ไม่พบผลการค้นหา
คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง เขียนถึงสาเหตุที่คอนเสิร์ตปีนี้ยกเลิกกันระนาวมาหลายงาน แต่ไม่รู้เป็นเพราะมีคอนเสิร์ตเยอะไป จนคนตามดูได้ไม่หมดหรือเปล่า?

“ปีนี้คอนเสิร์ตเยอะเนาะ” เป็นประโยคที่ช่วงนี้ใครๆ ก็พูดกัน ถ้าไล่เฉพาะศิลปินบิ๊กเนม ต้นปียันท้ายปีมากันไม่มีขาด ไล่ตั้งแต่ Imagine Dragons, เคที่ เพอร์รี่, The Script, บรูโน่ มาร์ส, เซลีน ดิออน ไปจนถึง แซม สมิธ หลายคนถึงขั้นร้องขอชีวิตว่าพอแล้วจ้า หยุดก่อน อย่าเพิ่งมาเลย หมุนเงินไม่ทันแล้ว นี่ต้องนั่งไทม์แมชชีนไปยืมไตตัวเองในชาติก่อนมาขายแล้ว

แต่ แต่ แต่ สังเกตกันหรือไม่ว่าท่ามกลางความคึกคักที่คอนเสิร์ตผุดเป็นดอกเห็ด อันที่จริงแล้วมีคอนเสิร์ตยกเลิกไปแล้วหลายงานแล้วนะ ถ้านับแบบเร็วๆ ปีนี้ก็มีอย่างน้อย 5 งาน ดังนี้เลยจ้ะ 


งาน Black Sheep Music Festival ที่เชียงใหม่ ที่ดราม่ากันใหญ่โต เพราะแคนเซิลก่อนถึงวันงานแค่ไม่กี่วัน แถมยังประกาศว่าใช้เวลาสามเดือนกว่าจะคืนเงิน (เหวอ)


คอนเสิร์ตพี่ปู พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ก็ลาก่อยไปด้วย บ้างก็ว่าเป็นเพราะเรื่องความปลอดภัย (กลัวคนมาตีกัน) บ้างก็ว่าเป็นเรื่องยอดขาย


YAK FEST ของ ป๋าเต็ด ยุทธนา บุญอ้อม ที่โฆษณาว่าเป็นมหกรรมใหญ่โต สุดท้ายก็ขอเลื่อนไปก่อน แต่หลายคนก็มองว่าเลื่อนไม่มีกำหนดแบบนี้ ก็เหมือนยกเลิกป่าวหว่า


วงบอยแบนด์เกาหลี BTOB ก็เลื่อนกะทันหันจนแฟนเพลงช็อคถ้วนหน้า แต่ผู้จัดยืนยันว่าเลื่อน ไม่ได้ยกเลิก ว่าแต่ใครอ่านจดหมายแถลงเข้าใจบ้าง ช่วยอธิบายให้ผู้เขียนฟังหน่อย


เจมส์ บลันต์ เจ้าของเพลง You’re Beautiful ไม่ได้มาร้องเพลงนี้ที่ประเทศไทยแล้วจ้า ทั้งที่ทัวร์ประเทศอื่นในเอเชียยังดำเนินไปตามปกติ แว่วมาว่ายอดขายไม่ค่อยดีเท่าไร


ทีนี้ถ้าเราลองพิจารณาพวกจดหมายประกาศยกเลิก/เลื่อนคอนเสิร์ต ส่วนใหญ่ก็จะมีแพทเทิร์นคล้ายๆ กัน คือเขียนด้วยคำอะไรให้มันสวยหรู แต่จะงงๆ ไม่ค่อยเคลียร์ พูดอะไรอ้อมๆ วนไปวนมา ประโยคหรือวลีที่พบบ่อยๆ ก็เช่น

- ด้วยเหตุขัดข้องบางประการ (แล้วมันเหตุอะไรล่ะ)

- สถานการณ์ปัจจุบันไม่อยู่ในภาวะปกติ ซึ่งอาจทำให้ไม่เหมาะสมในการจัดงาน (อะไรไม่ปกติ แล้วไม่เหมาะยังไง)

- หรือถ้าเป็นประกาศภาษาอังกฤษที่เจอบ่อยมากคือ due to unforeseen circumstances แปลได้ว่า ‘ด้วยสถานการณ์ไม่คาดคิด’ …โอ้โห เหตุผลกว้างเป็นแม่น้ำฮวงโหเชียวนะ

               

อ่านมาถึงตรงนี้คงรู้สึกหงุดหงิดกันใช่มั้ยว่าแล้วตกลงคอนเสิร์ตมันยกเลิกเพราะอะไร(วะ)!?

ถ้าจะสรุปสาเหตุกว้างๆ อาจจะมี 3 แบบด้วยกัน

               1. จากตัวศิลปินเอง : เช่นศิลปินป่วย บาดเจ็บ หรือเคสแบบ จัสติน บีเบอร์ บอกว่าเหนื่อย อยากพัก ขอยกเลิกทัวร์เอเชียทั้งหมด อันนี้จะทำอะไรได้ล่ะจ๊ะ ก็ต้องตามใจศิลปินเขา

               2. จากเหตุสุดวิสัย : น้ำท่วม พายุเข้า หิมะถล่ม หรือมีจลาจล การก่อการร้าย อันนี้ไม่มีใครมีอารมณ์อยากดูคอนเสิร์ตแล้วจ้า

               3. จากการที่บัตรขายไม่ดี


ซึ่งเหตุผลข้อสามตอนนี้เป็นประเด็นพูดคุยกันพอสมควร ผู้เขียนได้คุยกับโปรโมเตอร์คอนเสิร์ตหลายราย ก็พูดกันว่าปีนี้หลายงานขายไม่ค่อยดีเท่าไร ขาดทุนเจ็บตัวกันไป อาจมาจากการที่ปีนี้มีคอนเสิร์ตเยอะมาก จนฝั่งคนดูไม่สามารถดูได้หมดทุกงาน ต้องยอมทิ้งบางงานไป โดยเฉพาะคอนเสิร์ตดังๆ ที่ค่าบัตรหลายพัน

แต่สิ่งที่ผู้เขียนสงสัยขึ้นมาก็คือ เอ๊ะ ถ้าจัดคอนเสิร์ตแล้วบัตรขายไม่ดีเนี่ย ผู้จัดสามารถยกเลิกกันได้ง่ายๆ เลยหรือ การยกเลิกนี่มันจะเจ็บตัวน้อยกว่าการทู่ซี้จัดต่อไปมั้ยนะ

ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงสอบถามไปยัง ท็อป-ศรัณย์ ภิญญรัตน์ แห่ง Fungjai ผู้จัดคอนเสิร์ตมาแล้วทั้งไทยและเทศ ท็อปเล่าให้เราฟังว่าแต่ละคอนเสิร์ตมีเงื่อนไขต่างกันไป บางคอนเสิร์ตจะมีสปอนเซอร์ช่วยเรื่องต้นทุน ถึงแม้คนดูน้อย ก็อาจจะจัดต่อไป แต่ได้กำไรน้อยหน่อย ซึ่งกรณีที่มีสปอนเซอร์ การยกเลิกคอนเสิร์ตเป็นเรื่องไม่ดีนัก เพราะส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้จัดกับสปอนเตอร์ อาจถึงขั้นขาดสะบั้นกันเลย

อีกปัจจัยที่ต้องมองก็คือ ‘ใคร’ เป็นคนจัดงาน ถ้าเป็นโปรโมเตอร์รายใหญ่ ถึงบัตรขายไม่ดี ก็อาจจะเดินหน้าจัดต่อไป ยอมขาดทุนงานนี้ แต่ไปเอาคืนงานหน้า แต่หากเป็นผู้จัดรายเล็กก็ไม่อาจแบกรับกับการขาดทุนระดับมหาศาล จนต้องยอมยกเลิกคอนเสิร์ตไป ส่วนเรื่องของ ‘ยอดขาย’ กรณีที่บัตรขายได้น้อยมากกก เช่น ขายได้แค่ 10-20% การยกเลิกก็อาจจะเป็นหนทางที่ดีกว่า เพราะไม่งั้นงานจะดูโล่งหลอนจนน่าเวทนา

อย่างไรก็ดี ท็อปย้ำว่าการยกเลิกคอนเสิร์ตเป็นหนทางสุดท้ายที่ผู้จัดจะเลือก เพราะนอกจากจะต้องคืนค่าบัตรให้กับผู้ชมแล้วยังต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมาย ทั้งค่ามัดจำสถานที่ ค่ามัดจำศิลปิน ค่าจ้างผลิตอื่นๆ (เช่น การตกแต่งภายในงานหรือเวทีคอนเสิร์ตที่สั่งทำไปแล้ว) ค่าเปอร์เซ็นต์ที่ถูกหักจากตัวแทนจำหน่ายตั๋ว และที่สำคัญที่สุดคือภาพลักษณ์ของผู้จัดที่ป่นปี้ไม่เหลือชิ้นดีและยากจะกู้หน้ากลับมาได้


ทีนี้ย้อนกลับมามองฝั่งคนดู เวลาที่คอนเสิร์ตยกเลิกโดนเท คนดูเสียอะไรบ้าง

แน่นอนว่าปฏิกิริยาแรกคือเสียใจหรือเสียดาย แต่คนที่ร้องไห้หนักกว่าคือพวกที่เดินทางจากต่างจังหวัดเข้ามาดูคอนเสิร์ตในกรุงเทพ หรือกรณีที่ลงทุนไปดูคอนเสิร์ตที่ต่างประเทศ เพราะแม้จะได้ค่าบัตรคอนเสิร์ตคืน แต่พวกค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าที่พัก นี่ไม่ได้คืนจ้า (ฮือ)

แต่พังไปกว่านั้นคือกรณีที่ไม่ได้ค่าบัตรคืนด้วย! เป็นกรณีเมื่อหลายปีก่อนที่คอนเสิร์ตรวมศิลปินเกาหลีงานหนึ่งยกเลิกไป ผู้จัดก็ประกาศดิบดีว่าจะคืนเงินให้เดือนนั้นเดือนนี้ แต่พอถึงเวลาจริงก็ไม่มีเงินสักบาทเข้ามาในบัญชี ฝั่งผู้จัดก็ประกาศเลื่อนไปเรื่อย จากสัปดาห์ เป็นเดือน จนเป็นปีบางคนก็ยังไม่ได้คืน (ป่านนี้ได้คืนครบทุกคนหรือยังผู้เขียนก็ไม่แน่ใจ)

               

การทำให้คอนเสิร์ตไม่ล่ม คงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่วิธีการป้องกันตัวเบื้องต้นที่ทำให้เจ็บตัวน้อยหน่อยคือ

1. จองบัตรคอนเสิร์ตกับเวบขายตั๋วที่เชื่อถือได้ เพราะถ้ายกเลิก จะได้รีฟันด์คืนไม่ยาก (แต่อาจต้องรอหน่อย) ให้ระวังให้ดีกับงานที่ให้โอนเงินไปยังผู้จัดโดยตรง โดยเฉพาะผู้จัดที่ไม่คุ้นชื่อ

2. จองตั๋วเครื่องบินคลาสที่เลื่อนตั๋วได้ + จองโรงแรมแบบที่ยกเลิกได้ ซึ่งการจองแบบนี้อาจต้องจ่ายแพงขึ้น แต่ก็ช่วยลดความเสียหายได้ ส่วนใครที่จองแบบเลื่อนไม่ได้/ยกเลิกไม่ได้ ก็ทำใจเที่ยวไปเถอะจ้ะ แม้ว่ามันจะเซ็งๆ หน่อย

3. หาอีเวนต์ที่สองเอาไว้ เช่นว่า บินมาดูคอนเสิร์ตที่กรุงเทพ ก็นัดกินข้าวกับเพื่อนด้วย หรือกรณีไปดูคอนเสิร์ตที่ต่างประเทศก็หาคอนเสิร์ตอีกอันหรืองานอีเวนต์ใดๆ สำรองไว้ (อันนี้เคยเกิดขึ้นกับผู้เขียนมาแล้ว ตอนปี 2013 ถ่อไปสิงคโปร์เพื่อดูนามิเอะ อามุโร่ แต่นางแคนเซิลจ้า โชคดีที่จองตั๋ววง Kraftwerk ไว้อีกงาน เลยบินไปแดนลอดช่องแบบไม่ช้ำใจมาก)

4. สวดมนต์ภาวนา

จบจ้ะ