นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีนี้เห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้นทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยว กระจายตัวหลายอุตสาหกรรม ทั้งผู้ประกอบการขนาดใหญ่ขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ยังต้องติดตามตัวเลขการนำเข้า แม้ว่าขณะนี้ การนำเข้าจะขยายตัวดีขึ้น มีการนำเข้าวัตถุดิบ เพื่อการผลิตขั้นกลางมากขึ้น รวมทั้งการนำเข้าสินค้าทุน เครื่องจักร ซึ่งสะท้อนว่าการส่งออกและการผลิตขยายตัวดี
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจบางกลุ่ม ยังคงเปราะบาง เช่น เศรษฐกิจชุมชน ซึ่งยังต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง แต่รัฐบาล ก็ได้ให้ความสำคัญในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจชุมชน โดยมีการจัดสรรงบกลางปี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนและฐานรากในหลายโครงการ รวมทั้งมีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณสู่ท้องถิ่น
ส่วนภาวะหนี้ครัวเรือน แม้สัดส่วนหนี้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 77.50 จากสิ้นปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 79 แต่หนี้ครัวเรือนเกษตรกร และผู้มีรายได้น้อยยังอยู่ในระดับสูง ต้องเผชิญปัจจัยลบหลายด้าน เช่น ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ภัยแล้ง ซึ่งแม้ว่าหนี้ครัวเรือนกลุ่มนี้จะไม่ใช่ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจมหภาค แต่มีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายพื้นที่
สำหรับการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นนั้น ยืนยันว่า ไม่กระทบต่อตลาดการเงินไทย เพราะปัจจุบันสภาพคล่องในประเทศและธนาคารพาณิชย์ยังอยู่ในระดับสูง จึงไม่ใช่สิ่งที่กังวลมากนัก
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ได้เตือนนักลงทุน หรือ ผู้กู้เงินต่างประเทศ ต้องระวังต้นทุนทางการเงินที่ปรับเพิ่มขึ้นจากภาวะดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
"เงินทุนต่างชาติที่ไหลออกจากตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตรนั้น ไม่ได้อยู่ในระดับที่น่ากังวล เพราะเป็นการปรับเปลี่ยนตามความเสี่ยง ส่วนอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ แม้จะเห็นการปรับขึ้นบ้าง แต่ยังต่ำกว่าช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่รับรู้อยู่แล้ว" นายวิรไท
หารือ รอง ผบ.ตร. ห่วงประชาชนถูกฉ้อโกง-เข้าวงจรแชร์ลูกโซ่จากคริปโตเคอร์เรนซี
อีกทั้งในวันนี้ (27 เม.ย.) ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ยังมีการหารือนอกรอบกับ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยนายวิรไทระบุว่า เป็นการหารือปกติถึงความห่วงใยประชาชนที่อาจขาดความรู้ หรือรู้ไม่ทันกลโกง อาจตกเป็นเหยื่อการฉ้อโกงโดยอ้างการลงทุนคริปโตเคอร์เรนซี (เงินดิจิทัล) ว่าจะให้ผลตอบแทนสูง ไม่ขาดทุน คล้ายกับการเล่นแชร์ลูกโซ่ ซึ่งไม่ต้องการให้ประชาชนหลงเชื่อและเข้าไปลงทุนตามจนได้รับความเสียหาย
"ธปท.กังวลกรณีมีการหลอกลวงประชาชน โดยอ้างการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซีว่าให้ผลตอบแทนสูงคล้ายกับแชร์ลูกโซ่ ดังนั้น ต้องเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ" นายวิรไท กล่าว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา 4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง ธปท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้มีการหารือ แลกเปลี่ยนข้อมูล และทบทวนพัฒนาการการลงทุนในเงินดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง ส่วนจะมีการออกมาตรการ หรือกฎหมายมาควบคุมการซื้อขายเงินดิจิทัลเพิ่มหรือไม่ ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะขณะนี้ 4 หน่วยงานจะต้องหารือและติดตามกันต่อไป
จับมือ ก.แรงงาน-ประกันสังคม ทำฐานข้อมูล 'แรงงาน'
นอกจากนี้ ในวันนี้ ธปท. ยังมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและข้อมูลระหว่างกระทรวงแรงงาน โดยนายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน และนายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กับ ธปท. โดยมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน เป็นประธานในพิธี เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน รวมทั้งส่งเสริมการใช้ข้อมูลด้านแรงงาน และประกันสังคมให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการสร้างความเข้าใจภาวะและพลวัตการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของตลาดแรงงานทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์และการกำหนดนโยบาย ด้านแรงงานให้ตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจและแรงงานได้อย่างดีที่สุด
โดยความร่วมมือด้านข้อมูลที่ดำเนินการภายใต้ข้อตกลงฯ นี้ จะเป็นข้อมูลเชิงสถิติ จัดทำให้อยู่ในรูปแบบที่ไม่เปิดเผยให้รู้ถึงตัวบุคคล เพื่อเป็นการรักษาความลับของข้อมูลส่วนบุคคลไว้อย่างเคร่งครัด บันทึกข้อตกลงฯ ข้างต้น มีข้อกำหนดในการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณชนในเชิงสถิติ หรือ เชิงวิชาการ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของสื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือโดยวิธีใด ๆ โดยกระทรวงแรงงาน และ ธปท.จะเผยแพร่ข้อมูลในภาพรวมเพื่อประโยชน์ทางด้านวิชาการเท่านั้น และเก็บรักษาข้อมูลที่ได้รับเป็นความลับ
เพิ่มวงเงินออกพันธบัตร ธปท. ระยะสั้น หลัง 'เงินร้อน' ชะลอตัว
ด้านนางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า นับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2560 ธปท. ได้ทยอยปรับลดการออกพันธบัตร ธปท. ระยะสั้น เพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท โดยการลดแรงจูงใจและลดช่องทางในการเข้ามาพักเงินของนักลงทุนต่างชาติ
อย่างไรก็ดี ภาวะตลาดการเงินโลกในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางประเทศหลักและความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความน่าสนใจในพันธบัตรระยะสั้นไทยของนักลงทุนต่างชาติปรับลดลงบ้างในระยะหลัง
โดยปริมาณพันธบัตรภาครัฐระยะสั้นที่ค่อนข้างจำกัดทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ซึ่งอาจกระทบต่อช่องทางการออมและส่งผลต่อพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนของนักลงทุนในประเทศ รวมทั้งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงอื่นในตลาดการเงินในบางช่วง
ธปท. จึงทบทวนสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปดังกล่าวแล้วเห็นว่าเหมาะสมที่จะพิจารณาผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว โดยจะเริ่มปรับเพิ่มวงเงินประมูลพันธบัตร ธปท. ระยะ 3 เดือน และ 6 เดือน ในเดือน พ.ค. 2561 ทั้งนี้ การกำหนดวงเงินประมูลจะคำนึงถึงภาวะตลาดสภาพคล่อง และความต้องการลงทุนพันธบัตรของนักลงทุนในประเทศ รวมทั้งปริมาณพันธบัตรระยะสั้นของภาครัฐโดยรวม เพื่อให้การปรับตัวของตลาดเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ส่วนการปรับเพิ่มวงเงินพันธบัตร ธปท. ครั้งนี้ไม่ได้เป็นการส่งสัญญาณหรือสะท้อนมุมมองนโยบายการเงินของ กนง. แต่อย่างใด ขณะเดียวกัน ธปท. จะยังคงติดตามภาวะอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด และตรวจสอบธุรกรรมเงินตราต่างประเทศที่อาจเอื้อให้เกิดการเก็งกำไรค่าเงินบาท รวมทั้งพร้อมที่จะทบทวนมาตรการดูแลที่มีอยู่ หากสถานการณ์เปลี่ยนไปและมีความจำเป็น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดเฟดคงดอกเบี้ย ประชุม 1-2 พ.ค.
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกรายงานการประเมินผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันที่ 1-2 พ.ค.นี้ โดยคาดว่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับร้อยละ 1.50-1.75 ในการประชุมรอบ 3 ของปีนี้
ทั้งนี้ เฟดน่าจะยังรอประเมินพัฒนาการเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมทั้งพัฒนาการประเด็นความเสี่ยงด้านการค้าที่น่าจะมีความชัดเจนในช่วงปลายเดือน พ.ค. นี้ ก่อนที่จะมีการส่งสัญญาณถึงทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะต่อไป
ขณะที่ พัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งอาจจะเปิดโอกาสให้เฟดสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 3 ครั้งในปีนี้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวน่าจะส่งผลให้มีเงินทุนไหลออกจากไทย และช่วยให้ค่าเงินบาททยอยปรับอ่อนค่าลง ขณะที่ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประกาศแผนการบริหารหนี้สาธารณะของกร��ทรวงการคลังสหรัฐฯ ในวันที่ 2 พ.ค. 2561 ที่อาจเป็นปัจจัยกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลให้มีโอกาสปรับสูงขึ้นได้