าใจงานที่ตนกำกับดูแลอย่างถ่องแท้ มิฉะนั้นจะถูกหลอกได้ ถ้ารัฐมนตรีเชื่อถือคนที่อยู่หน้างานแบบเต็มร้อย แล้วจะมีรัฐมนตรีไว้ทำไม
2) รมช.ไพรินทร์ฯ ไม่ควรตั้งข้อสงสัยผู้คัดค้านการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิ��แผนแม่บท โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้แทนจาก 12 องค์กร ว่าเป็นเพราะได้ทราบชื่อผู้ชนะการประกวดแบบแล้วจึงคัดค้าน ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย แต่สิ่งที่ต้องสนใจคือการสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บท ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหามากมาย
3) แผนแม่บทฉบับแรกถูกจัดทำในปี พ.ศ.2536 หรือเป็นเวลา 25 ปีแล้ว ซึ่งตนได้ร่วมจัดทำด้วยในฐานะวิศวกรของบริษัท หลุยส์ เบอร์เจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ ยังคงมีความทันสมัยเพราะมีการวางแผนกันมาอย่างรอบคอบ หาก ทอท.ก่อสร้างเทอร์มินัล 2 บนตำแหน่งตามแผนแม่บทซึ่งอยู่ด้านทิศใต้ของเทอร์มินัล 1 บนฝั่งถนนบางนา-ตราด จะทำให้เกิดความสมดุลในการใช้สนามบินทุกทิศทาง แต่ถ้า ทอท.ก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเทอร์มินัล 1 ซึ่งผิดแผนแม่บท นอกจากจะทำให้เกิดความไม่สมดุลในการใช้สนามบินแล้ว ยังจะทำให้ผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวกอีกด้วย เพราะต้องใช้รถไฟฟ้าไร้คนขับหรือเอพีเอ็มถึง 2 สาย ทั้งสายลอยฟ้าและสายใต้ดิน และที่สำคัญ จะไม่สามารถทำให้สนามบินสุวรรณภูมิมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 30 ล้านคนต่อปีตามที่ ทอท.คุยไว้อย่างแน่นอน
4) แม้ในสมัยนั้นยังไม่มีเครื่องบินขนาดใหญ่ดังเช่น A380 ก็ตาม แต่แผนแม่บทได้เตรียมพื้นที่ที่สำหรับสร้างหลุมจอดสำหรับเครื่องบินขนาดใหญ่ไว้แล้ว โดย ทอท.สามารถเลือกสร้างหลุมจอดสำหรับเครื่องบินขนาดใหญ่ได้รอบอาคารเทียบเครื่องบินรอง (Satellite Terminal) ด้วยเหตุนี้ แผนแม่บทดังกล่าวจึงยังคงใช้งานได้อย่างดี ไม่ล้าสมัยไปตามกาลเวลา
5) สมัยนั้นมีแนวคิดที่ใช้สนามบินดอนเมืองควบคู่กับสนามบินสุวรรณภูมิอยู่แล้ว กล่าวได้ว่ารัฐบาลในขณะนั้นใช้นโยบาย 2 สนามบิน (Dual Airports) ไม่ใช่ 1 สนามบิน (Single Airport) ซึ่งสอดคล้องกับรัฐบาลในปัจจุบันที่ใช้นโยบาย 2 สนามบิน และกำลังจะเปลี่ยนเป็น 3 สนามบิน (Triple Airports)โดยมีสนามบินอู่ตะเภามาร่วมด้วย และทั้งสามสนามบินจะถูกเชื่อมโยงด้วยรถไฟความเร็วสูง จึงไม่มีความจำเป็นที่ ทอท.จะต้องก่อสร้างเทอร์มินัลถึง 3 เทอร์มินัล แค่ 2 เทอร์มินัล ก็เพียงพอแล้ว เนื่องจากผู้โดยสารจะกระจัดกระจาย ไม่กระจุกอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิเท่านั้น
6) แม้ในปัจจุบันมีสายการบินต้นทุนต่ำก็ตาม แต่สายการบินเหล่านี้ส่วนใหญ่ให้บริการที่สนามบินดอนเมือง จึงไม่มีความจำเป็นที่ ทอท.จะต้องก่อสร้างเทอร์มินัลเพิ่มขึ้นในสนามบินสุวรรณภูมิจาก 2 เทอร์มินัล ตามแผนแม่บท เป็น 3 เทอร์มินัล ตามแนวคิดของ ทอท.
พร้อมกับให้ข้อสังเกตว่า ทำไม ทอท.จึงไม่ขยายเทอร์มินัล 1 ออกไปทั้งทางด้านตะวันออกและด้านตะวันตกแทนการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บท ทั้งๆ ที่การขยายเทอร์มินัล 1 มีข้อได้เปรียบดังนี้
1. ใช้เงินน้อยกว่าประมาณ 32,000 ล้านบาท กล่าวคือการขยายเทอร์มินัล 1 จะใช้เงินประมาณ 10,000 ล้านบาท ในขณะที่การก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บทจะใช้เงินประมาณ 42,000 ล้านบาท
2. ใช้เวลาน้อยกว่า เพราะออกแบบเสร็จแล้วพร้อมที่จะก่อสร้าง ผ่านการพิจารณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอแล้ว และที่สำคัญ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็อนุมัติแล้ว ในขณะที่เทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บทยังไม่ได้ออกแบบ ยังไม่ผ่านอีไอเอ และครม.ยังไม่ได้อนุมัติ กล่าวโดยสรุป การขยายเทอร์มินัล 1 จะใช้เวลาไม่เกิน 1 ปีครึ่งเท่านั้น แต่การก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บทจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี
3. การขยายเทอร์มินัล 1 จะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 30 ล้านคนต่อปีแน่นอน แต่การก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บท โดยมีหลุมจอดประชิดอาคารเพียง 14 หลุม จะไม่สามารถทำให้สนามบินสุวรรณภูมิมีความจุเพิ่มขึ้น 30 ล้านคนต่อปีได้อย่างแน่นอน ผมแนะนำให้ รมช.ไพรินทร์ฯ ถามหารายการคำนวณจาก ทอท.ที่แสดงให้เห็นว่าหลุมจอดประชิดอาคาร 14 หลุม จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 30 ล้านคนต่อปี ได้จริงหรือ แล้วเปิดเผยให้สาธารณชนรับรู้
ดังนั้น จึงต้องการให้ รมช.ไพรินทร์ฯ ได้ตระหนักว่า ในกรณีที่ ทอท.ต้องการเดินหน้าก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บท จะก่อให้เกิดความเสียหายมากมาย กล่าวคือด้านหน้าเทอร์มินัล 2 รถจะติดขัดอย่างหนัก เนื่องจากมีพื้นที่เหลือหน้าเทอร์มินัล 2 น้อย ยากที่จะแก้ปัญหาจราจร ด้านหลังจะมีเครื่องบินติด เพราะมีพื้นที่เหลือน้อยเช่นเดียวกัน
อีกทั้งยังมีบางคนชอบอ้างว่าจะต้องเร่งก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บทเพราะ ทอท.ล่าช้ามานานแล้ว จะทำให้เตรียมการไม่ทันที่จะรองรับผู้โดยสารซึ่งเพิ่มขึ้นทุกปี คำกล่าวอ้างนี้ไม่เป็นความจริง เนื่องจากการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บทจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี ในขณะที่การขยายเทอร์มินัล 1 จะใช้เวลาไม่เกิน 1 ปีครึ่งเท่านั้น
พร้อมกับสรุปไว้ว่า การก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บทจะมีประโยชน์เพียงแค่ช่วยลดความแออัดของผู้โดยสารที่เทอร์มินัล 1 เท่านั้น แต่ไม่ช่วยทำให้สนามบินสุวรรณภูมิมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีหลุมจอดเท่าเดิม อีกทั้งจะก่อให้เกิดปัญหามากมาย แล้วมันคุ้มกันหรือที่จะต้องใช้เงินถึง 42,000 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :