ไม่พบผลการค้นหา
'ชัยเกษม นิติสิริ' แกนนำพรรคเพื่อไทย ฟันธงจุดเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นถ้านายกฯ คนนอก ชื่อ 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' พร้อมประเมินโอกาส 'เพื่อไทย-ปชป.'จับมือสกัดนายกฯคนนอก

'ชัยเกษม นิติสิริ' อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และยังเป็นหัวหน้าคณะฝ่ายรัฐบาลที่ถูกเชิญไปร่วมวงประชุมเพื่อหาทางออกจากความขัดแย้งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 

เหตุการณ์ครั้งนั้น 'ชัยเกษม' ประกาศเป็นคำสุดท้ายก่อนที่รัฐบาลรักษาการยิ่งลักษณ์จะล่มลงว่า "ไม่ลาออกจากรัฐมนตรี" โดยกอดตัวบทบัญญัติ รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 อย่างหนักแน่นจนถึงวินาทีที่หัวหน้าคณะรัฐประหารที่นำโดย 'พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา' ประกาศทุบโต๊ะ ขอยึดอำนาจการปกครองประเทศ

"ถ้าผมลาออก ผมจะไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และจะมีคนมาฟ้องร้องผมได้ ผมจำเป็นต้องอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีต่อไป" ชัยเกษม บอกกับ 'วอยซ์ ออนไลน์' ถึงเหตุผลที่ไม่ยอมลาออกตามคำขอของ "พลเอกประยุทธ์" ในขณะสวมเครื่องแบบ "ผู้บัญชาการทหารบก"

ให้หลัง 3 ปีกว่าของการครองอำนาจของ 'รัฐบาล คสช.' จนล่วงเข้าสู่ศักราชปี 2561  'ชัยเกษม' วิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ผ่าน 'วอยซ์ ออนไลน์' ถึงความเป็นได้ของการเลือกตั้งตามโรดแมป ของ คสช. พร้อมจุดเสี่ยงของนายกฯ คนนอก ถ้าเป็นชื่อของ 'ประยุทธ์ จันทร์โอชา'

วอยซ์ ออนไลน์ : คิดว่าจะมีการ 'เลือกตั้ง' ภายในปี 2561 ตามคำประกาศของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่

ชัยเกษม : เราต้องดูว่าจากที่ผ่านมาตั้งแต่ คสช.เข้ามา ก็มีโรดแมปมาตลอด ขณะเดียวกันโรดแมปของ คสช.ก็สามารถขยับได้ตลอดเวลา ซึ่งดูจากความฉุกละหุกหลายๆ อย่าง ทั้งในเรื่องออกกฎหมาย อีกทั้งคสช.ยังมีอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ โดยส่วนตัวจึงคิดว่าน่าจะมีการจัดเลือกตั้งไม่ทันในปีนี้

chaikasem A7597.JPG

วอยซ์ ออนไลน์ : คิดว่าจะมีการจัดเลือกตั้งในช่วงต้นปี 2562

ชัยเกษม : หากมองตามกรอบกฎหมายต่างๆ มันควรจะทันแต่อย่างที่ว่าคนที่อยู่ในอำนาจก็มักจะมีความสุขกับอำนาจ ถ้ามีเหตุที่จะเลื่อนได้ก็จะหาเหตุไปได้เรื่อยๆ จนกว่าจะมีเหตุการณ์ที่ประชาชนไม่ยอม หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็จำเป็นจะต้องจัดการเลือกตั้ง แต่ยึดตามกำหนดตามโรดแมป ส่วนตัวไม่ค่อยเชื่อ 

วอยซ์ ออนไลน์ : มองท่าทีของ 'พลเอกประยุทธ์' หลังประกาศตัวว่าเป็นนักการเมืองอย่างไร

ชัยเกษม : ก็เป็นสัญญาณได้ว่าถ้ามีการเลือกตั้ง ก็มีโอกาสเข้ามาอยู่ในการเมือง ก็ไม่ได้บอกว่าปีนี้จะมีเลือกตั้ง เป็นเพียงการประกาศว่ายังอยากอยู่ในการเมืองต่อไป จึงไม่อยากให้ประชาชนไปคาดหวังว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

ความชัดเจน คือ ท่านยอมรับว่าเป็นนักการเมือง เมื่อท่านเป็นนักการเมือง ก็หมายความว่าท่านคงจะอยู่ในการเมืองต่อไป ส่วนการจะได้นั่งเป็นนายกฯ ต่อไปหรือไม่ มันคงจะต้องดูหลังจากเลือกตั้งแล้ว เพราะบ้านเรามีเหตุปัจจัยหลายอย่าง และเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

100118_Chaisiri-05.jpg


วอยซ์ ออนไลน์ : เป็นสัญญาณชัดเจนหรือไม่ว่า 'พลเอกประยุทธ์' จะนั่งเก้าอี้นายกฯคนต่อไป

ชัยเกษม : มองว่าพลเอกประยุทธ์ น่าจะเป็นเพียงแคนดิเดตคนหนึ่ง เพราะดูท่าทีแล้วคงมีคนเสนอชื่อเป็นนายกฯ แต่ไม่ได้การันตีว่าจะได้นั่งเก้าอี้นายกฯต่อ เพราะขึ้นอยู่กับผลเลือกตั้ง แม้ว่ากติกาต่างๆที่ออกมา ค่อนข้างเอื้อในการเข้าสู่อำนาจ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ซึ่งโอกาสที่จะเป็นนายกฯ ต้องขึ้นอยู่กับประชาชนและผลงานที่ผ่านมาประทับใจจนถึงขนาดประชาชนจะไว้วางใจดูแลประเทศต่อไปหรือไม่ อย่างไรก็ตามหลัง 'ปฏิวัติ' ทุกครั้ง คนที่อยู่ในอำนาจก็พยายามที่จะอยู่ต่อทั้งสิ้น 

วอยซ์ ออนไลน์ : เงื่อนไข 'ส.ว.250 คน'ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. จะเป็นตัวแปรดัน 'พลเอกประยุทธ์' นั่งนายกฯต่อ

ชัยเกษม : นี่คือสิ่งที่เป็นกระบวนการที่ออกแบบไว้ในรัฐธรรมนูญไว้เรียบร้อยแล้ว และต้องบอกว่า 'ฉลาด' ในการทำ ซึ่งตอนทำประชามติ คนที่ไม่เห็นด้วยก็ไม่มีพื้นที่แสดงความคิดเห็น ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนได้ลงพื้นที่ทุกหย่อมหญ้า และชี้นำไปสู่การผ่านประชาชนมติ และเชื่อว่าหากมีการทำประชามติใหม่ในปัจจุบัน รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ไม่ผ่านแน่ เนื่องจากประชาชนไม่ได้รับสิทธิประโยชน์เท่าที่ควร 

วอยซ์ ออนไลน์ : พลังของการตั้งพรรคการเมืองเพื่อหนุน 'พลเอกประยุทธ์' มีผลอย่างไร

ชัยเกษม : โดยส่วนตัวมองว่าหากพลเอกประยุทธ์ ไม่ได้แรงสนับสนุนจากพรรคใหญ่ ก็หืดขึ้นคอ เพราะไม่เชื่อว่าคุณไพบูลย์ (นิติตะวัน ผู้ริเริ่มจัดตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป) จะได้คะแนนเสียงเพียงพอที่จะมาสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ขณะที่พรรคเก่าที่มีขนาดเล็กแม้ว่าจะรวมกันได้แต่มองว่ายังลำบาก แต่ก็มีความพยายาม เพราะคนที่อยากอยู่ต่อก็ต้องคิดในแง่ดีไว้ก่อนว่า ต้องทำอย่างงี้แล้วจะประสบความสำเร็จ

วอยซ์ ออนไลน์ : กระแสตั้ง 'พรรคประชารัฐ' โดยอดีตกำนันภาคใต้เป็นกุนซือ มีโอกาสแย่งฐานเสียงของพรรคการเมืองใหญ่หรือไม่

ชัยเกษม : เชื่อว่าไม่สามารถแย่งฐานมวลชนไปได้มาก และการตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาถือว่ายากที่จะได้เสียงสนับสนุนอย่างถล่มทลาย ขณะเดียวกันผลงานปกครองตลอด 3 ปี ภายใต้รัฐบาล คสช. ยังเชื่อว่าไม่ได้เสียงจากประชาชนเท่าที่ควร


100118_Chaisiri-04.jpg


วอยซ์ ออนไลน์ : ท่าทีการจับมือกันของ 'เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์' เพื่อต้านนายกฯคนนอก

ชัยเกษม : ตอนนี้เป็นเพียงการคาดเดากัน ซึ่งทุกอย่างต้องผ่านมติที่ประชุมพรรค แต่ในปัจจุบันจุดยืนในเรื่องการเมืองของสองพรรคนั้นแตกต่างกัน และทั้งสองต่างมีเสียงสนับสนุนคนละกลุ่ม อย่างไรก็ดีในประเด็นต่อต้านเผด็จการ จะเห็นว่าพรรคเพื่อไทยมีจุดยืนไม่เห็นด้วยชัดเจน แต่สำหรับประชาธิปัตย์ยังไม่มีการประกาศตัว ซึ่งในอดีตก็มักจะเอนเอียงในลักษณะที่จะทำให้ตนเองเป็นรัฐบาล 

ถ้าเฉพาะเรื่องเฉพาะประเด็น และหลังเลือกตั้งก็ไม่แน่ คือในที่สุดพรรคการเมืองไม่ว่ายังไงก็ยังอยากจะชนะ อยากเป็นรัฐบาล แต่ว่าประชาธิปัตย์และเพื่อไทย หากเป็นรัฐบาลทำงานร่วมกันยาก แต่ถ้าทำงานไม่เอาเผด็จการ ไม่เอานายกฯคนนอก ก็มีความเป็นไปได้สูง

วอยซ์ ออนไลน์ : วิธีการต้าน 'นายกฯคนนอก'

ชัยเกษม : โดยหลักการแล้วแต่ละพรรคก็มีวิธีการคิด เพราะฉะนั้นจะใช้คำว่าจับมือกันไม่เอานายกฯคนนอก มองว่าบางพรรคอาจจะไม่เห็นด้วยก็ได้ ขณะเดียวกันสองพรรคมีท่าทีชัดเจนว่า ไม่เอา 'พลเอกประยุทธ์' เป็นนายกฯคนนอก เพราะที่ผ่านมาทุกคนเป็นทุกข์แทนบ้านเมือง เนื่องจากบ้านเมืองไม่ได้ไปได้ดีเท่าที่ควร ทั้งที่มีอำนาจพิเศษควรจะไปได้ดีกว่านี้ และคิดดูว่าต่อไปรัฐบาลที่มีสภาโดยไม่มีอำนาจพิเศษ จะมีรูปร่างหน้าตาและผลงานออกมาอย่างไร

วอยซ์ ออนไลน์ : ความสุ่มเสี่ยงของพลเอกประยุทธ์ในอนาคต ถ้าตกลงนั่งนายกฯคนนอก

ชัยเกษม : จุดสุ่มเสี่ยงคือ จะเห็นว่ารัฐบาลมีอะไรที่ทำในขณะนี้แล้วเกิดความผิดพลาดต้องมีการใช้ตัวช่วยคือ มาตรา 44 อยู่บ่อยครั้ง พอท่านเป็นตอนนั้นท่านไม่มีตัวช่วยแล้วนะ ถ้าทำอะไรผิดพลาดต้องแก้ไขใช้เวลา เสียประโยชน์ต่อประเทศชาติบ้านเมือง นอกจากนั้น ขณะที่ท่านมีอำนาจเต็มที่ยังแก้ไขปัญหาบ้านเมืองไม่ถูกใจเท่าที่ควร ดังนั้นถ้าเป็นอีกทีก็เป็นจุดสุ่มเสี่ยง ประเทศจะก้าวไปไม่ได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ มันก็อยู่กันไป จะหาความหวังก็ยากกันหน่อย

100118_Chaisiri-03.jpg


20180104020936.JPG

วอยซ์ ออนไลน์ : ถ้าพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกฯคนนอก จะมีเสถียรภาพหรือไม่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 จะอยู่ในอำนาจได้นานหรือไม่

ชัยเกษม : ท่าน คุมเสียง ส.ว.ได้ แต่ผ่านกฎหมายต้องผ่าน จาก ส.ส. ทำงบประมาณขึ้นมา ถ้าคุมเสียงไม่ได้มากพอก็ไปแล้วครับ ถ้ามีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจคิดหรือว่าอดีตนายกรัฐมนตรีที่เคยเป็นทหารจะทนวาทกรรมของ ส.ส.ในสภาได้ ท่านรู้อยู่แล้วว่าฤทธิ์มันขนาดไหน ถ้าท่านไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าจะให้สวยถ้าทำไม่ได้ดีเท่าที่ควรก็ไม่ควรไปมองท่านว่าไม่ดี จนกระทั่งไม่ควรเป็นนายกฯ อยู่ต่อ ท่านยังสะสมอะไรได้อีกพอสมควรในชีวิตท่านที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นนายกฯที่ไม่มีปัญหาใดๆ ถ้าถามผม ท่านไม่ควรเดินต่อ แต่กองเชียร์ท่านเยอะ คงเป็นไปไม่ได้ ท่านไม่เดินต่อ แล้วยิ่งท่านมาประกาศอย่างนี้ แสดงว่าท่านมีเจตนาเดินต่อ ผมเดานะ

100118_Chaisiri-02.jpg

วอยซ์ ออนไลน์ : การเป็นนายกฯ คนนอก แล้วมีเสียง ส.ส.ในสภาไม่ถึงกึ่งหนึ่งจะบั่นทอนเสถียรภาพหรือไม่

ชัยเกษม : ท่านจะผ่านกฎหมายต่างๆอย่างไร กฎหมายงบประมาณอย่างไร ถ้าทุกคนรวมหัวกันไม่เอา และยังสาดเสียเทเสียในสภาอีก ท่านจะรับไหวหรือเปล่า ท่านก็ต้องเตรียมตัว ถ้าท่านอยากจะอยู่ต่อ และจากประวัติที่ผ่านมาน้อยครั้งที่จะอยู่ได้นาน นอกจากเป็นบุคลิกพิเศษจริงๆ นานๆจะมี อย่าง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ท่านเป็นคนนุ่มนิ่ม ไม่ได้มีบุคลิกเหมือนนายกฯปัจจุบัน

วอยซ์ ออนไลน์ : ข้อเสนอทางออกการเมืองไทยในวันนี้

ชัยเกษม : ในโลกปัจจุบันไม่มีอะไรดีไปเท่ากับเสียงของประชาชน ใช้ระบอบประชาธิปไตย แต่ต้องเป็นระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ใช่มีใครมาอยู่เบื้องหลังแล้วอ้างว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ เพราะว่าเมื่อไม่เป็นประชาธิปไตย ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองต้องยอมรับได้ในกรอบกฎหมาย ไม่ใช่การปิดโอกาสในการแสดงความคิดเห็น ไม่กระทบต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาเชื่อว่าจะไม่มีการปฏิวัติ แต่ในที่สุดมันก็มีอีก เพราะทหารมีทรัพยากรด้านกำลังพลและอาวุธจำนวนมาก ถ้าเขาจะทำจริงๆก็ไม่สามารถฝืนได้อยู่ดี

100118_Chaisiri-01.jpg

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง