ไม่พบผลการค้นหา
พูดคุยกับ 4 ครีเอเตอร์จาก 4 สัญชาติ ว่าด้วยหลักการออกแบบ 'ไลน์สติกเกอร์' ที่สามารถสร้างรายได้หลักแสนบาทต่อเดือน จนมนุษย์เงินเดือนหลายคนแอบอิจฉา ซึ่งหัวใจสำคัญอยู่ตรงการถ่ายทอดเรื่องราวใน 'ชีวิตประจำวัน'

หลังจากการเปิดตัว 'LINE Creators Market' เมื่อ 4 ปีก่อน ทำให้นักออกแบบคาแรกเตอร์รุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้นทั่วโลก หลายคนพยายามผลิตสติกเกอร์ออกมาวางขายสร้างรายได้ และแปรเปลี่ยนไอเดียเจ๋งๆ ของตัวเองเป็นธุรกิจ จนสติกเกอร์สุดคิ้วท์กลายเป็นเทรนด์ฮิตติดลมบน

ต้องยอมรับว่า ผลผลิตทางความคิดของคนกลุ่มเล็กๆ เป็นความครีเอทีฟชนิดที่ช่วยพลิกโฉมหน้าของกลุ่มธุรกิจไลน์สติกเกอร์ให้เติบโตแบบก้าวกระโดด และสามารถเดินหน้าสร้างสถิติใหม่อยู่เรื่อยๆ

โดยล่าสุดยอดดาวน์โหลดสติกเกอร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 52 ส่งผลให้ตลาดไลน์สติกเกอร์ประเทศไทยขึ้นแท่น เติบโตเป็นอันดับ 1 ของโลก ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความนิยมใช้สติกเกอร์เป็นเครื่องมือการสื่อสาร

เมื่อแวดวงสติกเกอร์เป็นตลาดใหญ่น่าจับตามอง 'วอยซ์ ออนไลน์' จึงไปพูดคุยกับ 4 ครีเอเตอร์จาก 4 สัญชาติ ว่าด้วยหลักการออกแบบไลน์สติกเกอร์ที่สามารถสร้างรายได้เงินหลักแสนบาทต่อเดือน จนมนุษย์เงินเดือนหลายคนแอบอิจฉา ซึ่งทุกคนตอบคล้ายๆ กันว่า นอกจากความน่ารักแล้ว หัวใจสำคัญอยู่ตรงการสื่อสารเรื่องราวใน 'ชีวิตประจำวัน' ให้เข้าใจง่าย 


1.

เริ่มต้นกันด้วยตัวแทนครีเอเตอร์จากประเทศไทย 'มนันห์ตชัย ไพรสินธ์' เจ้าของผลงานสติกเกอร์ 'ตัวหมู by นายต้นไม้' โดยหลังจากพบกับไลน์ครีเอเตอร์สมาร์เก็ตเมื่อ 4 ปีก่อน ชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไปจากนักดนตรีกลางคืนมาเป็นครีเอเตอร์เต็มตัว เพราะการวาดสติเกอร์สามารถสร้างรายได้เข้ากระเป๋าเป็นหลักแสนบาทต่อเดือน

1.JPG

"ผมทำตั้งแต่ไลน์ครีเอเตอร์สมาร์เก็ตเปิดตัวแรกๆ และผมเปลี่ยนจากคนวาดรูปในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ไม่เป็น จนกลายเป็นคนชำนาญมากขึ้น และจากคนไม่มีความรู้เรื่องแอนิเมชั่นเลย กลายมาเป็นคนที่สามารถทำแอนิเมชั่นได้ เพราะหลังจากยอดขายดีระดับหนึ่ง ไลน์เปิดให้ออฟฟิเชียลทำตัวดุ๊กดิ๊กได้"

มนันห์ตชัยเล่าต่อว่า คาแรกเตอร์ของเขาส่วนใหญ่ถอดมาจาก 'ชีวิตประจำวัน' ของตัวเองคือ เป็นผู้ชายกวนๆ ยอมๆ เพราะไม่ต้องทะเลาะกับแฟน บวกกับด้วยความตั้งใจส่วนตัวที่ไม่ต้องการทำให้บรรยากาศในห้องแชทเต็มไปด้วยเรื่องดราม่า


"ตอนเริ่มต้นไม่ยากเท่าไหร่ แต่พอผ่านไปสักพักแล้วยอดขายตกมันท้อ ทำให้หลายๆ เลิกวาด"


ทว่ากฏเหล็กของนายต้นไม้คือ 'ห้ามยอมแพ้' ต้องพัฒนาตัวเองต่อเนื่อง และสม่ำเสมอในการสร้างสรรค์ นั่นส่งผลให้สติกเกอร์ของเขาบูมขึ้นมา แถมยังเป็นที่จดจำในฐานะคาแรกเตอร์ผู้ชายที่ทำให้ผู้ชายหันมาซื้อสติกเกอร์


2.

ด้าน 'คะนาโกะ ซุฮาระ' ตัวแทนครีเอเตอร์จากประเทศญี่ปุ่น เป็นเจ้าของผลงานสติกเกอร์อยู่หลายคาแรกเตอร์ แต่ 'Tumurin' หรือ หายทากจอมกวน กลับเป็นสติกเกอร์ที่นิยมมากสุด โดยแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์มาจากประสบการณ์ส่วนตัว ซึ่งเธอไม่ชอบทำอะไรตามกระแสนิยม บวกกับเป็นคนชอบดูวิดีโอสัตว์โลก และเล็งเห็นว่าคาแรกเตอร์สัตว์เต็มไปด้วยความน่ารัก

22.JPG

ปัจจุบัน คาแรกเตอร์ 'ซึมุริน' ได้รับความนิยมสูงมากในญี่ปุ่น ไต้หวัน และไทย ขณะเดียวกัน ยังสร้างรายได้มากถึง 3 แสนบาทต่อเดือน ซึ่งน่ันเป็นสาเหตุให้ระหว่างการสัมภาษณ์เธอต้องปิดบังหน้าต่อสาธารณะ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ชีวิต


"หัวใจสำคัญของการสร้างสรรค์สติกเกอร์คือ คาแรกเตอร์ต้องมาจากสิ่งที่ตัวเองชอบ และอย่ายอมแพ้ เพราะเวลาทำสติกเกอร์มันต้องเผื่อใจด้วย ไม่ใช่ทุกตัวจะเป็นได้รับนิยม"


3.

'เฉิน ซงลี' ตัวแทนครีเอเตอร์จากประเทศไต้หวัน เจ้าของผลงานสติกเกอร์ 'Sweethouse Happy Deer' ที่ถ่ายทอดเรื่องราวใน 'ชีวิตประจำวัน' และประสบการณ์ส่วนตัวแบบเรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยความสนุกสนานสดใส


"คนไต้หวันชอบสติกเกอร์เล่าเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตประจำวันง่ายๆ เนื่องจากพวกเขารู้สึกเหมือนกำลังได้ดูการ์ตูน ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับตัวเองเข้ากับสติกเกอร์ด้วย"


ส่วนตัวเจ้าของสติกเกอร์กวางน้อยแสนสุขเป็นคนชอบสังเกตคนรอบข้าง ทั้งครอบครัว เพื่อนฝูง และคนรัก เพื่อเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ และนำบุคลิกต่างๆ มาถ่ายทอดผ่านคาแรกเตอร์ของตนเอง

ซงลีก้าวเข้าสู่แวดวงการออกแบบคาแรกเตอร์การ์ตูนอย่างจริงจังในปี 2559 ก่อนนำผลงานขายผ่านไลน์สติกเกอร์ในปี 2560 แม้เปิดตัวเพียงไม่นาน แต่หากถามเรื่องรายได้ครีเอเตอร์ตอบทันทีว่า"ขายดีพอสมควร รายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ประมาณ 3 แสนบาท"


44.JPG

ช่วงระยะ 1 ปีที่ผ่านมา ซงลีมุ่งมั่นสร้างสรรค์ไลน์สติกเกอร์แบบสุดพลัง จนกระทั่งเขาคลอดผลงานออกมาแล้วกว่า 40 เวอร์ชั่น และนอกจากทำไลน์สติกเกอร์แล้ว เขายังต่อยอดความสำเร็จด้วยการพัฒนาคาแรเตอร์ไปเป็นของที่ระลึก เช่น ตุ๊กตา และผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากเม็ดเงินแล้ว อีกสิ่งที่ครีเอเตอร์จากไต้หวันเรียนรู้จากการออกแบบไลน์สติกเกอร์คือ “การรู้จักกับครีเอเตอร์ท่านอื่นๆ จากหลายประเทศ ทำให้เข้าใจชีวิตของคนหลากหลายรูปแบบมากยิ่งขึ้น”



4.

สุดท้ายคือ 'เมลานี เซ็ตโยวาตี ซันโตโซ' ตัวแทนครีเอเตอร์จากประเทศอินโดนีเซีย เจ้าของผลงานสติกเกอร์ 'Milk & Mocha' ซึ่งเป็นตัวหมีขาว และหมีน้ำตาล ลักษณะเหมือนสติกเกอร์คู่รักที่บอกเล่าเรื่องราว 'ชีวิตประจำวัน' ของผู้หญิงคนหนึ่งที่ชื่นชอบการอ่านหนังสือการ์ตูน

คาแรกเตอร์ของเมลานีชัดเจนด้วยสไตล์น่ารัก มุ้งมิ้ง ฟรุ้งฟริ้ง และผลงานของเธอได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ทำเงินเข้ากระเป๋าประมาณเกือบๆ 3 แสนบาทต่อเดือน และเมื่อวอยซ์ ออนไลน์ถามหาจุดเริ่มต้นเธอเล่าใฟ้ฟังว่า

"เล่นทวิตเตอร์อยู่แล้วเห็นเพื่อนคนเกาหลีคนหนึ่งโพสต์เกี่ยวกับสติกเกอร์ที่ตัวเองสร้างสรรค์ขึ้น ทำให้รู้สึกอยากลองสร้างสรรค์สติกเกอร์ของตัวเองบ้าง เหมาะเจาะกับไลน์เปิดแพลตฟอร์มให้ส่งผลงานก็เลยลองเข้ามาทำบ้าง"

33.JPG

เมลานีออกแบบสติกเกอร์มาตั้งแต่ปี 2557 ปัจจุบันวาดสติกเกอร์เป็นงานประจำ และออกวางจำหน่ายแล้ว 14 เวอร์ชั่น ที่สำคัญคือ ผลงานสไตล์น่ารักของเธอขายในหลายประเทศทั่วโลก

"สติกเกอร์ในอินโดนีเซียยังไม่หลากหลาย และเป็นที่นิยมมากเท่าประเทศไทย อยากให้อินโดนีเซียมีการจัดงานแบบลักษณะเดียวกันบ้าง เพราะการได้ร่วมงานกับคนจากเมืองอื่นๆ และการได้รับเชิญมาประเทศไทยก็เป็นประสบการณ์ที่ประทับใจ และยิ่งใหญ่ในชีวิต" ครีเอเตอร์จากประเทศอินโดนีเซียกล่าวทิ้งท้าย