(12 ธ.ค.60) เวลา 10.00 น. พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ในพิธีบวงสรวงเสาชิงช้า โดยมี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ บริเวณวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
จากนั้นในเวลา 13.00 น. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เดินทางมายังโบสถ์พราหมณ์เพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเป็นประธานในพิธีบวงสรวงเสาชิงช้า โดยมี พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ วิบูลย์เวทย์บรมหงส์พรมพงศ์ พฤฒาจาริย์ ประกอบพิธี ร้อยตำรวจเอกเกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภากรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร่วมพิธี ณ บริเวณเสาชิงช้า
เสาชิงช้ากำหนดสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 8 เม.ย. พ.ศ.2327 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพื่อประกอบการโล้ชิงช้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวาย อันเป็นพระราชพิธีสำคัญพระราชพิธีหนึ่งในพระราชพิธี 12 เดือนที่ปฏิบัติสืบเนื่องมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยจะจัดขึ้นประมาณเดือนธ.ค. ถึงต้นเดือนม.ค. ในเวลาเช้า ขึ้น 7 ค่ำ และเวลาเย็น ขึ้น 9 ค่ำ เดือนยี่ พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นประธานในพิธี เรียกว่า พระยายืนชิงช้า
และให้บริวารพราหมณ์ที่แข็งแรงขึ้นโล้ชิงช้า พิธีนี้ปฏิบัติสืบเนื่องมาจนถึงสมัยต้นรัชกาลที่ 8 จึงได้ยกเลิกไป ถึงแม้ว่าจะได้ยกเลิกการโล้ชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวายไปแล้ว แต่เสาชิงช้ายังเป็นโบราณสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 66 ตอนที่ 64 วันที่ 22 พ.ย. พ.ศ.2492
เวลาต่อมาเสาชิงช้าได้เกิดความชำรุดเสียหายจึงได้มีการซ่อมแซมบูรณะเปลี่ยนไม้เสาชิงช้ามาหลายครั้ง ในพ.ศ.2547 ไม้เสาชิงช้ามีความชำรุดผุในเนื้อไม้ทุกส่วนจนไม่อาจบูรณะซ่อมแซมได้ กรุงเทพมหานครจึงได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์เสาชิงช้าขึ้นใหม่ โดยความเห็นชอบจากกรมศิลปากรและได้รับความร่วมมือจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ใช้ไม้สักทองจากอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ มาใช้ในการทำไม้เสาชิงช้า
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงพระสุหร่ายเหนือแท่นจารึกเสาชิงช้า เมื่อวันพุธที่ 12 ก.ย. 2550 ขณะที่ปัจจุบันสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร ตรวจพบความเสียหายบริเวณเสาชิงช้าและพื้นที่โดยรอบ จึงขอจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการซ่อมแซมงานสถาปัตยกรรม ให้อยู่ในสภาพที่ดี เพื่อให้เสาชิงช้ามีความสง่างาม ยับยั้งการชำรุดเสื่อมสภาพ ยืดอายุให้ยืนยาว และคงไว้ซึ่งคุณค่ามรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาติต่อไป
สำหรับรายละเอียดการปรับปรุง ประกอบด้วย งานปูน ได้แก่ การทำความสะอาดพื้นผิวบริเวณที่พองร่อน และเสื่อมสภาพ มีเชื้อราและตะไคร่น้ำ ทาน้ำยาฆ่าเชื้อราชนิดพิเศษ ฉาบปรับแต่งพื้นผิวที่เป็นรอยแตกร้าวลายงา ทาน้ำยากันความชื้น งานผิวโลหะเหล็ก ได้แก่ ซ่อมสีฟิล์มที่เสียหาย ขจัดคราบสนิม พ่นสีกันสนิม งานผิวไม้ ได้แก่ ทาสีรองพื้นไม้กันเชื้อรา ทาน้ำยารักษาเนื้อไม้ ทาสี งานปูกระเบื้องดินเผาฐานเสาชิงช้า งานปูกระเบื้องดินเผาพื้น งานคันหิน งานไฟ LED UPLIGHT งานไฟ LED SPOT Light ทั้งนี้มีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนมี.ค.61
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เสาชิงช้า นับเป็นสถานที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร และมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่การบูรณะซ่อมแซมตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา เสาชิงช้าซึ่งต้องตั้งอยู่กลางแดด โดยฝนและลมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เนื้อสีมีความหลุดร่อน ขาดความสวยงาม กรุงเทพมหานครจึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเพื่อดำเนินการปรับปรุง รวมทั้งหารือกับกรมศิลปากรในส่วนรายละเอียดต่างๆด้วย สำหรับงบประมาณในการปรับปรุงครั้งนี้ ประมาณ 2 ล้านบาท และกำหนดระยะเวลาดำเนินการ 150 วัน