ไม่พบผลการค้นหา
เรื่องราวของ 'ชัยภูมิ ป่าแส' นักกิจกรรมชาวลาหู่ซึ่งถูกทหารวิสามัญฆาตกรรมโดยอ้างว่าเขาพัวพันคดียาเสพติดเมื่อปี 2560 ยังคล้ายอยู่ในถ้ำอันมืดมิด เส้นทางคดเคี้ยว ไม่เห็นแสงสว่างหรือทางออก

'ชัยภูมิ ป่าแส' นักกิจกรรมชาวลาหู่ มีอายุไม่ต่างจากสมาชิกทีมหมูป่า อะคาเดมีเท่าใดนักในวันที่ตกเป็นข่าว แต่เหตุที่เรื่องราวของเขาไม่ได้รับความสนใจมากนัก อย่าว่าแต่มีใครคิดแฮชแท็ก #คนแปลกหน้าที่อยากเจอ หรือวาดภาพการ์ตูนน่ารักๆ เพื่อดึงดูดความช่วยเหลือ เพราะกว่าจะได้เป็นข่าว 'ชีวิต' ของเขาก็ลอยออกจากร่างเป็นที่เรียบร้อย

จุดเกิดเหตุ ด่านตรวจยาเสพติดถาวรบ้านรินหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ อยู่ห่างจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย 177 กิโลเมตร แต่ในขณะที่สมาชิกทีมหมูป่าฯ ทั้งหมด ได้ออกจากถ้ำ กลับบ้าน ไปพบครอบครัว เรื่องราวของชัยภูมิยังคล้ายอยู่ในถ้ำอันมืดมิด เส้นทางคดเคี้ยว ไม่เห็นแสงสว่างหรือทางออก

เพียงเพราะคู่กรณีของเขาเป็นบุคคลใน 'กองทัพ' ?

กว่าปีครึ่ง ที่ครอบครัว ทีมทนายความ นักสิทธิมนุษยชน รวมถึงสื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง ติดตามทวงถามถึงภาพจากกล้องวงจรปิด หรือ CCTV บริเวณด่านรินหลวง ซึ่งมีกล้องอยู่ 9 ตัว เพื่อไขคำตอบว่า ในวันที่เกิดเหตุ ราวสิบโมงของวันที่ 17 มี.ค.2560 มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เหตุใดข้อมูลที่ได้รับจากฝ่ายทหาร จึงแตกต่างจากพยานหลักฐานอื่นๆ ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ

ทหารบอกว่า ชัยภูมิไม่ยอมให้ตรวจสอบยาเสพติด – ก็มีชุดภาพนิ่งออกมาภายหลังว่า เขาให้ความร่วมมือช่วยทหารเดินตรวจค้นรอบคันรถยนต์ฮอนด้า แจซ สีดำ ทะเบียน ขก-3774 เชียงใหม่ ที่ขับมาแต่โดยดี

ทหารบอกว่า ชัยภูมิขัดขืนและต่อสู้ – ก็มีพยานหลายๆ ปากให้ข้อมูลกับสื่อหลายๆ แห่ง ว่าชัยภูมิถูกซ้อม จนต้องวิ่งหนี เลยถูกยิง (ด่านรินหลวงอยู่กลางชุมชน มีพยานเห็นเหตุการณ์จำนวนมาก)

ทหารบอกว่า ชัยภูมิพยายามปาระเบิดใส่ – ก็มีคนตั้งข้อสังเกตถึงพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ ทั้งระเบิดที่ตกลงข้างตัวโดยไม่ได้ถอดสลัก ขว้างไปแล้วจะระเบิดได้อย่างไร

แต่ที่สุดความพยายามดังกล่าวก็จบลงด้วยความล้มเหลว เมื่อกองทัพออกมาบอกว่า “ไม่มีภาพ CCTV” ในวันดังกล่าว!

ไม่มีภาพของวันที่ 17 มี.ค.2560 แต่มีภาพระหว่างวันที่ 20-24 มี.ค.2560 เพราะเป็นระบบอัดซ้ำโดยอัตโนมัติ

ทั้งๆ ที่ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก บอกว่าเคยเห็น พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 ก็บอกว่าเคยเห็น

แต่ถึงวันนี้ มันกลับหายไปอย่างไร้ร่องรอย?

CLIP In Her View : อีกด้านของ 'ชัยภูมิ' กับชาติพันธุ์ลาหู่

หากย้อนกลับไปดูไทม์ไลน์เหตุการณ์ จะเห็นได้ว่ามีจุดซึ่งเป็นช่องโหว่มากมายที่อาจทำให้ภาพ CCTV นั้นหายไปได้

โดยเฉพาะระยะเวลากว่าที่ทหารจะส่งมอบฮาร์ดดิสก์ที่บันทึกภาพ CCTV ให้กับตำรวจ ที่กินเวลานานนับเดือน

และเกิดขึ้นหลังจากฝ่ายต่างๆ ออกมายืนยันว่า “ทหารทำถูกต้อง..ไม่เกินกว่าเหตุ” !

17 มี.ค. ชัยภูมิถูกยิงวิสามัญ ค่าด่านรินหลวง / 21 มี.ค. เริ่มปรากฏเป็นข่าวตามหน้าสื่อต่างๆ / 23 มี.ค. แม่ทัพภาคที่ 3 บอกว่า ดู CCTV แล้ว ชัยภูมิขัดขืนจึงต้องยิงเพื่อป้องกันตัว “เป็นผมกดออโต้ไปแล้ว” / 27 มี.ค. ทหารอ้างว่าส่งภาพ CCTV ให้ตำรวจแล้ว / 28 มี.ค. ผู้บัญชาการทหารบก บอกว่าดูภาพ CCTV แล้ว “ยังไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด” / 25 เม.ย. วันที่ตำรวจได้รับภาพ CCTV จากทหารจริงๆ

ความจริงคดีนี้ น่าจะเป็นการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของพลทหารสุรศักดิ์ รัตนสุวรรณ ผู้ใช้ปืน M16 ลั่นไกสังหาร ว่าทำเกินกว่าเหตุไปหรือไม่เท่านั้น

แต่พอผู้เกี่ยวข้องตำแหน่งใหญ่ๆ ออกมาปกป้องพลทหารรายนี้ ทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายตำรวจ ที่พยายามชี้นำว่าผู้ตายเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทั้งเรื่องเงินโอนเข้าบัญชีเดือนละ 1,300 บาท (ซึ่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้ามาตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นค่าขายเมล็ดกาแฟ) หรือการจับกุมญาติของชัยภูมิ 2 คนในคดียาเสพติด (ซึ่งท้ายที่สุดศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้ยกฟ้อง หลังต้องไปติดคุกฟรีๆ อยู่เกือบปี)

คำวิจารณ์ต่างๆ จึงเริ่มขยายวงไปสู่เรื่องของ 'สถาบันทหาร' และเริ่มลามไปสู่การตั้งคำถามกับ 'กระบวนการยุติธรรม'

เพราะแม้ศาลจังหวัดเชียงใหม่ จะสรุปในคดีไต่สวนการตายของชัยภูมิว่า เกิดจากถูกทหาร “ใช้ปืน M16 ยิงเข้าใส่บริเวณต้นแขนทะลุเข้าไปในลำตัว กระสุนทำลายเส้นเลือดใหญ่ หัวใจ และปอด เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย” แต่ศาลกลับไม่ชี้ว่า การกระทำดังกล่าวเกินกว่าเหตุหรือไม่ รวมถึงไม่ออกคำสั่งเรียกภาพจาก CCTV มาประกอบการไต่สวน จนทีมทนายต้องไปใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ขอจากกองทัพเอาเอง

แน่นอนว่า คงมีคนบางกลุ่มทำให้คดีนี้จบลงที่ไม่สามารถเอาผิดบุคคลใดได้ หรือพูดง่ายๆ ตามภาษาชาวบ้านก็คือ 'ตายฟรี' แม้ฝั่งญาติๆ และทีมทนายของชัยภูมิจะทำสุดความสามารถ ไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น

แต่ทุกอย่างมีราคาที่ต้องจ่ายเสมอ 

ตลอดเวลาที่ผ่านมา หลายคนเริ่มสะสมความไม่พอใจต่อ 'สถาบันกองทัพ' หลังจากคดีที่เกี่ยวข้องกับชายชุดเขียว มีคนถูกลงโทษจริงๆ น้อยมาก หลายคดียังไปไม่ถึงไหน หลายคดีจบแบบน่ากังขา เช่น คดีสลายม็อบเสื้อแดง คดี GT200 คดีอุทยานราชภักดิ์ คดีเรือเหาะ คดีทหารที่เสียชีวิตจากการฝึก คดีนาฬิกาหรู ฯลฯ

พอผลของคดีชัยภูมิออกมาเช่นนี้ ก็ยิ่งเติมความไม่พอใจต่อสถาบันนี้เข้าไปอีก

จนไม่รู้ว่าวันใดวันหนึ่งจะระเบิดออกมา และระเบิดออกมาในรูปแบบใด

ทางออกที่ดีที่สุด คือกองทัพควรสร้างความโปร่งใส เปิดให้ตรวจสอบทุกคดีที่ถูกกล่าวหาอย่างตรงไปตรงมา อย่านำสถาบัน (หรือใช้อิทธิพลของสถาบัน) ไปอุ้มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพียงเพราะถือว่าเป็นรุ่นพี่รุ่นน้อง เป็นผู้บังคับบัญชา เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา หรือเป็นคนที่มีอาชีพเดียวกัน

“น้ำผึ้งหยดเดียว” ไม่ใช่สำนวนที่เกิดขึ้นมาลอยๆ ลองกลับไปถามใจตัวเองดูก็ได้ว่า เหตุใดการตายของนักกิจกรรมชนกลุ่มน้อย วัย 17 ปี ที่เกิดจากฝีมือพลทหารเพียงคนเดียว ถึงเขย่าความน่าเชื่อถือของกองทัพได้มากมายขนาดนี้

พงศ์ บัญชา
0Article
0Video
0Blog