ไม่พบผลการค้นหา
สมาคมธนาคารไทยเจรจา รมว.เกษตรฯ ยื่นหลักเกณฑ์ช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยที่เป็นสมาชิกและขึ้นทะเบียนกับกองทุนฟื้นฟูฯ ก่อน 30 ธ.ค. 2560 มีเงินต้นไม่เกิน 2.5 ล้านบาท ยกหนี้ให้ร้อยละ 50 พร้อมชะลอฟ้องร้องถึง 30 มิ.ย. 2562 ฟาก ที่ปรึกษากลุ่มเกษตรตัดพ้อหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นเรื่องเก่า อย่าผลักเกษตรกรเป็นจำเลยสังคม

สมาคมธนาคารไทย ยืนยันมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เกษตรกร โดยเฉพาะรายย่อยที่เป็นสมาชิกและขึ้นทะเบียนหนี้กับกองทุนฟื้นฟูฯ ที่เป็น NPL ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2560 และมีเงินต้นไม่เกิน 2.5 ล้านบาท กู้ยืมเพื่อการเกษตร ให้ชำระหนี้เพียงร้อยละ 50 ของเงินต้น พร้อมยกหนี้ส่วนที่เหลือให้ อีกทั้งให้ชะลอการดำเนินการทางกฎหมายกับลูกหนี้จนถึง 30 มิ.ย. 2562 เพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรยังคงมีที่ดินทำกินในการหาเลี้ยงชีพได้ต่อไป เผยอีกด้านหนึ่งยังคงต้องดูแลภาพรวมในการรักษาวินัยทางการเงิน และรับผิดชอบต่อเจ้าหนี้ของธนาคารและลูกค้าเงินฝากด้วยเช่นกัน

นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวภายหลังการเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในวันที่ 20 ก.ย. 2561 ว่า สมาคมธนาคารได้เข้ายื่นหนังสือยืนยันหลักเกณฑ์การรับชำระหนี้สำหรับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรที่มีข้อตกลงร่วมกับสมาคมธนาคารไทย โดยลูกหนี้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกและขึ้นทะเบียนหนี้กับกองทุนฟื้นฟูฯ ที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2560 ที่มีเงินต้นไม่เกิน 2.5 ล้านบาท และมีวัตถุประสงค์กู้ยืมเพื่อการเกษตร สามารถชำระหนี้เงินต้นกับธนาคารสมาชิกเจ้าหนี้ร้อยละ 50 พร้อมยกหนี้ส่วนที่เหลือให้ อีกทั้งให้ชะลอการดำเนินการทางกฏหมายกับลูกหนี้จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2562 เพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรยังคงมีที่ดินทำกินในการหาเลี้ยงชีพได้ต่อไป 


กราฟฟิกช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย.jpg

"มาตรการดังกล่าวธนาคารสมาชิกในสมาคมธนาคารไทยได้พิจารณาแล้วเห็นว่าสามารถช่วยเหลือลูกหนี้เกษตรกรรายย่อยที่เดือดร้อนได้เป็นจำนวนมาก ส่วนข้อเรียกร้องของลูกหนี้เกษตรเพิ่มเติมในครั้งนี้ คือต้องการให้ธนาคารสมาชิกรับชำระหนี้เงินต้นร้อยละ 50 ทุกวงเงิน พร้อมยกหนี้ส่วนที่เหลือให้ โดยธนาคารสมาชิกได้พิจารณาเห็นว่าลูกหนี้เกษตรกรที่มีเงินต้นเกิน 2.5 ล้านบาท เป็นลูกหนี้ที่ธนาคารสมาชิกได้ดูแลช่วยเหลือพิเศษเป็นรายกรณีอยู่แล้ว ซึ่งมีเพียงไม่กี่ราย และบางรายมีเงินต้นจำนวนมาก เกินกว่าการเป็นเกษตรกรรายย่อย"

นายกอบศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่รัฐบาลได้จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ธนาคารสมาชิกในสมาคมธนาคารไทยได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลด้วยดีเสมอมา ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2549 - ก.ค. 2561 ได้มีการช่วยเหลือเกษตรกรผ่าน กฟก.ไปแล้วทั้งสิ้น 3,206 ราย เป็นจำนวนเงิน 1,207 ล้านบาท และขณะนี้เหลือจำนวนลูกหนี้เกษตรกรรายย่อยอีกเพียง 692 รายเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารสมาชิกได้ให้การดูแลช่วยเหลือในการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อให้ลูกหนี้เกษตรกรรายย่อยที่เดือดร้อนกลุ่มนี้มาชำระหนี้กับธนาคารโดยตรง ภายใต้เงื่อนไขข้อตกลงที่สมาคมธนาคารกับ กฟก. เห็นชอบร่วมกัน 

นอกจากนี้ สมาคมธนาคารไทยได้มีการหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ กฟก. อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เร่งดำเนินการและหามาตรการช่วยเหลือสำหรับลูกหนี้กลุ่มนี้ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

"ที่ผ่านมา สมาคมธนาคารไทยได้สนับสนุนการดำเนินนโยบายของภาครัฐและตระหนักถึงการให้ความช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ที่มีความเปราะบางในสังคมไทย โดยเฉพาะลูกหนี้เกษตรกรรายย่อยที่ได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม สมาคมธนาคารไทยต้องดูแลรักษาวินัยทางการเงินในภาพรวมของทั้งประเทศ ผลประโยชน์และความเป็นธรรมโดยรวมของทุกฝ่ายควบคู่ไปด้วย" นายกอบศักดิ์ กล่าว

ที่ปรึกษา ส.ก.ท. ชี้สมาคมแบงก์ไม่ได้แก้ปัญหาที่ร้องขอ-ผลักเกษตรกรเป็นจำเลยสังคม

นายยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุล ที่ปรึกษากลุ่มสหพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย (ส.ก.ท.) กล่าวว่า การแก้ปัญหาของสมาคมธนาคารไทยที่ออกมานี้ เรียกว่า ไม่ได้ทำอะไรเลยในรอบ 1 เดือนที่่ผ่านมา ตั้งแต่กลุ่มเกษตรกรมาปักหลักชุมนุมหน้าธนาคารกสิกรไทย และใต้ทางด่วนบนถนนพระราม 6 หน้ากระทรวงการคลัง และถือว่า เป็นการทำให้กลุ่มเกษตรกรเป็นจำเลยสังคม เป็นเหมือนคนที่ไม่ยอมรับการแก้ปัญหา 

"สิ่งที่พวกเราย้ำคือ ขอให้ธนาคารมาคุยกับพวกเรา และทำให้จบทุกบัญชี ให้โอนหนี้ของลูกหนี้เกษตรกรที่ไม่ว่าจะระดับหมื่นบาท หรือไม่เกิน 2.5 ล้านบาท เข้าไปอยู่ในกองทุนฟื้นฟูฯ แล้วได้ลดเงินต้น และไม่ยึดที่ดินทำกินของพวกเรา เพราะการที่เราปักหลักมาร่วมเดือน เพราะเรากลับบ้านไม่ได้ กลับไปก็ไม่มีที่ดินทำกิน ส่วนผลการหารือของสมาคมธนาคารไทยกับกระทรวงเกษตรฯ อันนี้ ถทอว่า ไม่ได้แก้ปัญหา แต่เป็นการเอาของที่มีอยู่แล้วมาจัดการให้เสร็จเท่านั้น" นายยศวัจน์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :