นักวิชาการ เจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชน ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเวทีเสวนา "Open Data เพื่อการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลของภาคพลเมือง" ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์การเรียนรู้ TK Park เมื่อวานนี้ (3 มี.ค.) โดยมีการพูดคุยถึงการจัดการข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐในด้านต่างๆ ว่าควรจะเปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างแพร่หลาย เพื่อที่จะได้ร่วมกันตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวให้เกิดความโปร่งใสในทุกขั้นตอน
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเข้าร่วมในวงเสวนา ระบุว่า ทัศนคติของข้าราชการ จะไม่มีการเก็บข้อมูลเป็น Data แต่จะเก็บเป็นรูปภาพ เช่น ไฟล์ PDF เพราะไม่อยากจะเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะมากนัก หากจะขอข้อมูลก็จะต้องขอในรูปแบบลายลักษณ์อักษร ทำให้มีข้อจำกัดในการเข้าถึง พร้อมยกตัวอย่างว่า กกต.เองก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลในเว็บไซด์ กกต.ด้วยเช่นกัน
นายสมชัยระบุว่า ที่ผ่านมา มีการจัดการข้อมูลต่างๆ ทั้งสถิติการเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. และการจัดทำประชามติ แต่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเชิงลึกหรือรวบรวมคดีความที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตการเลือกตั้ง ซึ่งในอนาคต ควรจะต้องเพิ่มเติมข้อมูลในเรื่องนี้
ขณะที่นายธิปไตย แสละวงศ์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า หน่วยงานภาครัฐที่มีการเปิดเผยข้อมูล หรือ Open Data ที่ดีที่สุดในประเทศไทย คือ กรมบัญชีกลาง และมีผลการศึกษาบ่งชี้ว่า หน่วยงานที่มีการก่อสร้างมากที่สุดจะพบปัญหาเรื่องการทุจริตมากที่สุด เช่น บางจังหวัดมีการผูกขาดผู้รับเหมารายเดียว ส่วนข้อมูลที่เปิดเผยยากมากที่สุดก็คือหน่วยงานที่เกี่ยวกับเรื่องข้อมูลที่ดิน เนื่องจากมีรายละเอียดมาก และข้อมูลบางอย่างเป็นความลับทางราชการ
ส่วนเหตุผลหลักที่ภาครัฐไม่ค่อยเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ให้ประชาชนได้รับทราบ เพราะมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญและมีต้นทุนสูง
นอกจากนี้ นายสติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการสำนักวิจัยและพัฒนาสถาบันพระปกเกล้า แนะนำว่าภาครัฐควรจัดทำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาลโดยเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในวงกว้าง มีการแสดงความคิดเห็น เพื่อมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ รวมถึงตรวจสอบเรื่องของงบประมาณ ตลอดจนประโยชน์หรือผลเสียที่ประชาชนจะได้รับจากนโยบายแต่ละอย่าง
นายสติธรระบุว่า ในสมัยนี้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการข้อมูลในเชิงดิบมากกว่าข้อมูลที่มีการสรุป เพราะต้องการคิดวิเคราะห์ด้วยตัวเอง เช่น ข้อมูลนาฬิกาหรูของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ที่ถูกถ่ายภาพและนำไปเผยแพร่ลงในโซเชียลมีเดีย ทำให้มีการหาข้อมูลนาฬิกาเพิ่มเติม ทั้งยี่ห้อและราคา ทำให้เห็นว่าประชาชนไม่ได้รอให้ภาครัฐเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว แต่พร้อมที่จะสืบค้นด้วยตัวเอง
อ่านเพิ่มเติม: