ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มผู้ประกอบการขับรถรับ-ส่ง นักเรียน จ.เชียงราย พร้อมใจเข้าร่วมโครงการ “ภาคีเครือข่ายร่วมใจ เสริมสร้างระบบรถรับ-ส่งนักเรียน ปลอดภัย ปลอดอุบัติเหตุ” ต้นแบบสร้างมาตรฐาน ลดความสูญเสีย

จังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดหนึ่งที่ผู้ปกครองนิยมให้บุตรหลานมาโรงเรียน โดยใช้รถรับ-ส่งนักเรียน เนื่องจากมีความสะดวกสบาย รับส่งถึงบ้าน โดยการสำรวจปีการศึกษา 2561 พบว่า นักเรียนทุกระดับใช้บริการรถรับ-ส่ง มีถึง 38,140 คน มีรถรับ-ส่งจำนวน 1,680 คัน ซึ่งพบว่าสภาพรถบางคันไม่ได้มาตรฐาน อาจเกิดความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัย โดยเมื่อปี 2559 พบว่ามีกรณีเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล พลัดตกจากรถตู้รับส่งนักเรียน จึงเป็นที่มาของผู้ประกอบการพยายามรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายเพื่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัยให้กับชีวิตและทรัพย์สิน

นายสนอง อินต๊ะวงษ์ ประธานเครือข่ายฯ กล่าวว่า จากปัญหาการเกิดอุบัติเหตุกับรถนักเรียนดังกล่าว ทำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสูญเสีย จึงพยายามรวมกลุ่มกัน เพื่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัย แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ ผู้ประกอบการบางคนไม่มีเงินพอที่จะปรับปรุงรถให้ได้มาตรฐานตามที่กรมการขนส่งระบุ จึงหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรฐานที่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้ามาร่วมกับเครือข่ายได้ก่อน แล้วให้เวลาเพื่อปรับปรุงรถ เพราะหากรถคันใดที่ไม่เข้าร่วมเครือข่าย อาจจะไม่ได้รับการพิจารณาให้บริการรับ-ส่ง นักเรียน และจะไปแอบรับ-ส่งเอง ยิ่งเกิดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ ด้วยความร่วมมือจึงมีมาตรฐานของระดับจังหวัดขึ้นมา หลังดำเนินการจริงจังมาระยะหนึ่งพบว่ามีผู้ประกอบการรถมาเข้าร่วมเกือบ 500 คันแล้ว ตั้งเป้าว่าสิ้นปีนี้จะทำให้ผู้ประกอบการเข้ามาในเครือข่ายให้ได้ 700 คัน

IMG_20180614_143033.jpg

นายสนอง กล่าวว่า รถรับ-ส่ง นักเรียน มีอยู่ 3 ประเภท คือ รถรับจ้างไม่ประจำทาง ทะเบียน 30 และ 36 ,รถตู้ส่วนบุคคล ทะเบียน นข และรถโดยสารประจำทาง ซึ่งรถตู้ทะเบียน นข พบว่ามีเป็นจำนวนมากที่สุดที่นำมารับส่งนักเรียน ดังนั้นจึงต้องการดึงผู้ประกอบการกลุ่มนี้เข้ามา  โดยใช้มาตรฐานที่ผ่านการหารือกับทางจังหวัดจะมีความผ่อนปรนกว่ากรมการขนส่ง โดยมีโรงเรียนอาชีวะของจังหวัดเป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพรถให้ เมื่อผ่านแล้วจะได้รับสติกเกอร์ที่เป็นเหมือนใบอนุญาต แต่จะอนุโลมให้ถึงปีหน้าเท่านั้น หลังจากนั้นรถทุกคันต้องปรับปรุงให้ได้มาตรฐานของกรมการขนส่ง รถคันใดที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว จะมีสติ๊กเกอร์ติดที่หน้ารถแสดงสัญลักษณ์ว่าผ่านการตรวจสอบแล้ว มีความปลอดภัยในการรับส่งนักเรียน  

“ผลดีที่เกิดขึ้น คือตั้งแต่ทำเป็นภาคีเครือข่ายไม่มีอุบัติเหตุทางถนนกับรถรับ-ส่ง นักเรียนเลย มาตรการที่จังหวัดออกมาบังคับใช้กับผู้ประกอบการรถในเบื้องต้น ถือว่าได้ดึงกลุ่มคนที่อยู่ในความมืดออกมาแสดงตัวก่อน แล้วหลังจากนั้นจะได้ช่วยกันพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น ซึ่งที่ จ.เชียงราย ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการจะเป็นรถตู้ถึงร้อยละ 90 “ นายสนอง กล่าว