ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลฟินแลนด์ตัดสินใจยุติโครงการทดลองจ่ายเงินเดือนประชาชนในสิ้นปีนี้ พร้อมปฏิเสธคำร้องให้ขยายเวลา และยังไม่เปิดเผยผลการทดลอง

รัฐบาลฟินแลนด์ตัดสินใจยุติโครงการทดลองจ่ายเงินเดือนขั้นต่ำให้ประชาชนในสิ้นปี 2561 นี้ ตามกำหนดเดิม เพื่อหันไปทดลองโครงการสวัสดิการรัฐแบบอื่น หลังจากที่นักวิจัยโครงการนี้ขอขยายเวลาการทดลอง โดยให้เหตุผลว่า ช่วงเวลาการทดลองเพียง 2 ปี สั้นเกินไปสำหรับการเก็บข้อมูลว่าเงินเดือนขั้นต่ำช่วยให้ชีวิตประชาชนดีขึ้นอย่างไรบ้าง

โครงการทดลองจ่ายเงินเดือนขั้นต่ำ (basic income) หรือเงินเดือนพลเมืองของรัฐบาลฟินแลนด์ได้รับความสนใจจากนานาชาติอย่างมาก เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ประเทศในยุโรปทดลองระบบสวัสดิการนี้ โดยโครงการนี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2560 เป็นการสุ่มให้เงินเดือนชาวฟินแลนด์ที่ว่างงาน 2,000 คน อายุตั้งแต่ 25 -58 ปี เป็นเงิน 560 ยูโรต่อเดือน หรือประมาณ 21,800 บาท โดยไม่จำกัดว่าจะนำเงินไปทำอะไรบ้าง แม้คนนั้นจะได้งานแล้วก็ตาม

โครงการดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อทดลองว่าสวัสดิการนี้จะกระตุ้นให้คนว่างงานหันมารับงานที่มีสัญญาการทำงานสั้นหรืองานพาร์ทไทม์ได้หรือไม่ เนื่องจากปัจจุบัน คนว่างงานจำนวนหนึ่งไม่กล้ารับงานชั่วคราว เพราะกลัวจะเสียเงินสวัสดิการคนว่างงานไป โดยผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวมองว่าการให้เงินเดือนขั้นต่ำจะสร้างเศรษฐกิจ 'แบบชั่วคราว' ที่บริษัทต่างๆ เลิกทำสัญญาพนักงานประจำ แต่จ้างงานแบบชั่วคราวกันมากขึ้น

หนึ่งในนักวิจัยโครงการทดลองการจ่ายเงินเดือนขั้นต่ำให้ประชาชนแสดงความผิดหวังที่รัฐบาลฟินแลนด์ปฏิเสธที่ จะขยายเวลาการทดลอง พร้อมระบุว่าความทะเยอทะยานของรัฐบาลฟินแลนด์ได้เหือดหายไปแล้ว เพราะนักการเมืองหันไปสนใจโมเดลสวัสดิการสังคมอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลฟินแลนด์ไม่ได้ให้เหตุผลที่จะไม่ขยายโครงการจ่ายเงินเดือนขั้นต่ำให้ ประชาชน และรายงานผลการทดลองฉบับเต็มจะเผยแพร่ออกมาในช่วงปลายปี 2562 โดยยังไม่มีการชี้ขาดว่าจะนำโมเดลเงินเดือนพลเมืองนี้มาใช้จริงหรือไม่

นับตั้งแต่มีการตื่นตัวเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลและโครงสร้างการจ้างงานที่จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงภายในไม่กี่ทศวรรษนี้ จากการที่นวัตกรรม AI จะเข้ามาทำงานแทนคนมากขึ้น ทำให้บรรดานักวิชาการและนักธุรกิจที่สนใจประเด็นสิทธิ หันมาพูดถึงความเป็นไปได้ของการให้สวัสดิการรัฐในรูปแบบเงินเดือนพลเมือง หรือเงินเดือนขั้นต่ำที่ให้กับประชาชนอย่างถ้วนหน้า โดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อรองรับคนที่จะตกงานจากการถูกเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ และเพิ่มความปลอดภัย รวมถึงความมั่นคงในชีวิตของพลเมือง แต่สวัสดิการนี้ยังถูกวิจารณ์ว่าเป็นการใช้งบประมาณโดยไม่เกิดผลประโยชน์สูงสุด ใช้เงินไม่ตรงจุด ลดแรงจูงใจในการหางาน

อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจคนสำคัญของโลกไม่ว่าจะเป็นอีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งเทสลาและสเปซเอ็กซ์ หรือเซอร์ริชาร์ด แบรนสัน เจ้าของธุรกิจเครือเวอร์จิน ต่างก็ออกมาสนับสนุน Universal Basic Income (UBI) หรือแนวคิดที่ว่าพลเมืองทุกคนควรได้รับเงินเดือนขั้นต่ำจากรัฐในฐานะสวัสดิการขั้นพื้นฐานแห่งรัฐ ไม่ต่างจากการเรียนฟรีและการรักษาพยาบาลฟรี

และล่าสุด ก็มีงานวิจัยที่ออกมารับรองว่าการให้เงินเดือนขั้นพื้นฐานแก่พลเมือง ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจล่มสลาย ไร้วินัยทางการคลัง แต่กลับส่งผลดีต่อเศรษฐกิจด้วยซ้ำ โดยสถาบันรูสเวลท์ของสหรัฐฯ ประเมินว่าหากมีการจ่ายเงินเดือนพื้นฐานแก่ประชากรอเมริกันทุกคนเป็นเวลา 8 ปี จะสามารถเพิ่มจีดีพีประเทศได้มากถึง 2.45 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 78 ล้านล้านบาท โดยมีข้อแม้ว่าการให้เงินเดือนพลเมืองจะต้องไม่แลกกับการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากหากประชาชนจะต้องซื้อของในราคาแพงขึ้น แม้จะได้เงินเดือนพลเมือง ก็ไม่ได้หมายความว่ามีรายได้เพิ่มจึงไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง

ที่มา: BBC, Business Insider

อ่านเพิ่มเติม: เงินเดือนพลเมือง รัฐสวัสดิการที่เป็นไปได้?