“4 ปีที่ผ่านมาคือภาวะตกต่ำของภาคประชาชน” บารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงาน ‘สมัชชาคนจน’ เป็นผู้เข้าร่วมการประชุมเครือข่ายชาวนา ชาวไร่ ชาวประมง คนจน และแรงงานทั่วโลก ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ช่วงวันที่ 10-13 ต.ค. ภายใต้หัวข้อ World Beyond Banks ซึ่งจัดขึ้นคู่ขนานกับการประชุมของธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่บาหลี และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็เดินทางมาร่วมพูดคุยกับผู้นำกลุ่มประเทศอาเซียนช่วงนี้เช่นกัน
บารมีเปิดเผยกับ ‘วอยซ์ออนไลน์’ ว่า ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา มีการเคลื่อนไหวของเครือข่ายภาคประชาชนในประเทศไทย เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและการมีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงที่ดินทำกิน ซึ่งสมัชชาคนจนได้ก่อตั้งขึ้นในปีดังกล่าว ทั้งยังเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้นเพื่อต่อต้านโครงการ ‘เขื่อนปากมูล’ หลังจากนั้นรัฐบาลไทยได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่รับรองสิทธิและการมีส่วนร่วมของประชาชนในหลายด้าน
การเคลื่อนไหวในประเด็นที่ดินทำกินและการจัดการทรัพยากร ทำให้สมัชชาคนจนเข้าร่วมเป็นสมาชิกของขบวนการชาวนาโลก La Via Campesina ซึ่งก่อตั้งขึ้นที่เบลเยียม และมีเครือข่ายสมาชิกทั่วโลกกว่า 81 ประเทศ โดยร่วมมือกันขับเคลื่อนการตรวจสอบและต่อต้านนโยบายรัฐบาลที่ไม่เป็นธรรมในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับอธิปไตยทางอาหาร การปฏิรูปการเกษตร และความหลากหลายทางชีวภาพ
“ตั้งแต่ปี 2538 จนถึงช่วงรัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งรองรับสิทธิของชาวบ้าน ทำให้ทางราชการต้องปรับตัว ช่วงหลังจากปี 40 ปัญหาของชาวบ้านได้รับการแก้ไขหลายเรื่อง ยกเว้นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระดับนโยบาย เช่น เขื่อน พลังงาน และป่าที่อยู่ในเขตอนุรักษ์ แต่ก็ถือว่ายังโอเค เพราะยังอยู่กันได้ แต่หลังจากรัฐประหารปี 2549 เกิดความขัดแย้งทางการเมือง ประเด็นความเดือดร้อนชาวบ้านก็เลยกลายเป็นเรื่องรองไป”
“จนกระทั่งยุค คสช. สิ่งที่ทำมาทั้งหมดถูกทำลายโดย คสช. ไปหมดเลย การดึงอำนาจทั้งหมดไปอยู่กับ คสช. โดยเฉพาะมาตรา 44 เพื่อออกมาตรการทวงคืนผืนป่า การยกเลิก EIA บางโครงการ เขตเศรษฐกิจพิเศษ เรียกว่าชัยชนะที่เคยสะสมมาถูกทำลายไปหมดเลย ต้องกลับไปตั้งต้นใหม่ เพราะมันกลายเป็นยุคที่ข้าราชการกลับมาอยู่เหนือชาวบ้านอีกครั้ง การรับฟังชาวบ้านไม่มี แต่มีการอ้างอำนาจ คสช. ข่มขู่ชาวบ้านมากขึ้น ห้ามชุมนุม”
เงื่อนไข ‘องค์กรโลกบาล’ เดือดร้อนเกษตรกรไทย
สมาชิกเครือข่ายชาวนาชาวไร่ ชาวประมง คนจนและแรงงานจากหลายประเทศ ระบุตรงกันว่า โครงการพัฒนาของรัฐบาลในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ ซึ่งเป็นองค์กร ‘โลกบาล’ หรือองค์กรระหว่างประเทศที่เครือข่ายขบวนการชาวนาโลกอย่าง ‘ลาเวียคัมเปซินา’ มองว่าเป็น ‘ศัตรู’
แม้ว่าองค์กรทั้งสองแห่งจะมีเป้าหมายหลักเพื่อการพัฒนา ส่งเสริมการค้า และการลงทุน แต่รัฐบาลหลายประเทศที่กู้เงินหรือได้รับการสนับสนุนอื่นๆ จากองค์กรเหล่านี้ต่างมุ่งเน้นการพัฒนาเชิงวัตถุและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สามารถเปลี่ยนทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นสินค้าและแสวงหาผลกำไรได้ แต่สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อประชาชนในหลายประเทศและหลายภูมิภาค ขณะที่องค์กรเหล่านี้ได้รับ ‘ยกเว้นโทษ’ ด้วยเงื่อนไขในข้อตกลงระหว่างประเทศที่รัฐบาลของตนไปลงนามเอาไว้
กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเกี่ยวข้องกับ ‘องค์การการค้าโลก’ (WTO) ซึ่งเปิดช่องให้รัฐบาลบราซิลฟ้องรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนนำไปสู่การใช้อำนาจพิเศษที่ย้อนแย้งและส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกร โดยบารมีระบุว่า ‘บราซิล’ ฟ้องว่ารัฐบาลไทย ‘อุดหนุนชาวไร่อ้อย’ จึงขัดต่อเงื่อนไขของ WTO ที่ห้ามรัฐบาลประเทศสมาชิกอุดหนุน ‘เกษตรกร’ ในประเทศ
แม้ชาวไร่อ้อยของไทยจะมี พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลคุ้มครองอยู่แล้ว แต่รัฐบาล คสช.กลับยกเลิกการอุดหนุนเกษตรกรตามที่บราซิลฟ้องร้อง โดยใช้อำนาจ คสช. ตามมาตรา 44 ดำเนินการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐบาลบราซิล ซึ่งบารมีมองว่า เป็นเพราะรัฐบาลทหารอยากได้การยอมรับจากต่างชาติ จึงยอมทำตามข้อเรียกร้องของบราซิล และการทบทวนยกเลิกการอุดหนุนเกษตรกรไร่อ้อยก็ขัดแย้งกับนโยบายของ คสช. เมื่อปี 2558 ซึ่งเป็นช่วงที่ข้าวราคาตก และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ประกาศส่งเสริมให้พื้นที่ทางภาคเหนือตอนล่างเป็นพื้นที่หยุดทำนาและทำไร่อ้อยแทน โดยรัฐบาลจะอุดหนุนเงินตลอด 3 ปี ปีละ 3,000 บาท
“ทั้งๆ ที่บราซิลเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ และไทยเป็นรายที่สอง ปริมาณน้ำตาลที่ไทยส่งออกไม่เท่าเศษเสี้ยวอะไรของบราซิลเลย ก็ไม่รู้เหตุผลของบราซิลว่าทำไมต้องฟ้อง และแทนที่รัฐบาลไทยจะสู้เพราะมีกฎหมาย มี พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลอยู่แล้ว ก็ไปยอมเขา ยอมแก้ไขกฎหมาย ยกเลิกการอุดหนุนเกษตรกร ซึ่งร่างกฎหมายยังอยู่ในสภาอยู่เลย แต่ คสช.ก็ประกาศมาตรา 44 ทั้งๆ ที่สองปีก่อนตอนที่ราคาข้าวตก รัฐบาลประยุทธ์เองเป็นคนที่ส่งเสริมให้พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง แถบนครสวรรค์กับพิจิตร ที่เป็นพื้นที่นา ให้หยุดทำนา แล้วทำไร่อ้อยแทน”
“คสช.เป็นคนส่งเสริมให้คนมาทำไร่อ้อยเอง แล้วก็เป็นคนยกเลิกเอง เท่ากับเป็นการหลอกลวงชาวไร่อ้อยโดยที่ไม่รู้สึกรู้สาอะไรเลย รายใหญ่คงไม่เท่าไหร่ แต่รายย่อยแค่สิบไร่-ยี่สิบไร่นี่กระทบมาก แล้ว พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายที่บังคับใช้ ทำให้ราคาอ้อยลดต่ำลงอีก โดยคาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ 500 กว่าบาทต่อตันอ้อย ซึ่งถือว่าตกต่ำสุดในรอบ 10 ปี ส่วนน้ำตาลก็ราคาถูกลง จริงๆ ดีกับผู้บริโภค แต่กระทบต่อชาวไร่อ้อย เพราะเป็นการบังคับใช้โดยไม่มีมาตรการรองรับเลย และถ้าราคาน้ำตาลยังต่ำลงเรื่อย ๆ โดยที่ไม่มีการควบคุม น้ำตาลจากที่อื่นก็จะมาตีตลาดน้ำตาลไทยอยู่ดี”
บารมียังระบุด้วยว่า ไม่นานมานี้ รัฐบาลสนับสนุนมติคณะรัฐมนตรีให้ขยายเพิ่มโรงงานน้ำตาลอีกหลายสิบแห่งในประเทศ แต่คิดว่าต้องมีอะไรผิดพลาด เพราะหลังจากที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านเลิกปลูกข้าว หันมาปลูกอ้อย ขยายเพิ่มโรงงานน้ำตาล ก็กลับยกเลิกมาตรการอุดหนุนชาวไร่อ้อย ซึ่งบารมีมองว่าสิ่งเหล่านี้บ่งชี้ว่าต้องมีอะไร ‘ซ่อนเร้น’ สักอย่าง
ข้อเสนอของสมัชชาคนจนและองค์กรเครือข่ายขบวนการชาวนาโลก ต่างเห็นตรงกันว่าจะต้องนำข้อตกลงเรื่องการเกษตรออกจาก WTO พร้อมระบุว่า การอุดหนุนเกษตรกรในสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่มีอยู่อย่างเข้มข้นและได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายในประเทศ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศอื่นๆ เสียเปรียบ เพราะกลุ่มประเทศมหาอำนาจอ้างว่ากฎหมายดังกล่าวที่บังคับใช้อยู่ในประเทศของตนนั้นมี��าก่อนที่ WTO จะก่อตั้งขึ้นมา
‘ประเด็นร่วม’ ของเหล่าชาวนา: อุตสาหกรรมใหญ่เฟื่องฟู ที่ดินทำกินหดหาย
ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างตัวแทนชาวนาจากภูมิภาคต่างๆ พบว่าชาวนาชาวไร่และคนจนทั่วโลกต้องเผชิญปัญหาไม่ต่างกันมากนัก เรื่องหลักคือการถูกรัฐหรือกลุ่มทุน ‘แย่งชิงที่ดิน’ และประชาชนไม่มีโอกาสเข้าร่วมในการจัดสรรหรือจัดการทรัพยากรธรรมชาติ แต่กลับต้องเป็นผู้แบกรับภาระที่เกิดจากการพัฒนาหรือแปรรูปที่ดิน รวมถึงสัมปทานการประมงขนาดใหญ่
‘ไซนัล อารีฟิน ฟูอัด’ ประธานสมาพันธ์ชาวนาแห่งอินโดนีเซีย หรือ SPI และกรรมการบริหารของลาเวียคัมเปซินาประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวต่อที่ประชุมในบาหลีปีนี้ว่า การกดดันของธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟที่ต้องการให้รัฐบาลอินโดนีเซียสนับสนุนการลงทุนและการพัฒนา ทำให้เกษตรกร ชาวประมง คนจนเมือง คนจนในชนบท และแรงงาน ถูกกลุ่มทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ รุกคืบอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังมีความพยายามที่จะครอบครองสิทธิในการจัดการเมล็ดพันธุ์พืช ส่งผลให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่เป็นเพียงผู้เล่นรายเดียวในตลาดอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งเกษตรกรรายย่อยไม่มีอำนาจต่อรองมากนัก เพราะนโยบายของรัฐบาลเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มทุนในการขยายธุรกิจที่อ้างว่าส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศ
พื้นที่ซึ่งได้รับการคุ้มครองและชุมชนเกษตรกรรมที่ยังอยู่รอดมาได้โดยไม่เจอผลกระทบก็คือชุมชนนาขั้นบันไดในแถบเชิงเขา ‘จาติลูวีห์’ ในบาหลี ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโก ทำให้คนในชุมชนคงยังเดินหน้าทำนาแบบเกษตรชีววิถีได้อยู่ เพราะเป็นพื้นที่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนขององค์กรชาวนา SPI ในบาหลีระบุเพิ่มเติมว่า ที่ดินปลูกข้าวใน 37 ชุมชนอื่นๆ ทั่วบาหลีที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก กลับถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในโครงการพลังงานด้วยการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ ‘เกดุง อมโบ’ (Kedung Ombo Dam) ในจังหวัดชวากลางของอินโดนีเซีย ซึ่งเครือข่ายผู้หญิงที่เข้าร่วมการประชุมระบุว่า ครัวเรือนจำนวนมากเดือดร้อนทั้งจากโครงการก่อสร้างเขื่อนซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2528 และเปิดใช้งานในปี 2533 ในยุคที่อินโดนีเซียอยู่ภายใต้การปกครองของอดีตผู้นำเผด็จการ ‘ซูฮาร์โต’ ซึ่งถูกประชาชนเดินขบวนขับไล่จนต้องลาออกจากตำแหน่งในปี 2541
การก่อสร้างและเปิดใช้งานเขื่อนเกดุง อมโบ ที่ถูกผลักดันและเสร็จสิ้นในยุคเผด็จการ ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อน ทั้งคนที่ถูกขับไล่ออกจากพื้นที่โดยไม่มีค่าชดเชยในตอนนั้น รวมถึงผู้สูญเสียแหล่งน้ำและที่ดินทำกิน ยังไม่ได้รับการเยียวยาจนถึงปัจจุบัน เพราะการเรียกร้องความเป็นธรรมของชาวบ้านติดอยู่ในขั้นตอนดำเนินการทางกฎหมายซึ่งยืดเยื้อมานานกว่า 30 ปีแล้ว
เครือข่ายภาคประชาชนและขบวนการชาวนาในอินโดนีเซียสะท้อนว่า รัฐบาลปัจจุบันซึ่งเป็นรัฐบาลพลเรือนชุดแรกในรอบหลายสิบปี ยังไม่ได้ทำตามคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้กับประชาชน ไม่สามารถนำบริษัทเอกชนที่รับผิดชอบในโครงการสร้างเขื่อนหรือการแปรรูปที่ดินต่างๆ มาดำเนินคดีได้ แม้จะมีการเจรจาต่อรองเพื่อจ่ายค่าชดเชยให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ก็เป็นเงินจำนวนน้อยนิด ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการโยกย้ายที่อยู่และการต่อสู้ทางกฎหมายของประชาชน
จุดอ่อนขบวนการภาคประชาชนในประเทศ ‘รวมตัวกันไม่ได้’
ในฐานะผู้ประสานงานสมัชชาคนจน บารมีมองว่าความร่วมมือระหว่างกลุ่มเกษตรกรและคนจนในไทยกับเครือข่ายชาวนาโลก อาจจะไม่ได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าของไทยโดยตรง แต่ก็เชื่อว่าความร่วมมือเหล่านี้จะช่วยต้านไม่ให้องค์กรในประเทศหันมากดดันภาคประชาชน เนื่องจากนโยบายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้ออกมาจากหน่วยงาน หรือรัฐบาลของไทยโดยตรง หากแต่มาจากธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ และ WTO
ถ้าองค์กรเหล่านี้ถูกต้านเอาไว้ได้ ก็จะทำให้สมัชชาคนจนฯ ต่อสู้กับรัฐบาลทางเดียว ไม่ต้องได้รับแรงกดดันจากนโยบายขององค์กรโลกบาลเหล่านี้
“อยากให้คนรู้ว่า ราคาผลผลิตที่ตกต่ำมันเป็นปัญหาที่มาจากการค้า ที่เป็นข้อตกลงตามนโยบาย WTO เรื่องที่เราสู้จึงไม่ง่าย ไม่ใช่แค่การค้านในประเทศ แต่เป็นเรื่องในระดับโลก อย่าคิดว่าเราจะได้ชัยชนะง่ายๆ แม้แต่เรื่องการจัดการป่า เราอยู่ในเขตป่า แต่เวิลด์แบงเอาป่าของเราไปแสวงหากำไรด้วยโครงการคาร์บอนเครดิต เราต้องสู้กับศัตรูที่ใหญ่ขึ้น” บารมีกล่าว
ส่วนกรณีที่ขบวนการภาคประชาชนในประเทศไทยแตกแยกกันเป็นหลายส่วน เพราะบางกลุ่มหรือบางเครือข่ายมีแนวคิดที่แตกต่างกันเรื่องการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลทหารไทยในปัจจุบัน ทำให้แนวทางการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายเพื่อชาวบ้านถูกแบ่งออกเป็นฝักฝ่าย
“ความแตกแยกในขบวนการภาคประชาชนมันเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ โตแล้วแตก เป็นเรื่องปกติ เชื่อว่า ถึงที่สุดแล้ว ความเชื่อทางการเมืองจะเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่าเรื่องอื่น เพราะเรื่องการจัดการทรัพยากรมีความเห็นเหมือนกัน แต่สุดท้ายความเชื่อทางการเมืองจะเป็นตัวชี้วัด”
“ถ้าบางคนยังเชื่อในอำนาจพิเศษ แต่อีกคนเชื่อในอำนาจประชาธิปไตย มันก็ไปด้วยกันไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าความเชื่อทางการเมืองยังต่างกันอยู่ การจะทำให้องค์กรที่ทำงานเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติมาเข้าร่วมกันนั้นไม่ง่าย และสำหรับเราก็ไม่จำเป็น เราจะไม่เสียเวลาทำงานเรื่องพวกนี้”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :