สิทธิการลดหย่อนภาษีผ่านกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF (Long-Term Equity Fund) กำลังจะหมดอายุลงสิ้นปีหน้า 2562 ทำให้หลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็นถึงข้อดีและข้อเสียของการต่อหรือไม่ต่อสิทธิลดหย่อนภาษีนี้
นายอธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ใน 4 ประเด็นหลักคือ ความสำคัญของ LTF, ปัญหาความไม่เป็นธรรมของ LTF, ผลกระทบจากการไม่ต่อ LTF และ ข้อระวังหากมีการปรับเปลี่ยนการลดหย่อนเป็นเครดิต
ได้ประโยชน์กระจุก ไม่ได้ประโยชน์กระจาย
โดยเขาระบุว่า ประชากรที่มีการซื้อหน่วยลงทุน LTF เป็นผู้มีรายได้มากที่สุดร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด มีการซื้อ LTF อยู่ที่ประมาณร้อยละ 30 ขณะที่ประชาชนที่เหลือมีการซื้อรวมกันเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ซึ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า LTF ให้ผลประโยชน์กับผู้มีรายได้สูงมากกว่าผู้มีรายได้ปานกลางถึงต่ำอย่างมีนัยสำคัญ
เพราะเมื่อนำกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ LTF มาเปรียบเทียบเครื่องมือในการลดหย่อนภาษีเพื่อการออมและการลงทุนแล้ว พบว่า รูปแบบการกระจุกตัวของ LTF และ RMF มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เพียงแต่ RMF มีความนิยมน้อยกว่าเกือบครึ่ง
อย่างไรก็ตาม จากผลวิจัยพบว่า ประชาชนผู้มีรายได้น้อยถึงรายได้ปานกลางให้ความสำคัญและความเชื่อใจไปกับประกันชีวิตมากกว่า LTF และ RMF อย่างเห็นได้ชัด โดยพบว่า สัดส่วนของประชาชนที่มีรายได้น้อยที่สุดร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด มีการซื้อประกันชีวิตถึงร้อยละ 15.6 ขณะที่ซื้อ LTF และ RMF เพียงร้อยละ 0.2 และ 0.1 ตามลำดับ
สัดส่วนความแตกต่างระหว่างเครื่องมือลดหย่อนภาษีนี้อาจสะท้อนให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว LTF อาจไม่ได้เหมาะสำหรับผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง เพราะประชาชนในกลุ่มนี้ไม่กล้ารับความเสี่ยงมากนัก แสดงให้เห็นจากสัดส่วนการซื้อประกันชีวิตที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า อีกทั้ง หากดูในภาพรวมจะพบว่า LTF มีความสำคัญน้อยมาก สำหรับประชาชนร้อยละ 80 ล่างของจำนวนผู้เสียภาษีทั้งหมด
โดยสัดส่วนของ LTF มีเพียงแค่ร้อยละ 4 ของการลดหย่อนทั้งหมด ซึ่งต่ำกว่าประกันชีวิตที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 95 ขณะที่ ร้อยละ 20 บนของจำนวนผู้เสียภาษีทั้งหมด มีสัดส่วนในการใช้ LTF ลดหย่อนภาษีถึงร้อยละ 24 และประกันชีวิตที่ร้อยละ 69
เป็นธรรมหรือไม่อยู่ที่ใช้อะไรมอง
นายอธิภัทร กล่าวว่า หากมองที่ส่วนลดภาษีจาก LTF ต่อรายได้ จะเห็นความเหลื่อมล้ำได้อย่างชัดเจนเนื่องจากสำหรับผู้ที่อยู่ในร้อยละ 80 ล่างของจำนวนผู้เสียภาษีทั้งหมดมีสัดส่วนการประหยัดภาษีจาก LTF ต่อรายได้อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ขณะที่ร้อยละ 20 บนของจำนวนผู้เสียภาษีทั้งหมด มีสัดส่วนการประหยัดภาษีจาก LTF ต่อรายได้มากถึงร้อยละ 2.5
อย่างไรก็ตาม หากมองจากส่วนลดภาษีต่อภาระภาษีจะพบว่าไม่ได้มีความเหลื่อมล้ำระหว่างสองกลุ่มให้เห็นมากนัก โดยกลุ่มร้อยละ 80 ของจำนวนผู้เสียภาษีทั้งหมด มีสัดส่วนการประหยัดภาษีจาก LTF ต่อภาษีที่ต้องจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 38.6 ขณะที่ กลุ่มร้อยละ 20 บนของจำนวนผู้เสียภาษีทั้งหมด มีสัดส่วนการประหยัดภาษีจาก LTF ต่อภาษีที่ต้องจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 32.6
เขาจึงย้ำว่า ประเด็นที่มีความสำคัญกว่าความเป็นธรรมระหว่างคนทั้งสองกลุ่มคือ แรงจูงใจในการซื้อ LTF เมื่อพิจารณาราคาหลังภาษี (After-tax price) ของ LTF ซึ่งสะท้อนโดยสัดส่วนการประหยัดภาษีต่อมูลค่าการซื้อ LTF พบว่าสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 11 สำหรับกลุ่มร้อยละ 80 ล่างของจำนวนผู้เสียภาษีทั้งหมด และร้อยละ 24.1 สำหรับกลุ่มร้อยละ 20 บนของจำนวนผู้เสียภาษีทั้งหมด ซึ่งหมายความว่าผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางมีแรงจูงใจในการซื้อ LTF น้อยกว่าผู้มีรายได้สูงอย่างเห็นได้ชัด
“ภาพแรงจูงใจที่ไปอยู่ที่คนรวยมากกว่า เป็นประเด็นที่สำคัญมากกว่าการเถียงเรื่องความเป็นธรรมไม่เป็นธรรม เพราะว่า LTF วัตถุประสงค์หลักคือการส่งเสริมให้คนชั้นกลางและคนรายได้น้อยมีเงินออมในระยะยาวมากขึ้น มีการลงทุนระยะยาวมากขึ้น แต่ว่าภาพแรงจูงใจที่ออกมากลับเป็นว่า เอื้อให้คนรวยลงทุนมากกว่า ซึ่งอาจจะไม่ใช่เจตนารมณ์ที่รัฐบาลอยากเห็นในตอนแรก” นายอธิภัทร กล่าว
ผลกระทบหากรัฐบาลไม่ต่อ LTF
สำหรับประเด็นการปรับตัวของประชาชนหากรัฐบาลตัดสินใจไม่ต่อ LTF นายอธิภัทรมองว่า แท้จริงแล้วหากประชาชนมีการปรับตัว เปลี่ยนไปใช้เครื่องมืออย่างอื่นในการลดหย่อนภาษี การหายไปของ LTF จะไม่ได้ส่งผลกระทบมากอย่างที่หลายฝ่ายเป็นกังวลกัน เพราะจากการจำลองสถานการณ์ในปี 2563 พบว่า ประมาณร้อยละ 70 ของผู้ที่ซื้อ LTF มีรายได้น้อยและปานกลาง และประมาณร้อยละ 49 ของผู้ที่ซื้อ LTF ที่มีรายได้สูง จะมีสิทธิลดหย่อน RMF เหลือพอที่จะนำมาแทนที่ LTF ได้ทั้งหมด
เปลี่ยนการลดหย่อน LTF เป็นเครดิตภาษี
การให้สิทธิ LTF ในรูปแบบของเครดิตภาษี (Non-refundable tax credit) เป็นแนวทางในการเพิ่มแรงจูงใจให้กับประชาชนที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ เพราะไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มผู้มีรายได้สูงเหมือนระบบการให้สิทธิลดหย่อนภาษี
จากตัวอย่างการจำลองสถานการณ์ในปี 2563 โดยเปลี่ยนแปลงจากระบบลดหย่อน LTF เป็นเครดิตที่ระดับร้อยละ 10, 15, 20 และ 25 พบว่า กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง ประมาณร้อยละ 80 ของผู้มีรายได้ทั้งหมด จะมีภาระภาษีลดลงเฉลี่ยร้อยละ 6-35 โดยการลดลงของภาระภาษีนี้จะสูงขึ้นตามอัตราเครดิต
ขณะที่ ผู้มีรายได้สูงประมาณร้อยละ 20 ของผู้มีรายได้ทั้งหมด จะมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 16 ที่อัตราเครดิตร้อยละ 10 และการเพิ่มขึ้นของภาระภาษีจะลดลงสำหรับอัตราเครดิตที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนมาใช้ระบบเครดิตภาษีจะส่งผลข้างเคียงต่อแรงจูงใจในการซื้อ RMF ของคนที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ เนื่องจากสิทธิประโยชน์จากการซื้อ RMF ยังคงอยู่ในรูปแบบการลดหย่อน ทำให้ส่วนลดภาษี RMF ขึ้นอยู่กับรายได้ และการลดหย่อนอื่นๆของผู้เสียภาษี งานวิจัยพบว่า ผู้มีรายได้น้อยประมาณร้อย 40 ของประชากรทั้งหมดจะได้ส่วนลดภาษีจาก RMF เพียงร้อยละ 5 ต่ำกว่า LTF ที่อยู่ที่��้อยละ 20 เป็นอย่างมาก ซึ่งรัฐบาลต้องให้ความระมัดระวังเพราะ RMF เป็นเครื่องมือการส่งเสริมการออมและลงทุนสำหรับเกษียณอายุโดยตรง
“รัฐบาลควรพิจารณาให้รอบคอบถึงลำดับความสำคัญของสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของการเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการออมการลงทุน” นายอธิภัทร กล่าว
การตัดสิทธิประโยชน์หรือการเปลี่ยนวิธีให้สิทธิประโยชน์ของ LTF ไม่เพียงแต่กระทบเครื่องมือในการส่งเสริมการออมและการลงทุนอย่าง LTF แต่ยังส่งผลถึง RMF เช่นเดียวกัน ดังนั้น รัฐบาลต้องมองให้รอบคอบและรอบด้านว่าควรจะสนับสนุนตัวไหนขึ้นมาก่อน ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งอีกตัวไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :