ไม่พบผลการค้นหา
ครม.อนุมัติหลักการเก็บแวต อี-บิสซิเนส หรือผู้ประกอบการธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์จากการให้บริการในต่างประเทศ เช่น กูเกิล อะเมซอน รมว.คลัง ย้ำหวังให้เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มมีประสิทธิภาพ พร้อมสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมแก่ทั้งผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการในต่างประเทศ ที่ทำการค้าขายสินค้าแบบอีคอมเมิร์ซ สินค้าออนไลน์ 

โดยผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศมี 2 แบบ คือ 1.เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่นำมาขายสินค้าในประเทศไทย และ 2.เป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม เช่น Google Amazon      

"กฎหมายนี้กำหนดว่าบริษัทที่เป็นเจ้าของสินค้าและเจ้าของแพลตฟอร์ม ต้องมาจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทยและตั้งบริษัทตัวแทนในประเทศไทยเพื่อจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศ ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล ครม.จึงอนุมัติในหลักการ เพื่อพัฒนาต่อในเรื่องของรายละเอียด แต่ รมว.คลังบอกว่า ยังมีปัญหาเชิงเทคนิคอยู่ เพราะบริษัทต่างประเทศแม้จะมีกฎหมาย แต่เราไปบังคับเขาค่อนข้างยาก เพราะเขาอยู่ในต่างประเทศ แต่ปัญหานี้ไม่ได้เกิดกับประเทศไทยประเทศเดียว ทุกประเทศเกิดปัญหาแบบนี้เหมือนกันทั้งสิ้น" พล.ท.สรรเสริญกล่าว

ขณะที่ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า กฎหมายนี้เกิดขึ้นเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการขายสินค้าในประเทศ โดยสาระสำคัญได้วางหลักเกณฑ์จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ แวตจากผู้ประกอบการที่อยู่นอกประเทศ ทั้งผู้ที่จำหน่ายสินค้าและผู้ให้บริการดิจิตอลแพลตฟอร์ม หรือตัวกลางที่เป็นช่องทางทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น กูเกิล หรืออะเมซอน เป็นต้น เพื่อให้การจัดเก็บ VAT มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ

ทั้งนี้ ครม.มีมติอนุมัติและรับทราบต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในต่างประเทศ) ดังนี้ 

1) อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในต่างประเทศ) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป 

2) รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรอง ซึ่งต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่กระทรวงการคลังเสนอ 

3) ให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย 

4) ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรับไปพิจารณากำหนดให้ผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในต่างประเทศที่ได้ให้บริการแก่ผู้รับบริการในประเทศไทยต้องมาตั้งสถานประกอบการในประเทศไทย หรือมีตัวแทนในการประกอบกิจการในประเทศไทยต่อไป ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ 

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. คือ

  • กำหนดวิธีการส่งหมายเรียกหรือหนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากรหรือหนังสือซึ่งที่มีถึงบุคคลใดซึ่งอยู่นอกราชอาณาจักรที่ประกอบกิจการโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องเสียภาษี 
  • กำหนดอัตราภาษีที่ใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT สำหรับการให้บริการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้รับบริการซึ่งไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม  
  • กำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขสำหรับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรซึ่งประกอบกิจการให้บริการโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้รับบริการ ซึ่งไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และได้ใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร และของเจ้าของแพลตฟอร์ม (Plat form เจ้าของระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือเจ้าของเว็บไซต์) และกำหนดห้ามมิให้ผู้ประกอบการดังกล่าวซึ่งได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือบริการ 
  • กำหนดยื่นแบบแสดงรายการภาษี และการชำระภาษีของผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรและเจ้าของแพลตฟอร์มยื่นแบบแสดงรายการภาษี และการชำระภาษีผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทางเว็บไซต์ (Web Site) ของกรมสรรพากร 
  • กำหนดให้ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรและเจ้าของแพลตฟอร์มที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งมีมูลค่าของฐานภาษีตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาให้ยื่นคำขอตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :