นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ เชิญผู้เกี่ยวข้องกับยางพาราเข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนหารือเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤติยางพารา เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมศรียะลา อ.เมือง จ.ยะลาโดยเสนอแนวคิดเบื้องต้นว่า ปัญหาเรื่องยางพาราต้องแก้ด้วยหลายมาตรการ ข้อแรกคือ แก้กฎหมายเก่าๆ เช่น พ.ร.บ.สงเคราะห์กองทุนสวนยาง และ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยที่ประเทศต้องการให้คนปลูกยางจำนวนมาก แต่ปัจจุบันปัญหาได้เปลี่ยนไปแล้ว ขณะนี้เราไม่ต้องส่งเสริมให้ปลูกยางเพิ่ม แต่จะทำอย่างไรให้พื้นที่ปลูกยางลดลง และจะทำอย่างไรไม่ให้เกษตรกรชาวสวนยางเดือดร้อน ควรมีมาตรการแทรกแซง เช่น การปลูกพืชอื่นเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น
ประการที่ 2 คือ ต้องมีการวิจัยพัฒนายาง โดยไม่พึ่งการส่งออก เพื่อให้จีนผลิตยางรถยนต์อย่างเดียว เพราะยางสามารถนำไปแปรรูปเป็นสินค้าอีกหลายประเภท เช่น เสาไฟฟ้าหรือรางรถไฟ หากวิจัยเติมสารเคมีน่าจะทำให้แข็งได้ หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์เล็กๆ เช่น กรอบแว่นตา เข็มขัด ก็สามารถแปรรูปได้ ซึ่งการเริ่มต้นอุตสาหกรรมอาจต้องใช้ทุนสูง รัฐบาลต้องมีอะไรจุนเจือประชาชน เราต้องพัฒนาอุตสาหกรรมให้กระจายออกไปหลายชนิด ต้องอาศัยการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ทดแทนการส่งออกน้ำยางให้จีนเพียงอย่างเดียว
ประการที่ 3 เราจะทำ "บาร์เตอร์เทรด" เช่น การซื้อน้ำมันแลกกับยางพารา เพราะต่างประเทศเขาต้องการยางพารา ส่วนเราต้องการน้ำมัน ก็ให้แลกเปลี่ยนสินค้ากัน เช่นเดียวกับหลายประเทศก็มีการใช้วิธีการบาร์เตอร์เทรด เช่น มาเลเซียจ้างจีนทำรางรถไฟจากปาดังเบซาร์ไปยังกัวลาลัมเปอร์โดยไม่ได้จ่ายด้วยเงินสดทั้งหมด ในจำนวนนี้ร้อยละ 10 ผ่อนจ่ายระยะยาว อีกร้อยละ 50 จ่ายด้วยน้ำมันปาล์ม ฉะนั้นเกษตรกรชาวสวนปาล์มมาเลเซียจึงไม่เดือดร้อน เพราะรัฐบาลได้แลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างประเทศกันได้
เช่นเดียวกับซาอุดีอาระเบียได้จ้างจีนสร้างรางรถไฟระยะทางยาวเชื่อมทั้งประเทศ จากนครเจดดาห์ ไปนครมาดินะห์ ไปกรุงริยาด รวมเป็นเงินหลายแสนล้านบาท แต่รัฐบาลซาอุดีอาระเบียไม่ต้องจ่ายเงินแม้แต่บาทเดียว เพราะเอาน้ำมันไปแลกกับจีน สมประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย ซาอุดีอาระเบียได้รถไฟ ส่วนจีนได้น้ำมัน
ขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยซื้อเครื่องบิน เรือรบ รถถังจำนวนมาก ทำไมไม่แลกกับพืชผลทางการเกษตรของเกษตรกร พรรคประชาชาติมุ่งทำเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนอย่างแท้จริง หากรัฐบาลคิดแต่ผลประโยชน์กันก็ไม่สมควรเป็นรัฐบาล
นายมูฮัมหมัดฟาฎิล สตอพา เจ้าของสวนยางพาราจาก อ.ยะหา จ.ยะลา เป็นหนึ่งในตัวแทนที่มาร่วมสะท้อนปัญหา บอกว่า ราคายางตกต่ำมากเกินไป ในขณะที่มีค่าครองชีพสูง จนมีปัญหา ไม่มีเงินส่งลูกเรียน เพราะตนมีรายได้หลักมาจากสวนยาง ซึ่งหากราคายางพาราสูงเหมือนเมื่อก่อนก็จะสามารถเลี้ยงครอบครัว และคิดว่าราคาที่ชาวสวนยางพึงพอใจตามสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันคือไม่ต่ำกว่า 80 บาทต่อกิโลกรัมและตนได้เสนอแนะต่อพรรคประชาชาติว่าหากได้เป็นรัฐบาล ให้จัดตั้งศูนย์รับยางพาราและกระจายสินค้าออกไป ปัจจุบันมีพ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อยางส่งขายให้โรงงาน แต่เกษตรกรมักถูกเอาเปรียบด้านราคาเสมอมา ซึ่งหากมีศูนย์ในตำบลก็จะสามารถควบคุมราคายางพาราได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :