ห้างทาคาชิมายะก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2374 (ค.ศ. 1831) ที่เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายอีดะ ชินชิฉิ ผู้ก่อตั้งห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ เริ่มจากการขายเสื้อผ้ามือสองและสินค้าประเภทผ้าทอต่างๆ ก่อนขยายสาขาไปทั่วประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันมีทั้งหมด 25 สาขา ในประเทศญี่ปุ่น และอีก 4 สาขาในต่างประเทศ
ผลประกอบการปีล่าสุด เปิดเผยเมื่อเดือน กุมภาพันธ์ 2561 ห้างทาคาชิมายะมีรายรับรวมถึง 949,572 ล้านเยน หรือประมาณ 276,688 ล้านบาท เมื่อหักต้นทุนต่างๆแล้ว ทาคาชิมายะ มีกำไร 35,318 ล้านเยน หรือประมาณ 10,291 ล้านบาท คิดเป็นกำไรร้อยละ 1 ของรายรับทั้งหมด
สัดส่วนร้อยละ 1 เหมือนจะไม่ใช่ตัวเลขที่เยอะ แต่หากเทียบกับห้างยักษ์ใหญ่ระดับโลกสัญชาติอเมริกันอย่าง "ทาร์เกต" จากรายงานผลประกอบการ 3 เดือนที่ออกมาเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทาร์เกต มีรายรับทั้งหมดอยู่ที่ 17.78 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 5.87 แสนล้านบาท จากรายได้เต็มนั้น ทาร์เกต ได้กำไรอยู่ที่ 799 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.4
รายได้ของแต่ละสาขาของห้างทาคาชิมายะในญี่ปุ่นนั้น มีความแตกต่างกันมากอยากเห็นได้ชัด มีเพียง 3 สาขา อย่าง โอซากะ นิฮอนบาชิ และ โยโกฮามะ ที่มีรายได้มากกว่า 1 แสนล้านเยน หรือประมาณเกือบ 3 หมื่นล้านบาทในช่วงปีที่ผ่านมา ในขณะที่บางสาขามีรายได้เพียง 5 พันล้านเยน หรือประมาณ 1.5 พันล้านบาท
สัดส่วนการใช้จ่ายของประชากรญี่ปุ่นที่ไม่ได้กระจายตัวดีทุกสาขาประกอบกับการเติบโตของการจับจ่ายใช้สอยผ่านช่องทางออนไลน์จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ ห้างทาคาชิมายะ เลือกจะเปิดตลาดในต่างประเทศฝั่งเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เส้นทางโกอินเตอร์ของทาคาชิมายะ
ห้างทาคาชิมายะเปิดสาขาในต่างประเทศครั้งแรกที่นครนิวยอร์กในปี 2501 และปารีสในปี 2516 ก่อนตัดสินใจปิดทั้งสองสาขานี้ในปี 2553 และ 2554 ตามลำดับ การปิดตัวของสาขาในยุโรปและอเมริกาเป็นปัจจัยบ่งชี้ว่า ห้างสไตล์ญี่ปุ่นเก่าแก่อาจไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวตะวันตก อย่าไรก็ตามสาขาในเอเชียอื่นๆไม่ว่าจะเป็น ที่สิงคโปร์ซึ่งเปิดตัวเมื่อปี 2536 สาขาเซี่ยงไฮ้เปิดตัวเมื่อ 2555 โฮจิมินห์ในปี 2559 และล่าสุดในกร��งเทพฯ ปี 2561 ต่างดูมีความหวังที่จะสร้างกำไรให้กับห้างได้มากกว่า อันเนื่องมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้พร้อมกับความนิยมวัฒนธรรมญี่ปุ่นของคนในแถบนี้
การร่วมลงทุนครั้งนี้ระหว่างห้างทาคาชิมายะและบริษัท ไอคอนสยาม มีการใช้พื้นที่มากถึง 36,000 ตารางเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 7 ชั้น ใช้เงินลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท และยังคงดึงสินค้าแบรนด์ญี่ปุ่นชั้นนำมากถึง 180 แบรนด์ รวมทั้งมากกว่า 80 แบรนด์ จะเป็นการเข้ามาจำหน่ายในไทยเป็นครั้งแรก
นายเคนจิ โฮริกูจิ กรรมการผู้จัดการ ห้างสรรพสินค้า สยาม ทาคาชิมายะ กล่าวว่า สาเหตุที่เลือกมาลงทุนในประเทศไทย เพราะไทยมีเศรษฐกิจที่ดีและมีศักยภาพในการพัฒนาในอนาคต ดังนั้น ทาคาชิมายะจึงอยากเข้ามาร่วมพัฒนาเศรษฐกิจ
ไม่หยุดแค่ทำห้าง
ล่าสุดนอกจากห้างทาคาชิมายะยังจับมือเป็นพันธมิตรกับกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ออก "บัตรเครดิต สยาม ทาคาชิมายะ" หวังเจาะกลุ่มคนรักไลฟ์สไตล์หรูหราแบบญี่ปุ่น บัตรเครดิต สยาม ทาคาชิมายะ มี 3 ประเภท ได้แก่ บัตรเครดิต สยาม ทาคาชิมายะ วิซ่า/เจซีบี, บัตรเครดิต สยาม ทาคาชิมายะ ไฟน์เนส และบัตรเครดิต สยาม ทาคาชิมายะ ไฟน์เนส-อินวิเทชั่น โอนลี่
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังเผชิญพายุลูกใหญ่จากสงครามการค้า หลายประเทศที่ไม่สามารถหลบพายุลูกนี้ได้ จีดีพีของญี่ปุ่นปีล่าสุดลดลงติดลบร้อยละ 1.2 เป็นสิ่งที่แสดงว่าญี่ปุ่นโดนผลกระทบจากพายุลูกนี้เช่นเดียวกัน เป็นไปได้ไหมว่าไทยจะสามารถเป็นตาพายุของญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ได้ เพื่อที่เราจะหยิบฉวยผลประโยชน์จากพายุลูกนี้
ภาพประกอบข่าวจาก; Siam Takashimaya
อ้างอิง; CNBC