ไม่พบผลการค้นหา
'วีซ่า' บริษัทผู้ให้บริการด้านเครือข่ายการชำระเงินระดับโลก เผยผลสำรวจพบค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวของคนไทยอยู่ที่ 49,135 บาทต่อทริป และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 73,670 บาท ในอนาคต อีกทั้งส่วนใหญ่ร้อยละ 76 ใช้บัตรพลาสติกชำระเงินเพื่อจองสิ่งที่จำเป็นก่อนการเดินทาง ส่วนผู้ที่ท่องเที่ยวคนเดียวและท่องเที่ยวต่างประเทศหลังทริปทำงาน นิยมใช้ 'กระเป๋าสตางค์ดิจิตอล' มากขึ้น

ผลสำรวจเกี่ยวกับแผนการท่องเที่ยวระดับโลกของวีซ่า หรือ Visa Global Travel Intentions Study ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับเทรนด์และพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักเดินทางจำนวน 17,500 ราย จาก 27 ประเทศทั่วโลก คาดการณ์ว่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวไทยจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบค่าเฉลี่ยโดยรวมของนักท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียหรือทั่วโลก  

โดยพบว่า นักท่องเที่ยวชาวไทยจะใช้เงินเยอะขึ้นถึงร้อยละ 50 จากทริปที่ผ่านมา ซึ่งมากกว่านักท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย (ร้อยละ 46 ) และนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก (ร้อยละ 36 ) โดยค่าเฉลี่ยจากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดพบว่านักท่องเที่ยวชาวไทยใช้จ่ายต่อทริปอยู่ที่ 49,135.68 บาท (1,502 ดอลลาร์สหรัฐ) และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 73,670.80 บาท (2,252 ดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับการเดินทางที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

ส่วนค่าเฉลี่ยการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลกนั้นเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 38,176.65 บาท (1,677 ดอลลาร์สหรัฐ) และ 58,655.31 บาท (1,793 ดอลลาร์สหรัฐ) ตามลำดับ แต่กลับมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่เป็นส่วนต่างสำหรับการเดินทางครั้งต่อไปน้อยกว่าประเทศไทยอยู่ที่ 80,007 บาท (2,443 ดอลลาร์สหรัฐ)

นายสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า จากที่ได้พูดคุยกับหลายๆ องค์กรในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวชาวไทยวางแผนใช้เงินเยอะขึ้นในการท่องเที่ยว เป็นผลจากทุกวันนี้มีผลิตภัณฑ์ในการชำระเงินที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งยังเพิ่มประโยชน์และสิทธิพิเศษที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยว ดังนั้นนักท่องเที่ยวชาวไทยจึงมีความมั่นใจในการใช้จ่ายมากขึ้น

นักท่องเที่ยวไทยร้อยละ 76 ชำระเงินผ่านบัตร ส่วน 'กระเป๋าสตางค์ดิจิตอล' เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ผลสำรวจดังกล่าวยังชี้ให้เห็นว่าการใช้บัตรชำระเงินเป็นที่แพร่หลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงก่อนการเดินทาง โดย 3 ใน 4 หรือ ร้อยละ 76 ของนักท่องเที่ยวชาวไทยเลือกใช้บัตรพลาสติกในการชำระเงินเพื่อจองสิ่งที่จำเป็นก่อนการเดินทาง อาทิ ตั๋วเครื่องบิน โรงแรม เป็นต้น เมื่อเทียบกับการใช้เงินสดที่เกิดขึ้นเพียงร้อยละ 52

ทั้งนี้ การชำระเงินผ่านบัตรยังเป็นช่องทางที่ผู้ตอบแบบสอบถามเลือกจะใช้ระหว่างเดินทางท่องเที่ยว เนื่องจาก มีโปรโมชั่นที่ดี ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมที่ต่ำกว่า ได้รับรีวอร์ดมากขึ้นหากใช้จ่ายในต่างประเทศ รวมถึงความปลอดภัยสูงสุด

ถึงแม้ว่าเงินสดจะยังเป็นตัวเลือกหลักในการใช้จ่ายระหว่างการท่องเที่ยวสำหรับคนไทยส่วนมาก แต่ผู้ตอบผลสำรวจร้อยละ 67 ระบุว่า บัตรเครดิตก็ยังคงเป็นอีกหนึ่งช่องทางหลักเช่นเดียวกัน โดย 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวชาวไทยใช้บัตรหลายใบในการเดินทางไปต่างประเทศ เพราะสามารถทำธุรกรรมได้เร็วขึ้น มีจุดรับบัตรอย่างแพร่หลายในร้านค้าในต่างประเทศ ค่าธรรมเนียมต่ำ และมีรีวอร์ดมากกว่า 

นอกจากนี้ ร้อยละ 26 ของนักท่องเที่ยวชาวไทยคาดว่าจะใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหากมีจุดรับบัตรที่แพร่หลาย

อีกประเด็นที่น่าสนใจเป็นอย่างมากคือ กระเป๋าสตางค์ดิจิตอล (digital wallet) ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดย 1 ใน 4 ของนักเดินทางชาวไทยเคยชำระเงินด้วยกระเป๋าสตางค์ดิจิตอลในขณะเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ ขณะที่นักท่องเที่ยวที่เดินทางคนเดียวและนักท่องเที่ยวที่เดินทางขณะออกทริปไปทำงานยังต่างประเทศ เป็นสองกลุ่มนักเดินทางที่ใช้การชำระเงินในรูปแบบนี้มากที่สุดถึงร้อยละ 41

"นักท่องเที่ยวไทยมีความตั้งใจจะท่องเที่ยวและใช้จ่ายมากขึ้นในต่างประเทศ และเชื่อว่าอุตสาหกรรมการชำระเงินจะมีบทบาทสำคัญอย่างต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งการเปิดรับแหล่งที่มาของเงินและการชำระเงินที่หลากหลาย ถือเป็นปัจจัยสำคัญและมีผลโดยตรงแก่พฤติกรรมการใช้เงินของผู้บริโภค ความต้องการและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวนั่นมีความหลากหลาย ดังนั้นการยอมรับและทดลองการชำระเงินในรูปแบบใหม่ๆ อาทิ โมบายแอพพลิเคชั่น QR Code หรือบัตรพลาสติก จะเป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ให้เติบโตได้" นายสุริพงษ์ กล่าว

ผลวิจัยดังกล่าว ได้สัมภาษณ์นักท่องเที่ยวจำนวน 500 ราย ในแต่ละประเทศทั้งสิ้น 27 ประเทศ ยกเว้นอินเดีย จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ที่มีผู้ให้สัมภาษณ์จำนวน 1,000 ราย การสัมภาษณ์ในรูปแบบออนไลน์นี้จัดทำขึ้นเมื่อเดือน มิ.ย. – ก.ค. 2560 พร้อมกันทุกประเทศ ยกเว้น อียิปต์ คูเวต ซาอุดิอาระเบีย ที่ได้จัดสัมภาษณ์จากผู้ให้คำตอบโดยตรงโดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นตัวช่วย 

โดยภูมิภาคที่อยู่ในผลสำรวจฉบับนี้ สำหรับทวีปเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม ทวีปยุโรป ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมัน สหราชอาณาจักร รัสเซีย ยูเครน แอฟริกาตะวันตก ได้แก่ อียิปต์ คูเวต ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และทวีปอเมริกา ได้แก่ บราซิล แคนนาดา เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา