ไม่พบผลการค้นหา
กรมควบคุมมลพิษแนะเฝ้าระวังเพลิงไหม้บ่อขยะในช่วงฤดูร้อน เพราะเป็นช่วงที่อากาศแห้ง ควรกลบทับขยะด้วยดินทุกวัน ห้ามสูบบุหรี่หรือก่อกองไฟ ห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาคุ้ยเขี่ยขยะ จัดหน่วยเฝ้าระวังการเกิดเพลิงไหม้บ่อขยะ และพื้นที่ใกล้เคียง แนะเตรียมอุปกรณ์ดับเพลิงไว้ภายในบ่อขยะ

นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ รองอธิบดี กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า ปัญหาเพลิงไหม้บ่อขยะสามารถเกิดขึ้นได้ทุกฤดูกาล แต่ในช่วงฤดูร้อนปัญหานี้มักเกิดขึ้นมากกว่าช่วงฤดูอื่นๆ เพราะเป็นช่วงที่อากาศแห้ง อุณหภูมิสูง ทำให้ความชื้นในกองขยะมีน้อย เมื่อขยะเกิดการลุกไหม้จึงลุกลามได้ง่ายและดับยาก 

จากการรวบรวมสถิติข้อมูลในปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม 2560- มีนาคม 2561) พบมีเหตุการณ์เพลิงไหม้บ่อขยะ 6 แห่ง กล่าวคือ บ่อขยะใน ต.บางปลา อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ, บ่อขยะใน ต.จุมพล อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย, บ่อขยะเอกชนใน ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา, บ่อขยะใน ต.ทุ่งกระตาดพัฒนา อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์, บ่อขยะเอกชนใน ต.ต้นธงชัย อ.เมือง จ.ลำปาง และ บ่อขยะในพื้นที่ ต.ศาลา อ.เกาะคา จ.ลำปาง

บ่อขยะ

ทั้งนี้ ต้นเพลิงอาจเกิดขึ้นจากการเผาขยะภายในบ่อโดยตรง เช่น การเผากำจัดขยะในบ่อขนาดเล็กที่ใช้วิธีการเทกองแล้วเผาเพื่อให้มีพื้นที่รองรับขยะในรอบปีต่อไป บางกรณีคนคุ้ยขยะอาจเผาเศษพลาสติกเพื่อค้นหาเศษโลหะที่จำหน่ายได้ หรือเผาสายไฟเพื่อเอาสายทองแดง บางกรณีอาจมีคนงานก่อไฟแล้วปล่อยทิ้งไว้หรือทิ้งก้นบุหรี่ จนเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ เป็นต้น

นอกจากนี้ ในช่วงฤดูแล้งอาจมีต้นเพลิงจากพื้นที่ใกล้เคียง อาทิ การเผาไร่เพื่อกำจัดวัชพืชและเศษวัสดุทางการเกษตรหรือการเผาป่า โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง 

นางสุวรรณา กล่าวว่า ปัจจุบันมีการขยายตัวของชุมชนเข้าใกล้บ่อขยะมากขึ้นหรือเป็นจุดที่อยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยว เหตุเพลิงไหม้บ่อขยะสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยทั่วไปเหตุเพลิงไหม้บ่อขยะทำให้เกิดก๊าซพิษที่มีฤทธิ์เฉียบพลัน เช่นคาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไฮโดรเจนคลอไรด์ และฝุ่นละอองขนาดเล็ก เป็นต้น รวมทั้งอาจมีน้ำเสียจากการดับเพลิงไหลล้นสู่พื้นที่ใกล้เคียงหรือแหล่งน้ำสาธารณะ ทำให้คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ

ในส่วนความรุนแรงของปัญหามักขึ้นกับปริมาณขยะและชนิดของขยะที่นำไปเทกองในพื้นที่ โดยหากมีของเสียจากสถานประกอบการหรือภาคอุตสาหกรรมไปทิ้งร่วมด้วยจะมีแนวโน้มมลพิษทางอากาศรุนแรงมากขึ้น

บางกรณีหน่วยงานท้องถิ่นต้องอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงอันตราย ซึ่งต้องใช้งบประมาณภาครัฐในการบริหารจัดการ และนอกจากผลกระทบด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่หรือประชาชนที่สัญจรผ่านไปมาแล้ว หากเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นในบ่อฝังกลบขยะตามหลักสุขาภิบาลก็ย่อมทำให้การกำจัดขยะช่วงดังกล่าวต้องหยุดชะงักลง จึงต้องงดให้บริการเก็บขนขยะในชุมชนและทำให้ขยะสะสมตกค้างในชุมชนปริมาณมาก ส่งผลกระทบด้านสังคม ประชาชนกังวล ไม่ยอมรับ และไม่ไว้วางใจต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ นำไปสู่การต่อต้านการเดินระบบกำจัดขยะหรือการสร้างสถานที่กำจัดขยะแห่งใหม่ในอนาคต

นางสุวรรณา กล่าวว่า ดังนั้นเพื่อป้องกันและเตรียมการรองรับปัญหาเพลิงไหม้ในบ่อขยะในช่วงฤดูร้อน คพ.จึงขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้มงวดในการดำเนินการมาตรการป้องกันเหตุเพลิงไหม้ในพื้นที่บ่อขยะที่ตนรับผิดชอบ โดยเฉพาะควรส่งเสริมการกำจัดขยะในพื้นที่ตามแนวทางแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะ มูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559 – 2564) และการป้องกันต้นเพลิงที่อาจเกิดจากความประมาทหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ต่าง ๆ เช่น ควรกลบทับขยะด้วยดินทุกวันห้ามสูบบุหรี่หรือก่อกองไฟ ห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาคุ้ยเขี่ยขยะ จัดหน่วยเฝ้าระวังการเกิดเพลิงไหม้บ่อขยะและพื้นที่ใกล้เคียง

รวมทั้ง ควรเตรียมอุปกรณ์ดับเพลิงไว้ภายในบ่อขยะ เช่น ถังน้ำหรือถังดับเพลิงเพื่อให้สามารถดับเพลิงขนาดเล็กที่กำลังเกิดขึ้นได้ และประสานเตรียมความพร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของอำเภอ/จังหวัด กรณีการขอสนับสนุนรถดับเพลิงและรถตักหน้าขุดหลังสำหรับการดับเพลิงขนาดใหญ่ ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ

ทั้งนี้ หน่วยงานท้องถิ่นสามารถประสาน คพ. และหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เพื่อสนับสนุนเจ้าหน้าที่เข้าร่วมตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุและเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งตรวจวัดความเข้มข้นของมลพิษที่เกิดขึ้นว่าจะส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างรุนแรงเพียงใด โดยสามารถติดต่อ คพ.ผ่านโทรศัพท์สายด่วน 1650 ตลอด 24 ชั่วโมง