ไม่พบผลการค้นหา
เชฟรอน-ปตท.สผ. ยื่นเอกสารประมูลแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติเอราวัณ-บงกช คาดนำชื่อผู้ชนะเข้า ครม. ภายใน ธ.ค. 2561 ฟากเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า สืบเนื่องจากแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณ-บงกชทั้งสองแห่ง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตก๊าซฯ ที่มีความสำคัญกับประเทศกำลังจะสิ้นอายุสัมปทานปี 2565 กระทรวงพลังงานจึงได้สั่งให้เปิดประมูลเป็นการทั่วไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กพช.) เมื่อเดือน พ.ค. 2559 

ขณะเดียวกัน มีการปรับแก้กฎหมาย พ.ร.บ. ปิโตรเลียม โดยเพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) และระบบจ้างบริการ (SC) ไปด้วย นอกเหนือจากระบบสัมปทาน พร้อมทั้งการออกกฎหมายลำดับรองเพื่อรองรับ ซึ่งผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์ มาเป็นลำดับ 

ในส่วนของขั้นตอนการเปิดประมูล กระทรวงพลังงานได้เริ่มประกาศเชิญชวนผู้สนใจร่วมประมูลมาตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย. 2561 ซึ่งภายหลังมีผู้สนใจทั้งจากประเทศในแถบยุโรป สหรัฐฯ จีน ไทย และประเทศในแถบตะวันออกกลาง ได้แก่ บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม จำกัด, บริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด, บริษัท Mitsui Oil Exploration Co., Ltd., บริษัท โททาล อี แอนด์ พี ไทยแลนด์ จำกัด, บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), บริษัท โอเอ็มวี แอคเทียนวีเซลสคาฟท และกิจการร่วมค้าพลังงานสะอาด 101, Haicheng Petroleum Machinery Manufacture Group, AL Jaber group เป็นต้น 

ทั้งนี้ บริษัท OMV Aktiengesellschaft จากประเทศออสเตรีย และบริษัทจากจีน ซึ่งก็คือ กิจการร่วมค้าพลังงานสะอาด 101 , Haicheng Petroleum Machinery Manufacture Group, AL Jaber group ได้ถอนตัวจากการประมูล เนื่องจากแหล่งเอราวัณ-บงกชมีความซับซ้อน และดำเนินการยาก ต้องอาศัยความคุ้นเคยและความชำนาญในพื้นที่จึงจะสามารถดำเนินการได้ 

บริษัทไทย-เทศผ่านคุณสมบัติ 4 ราย

ดังนั้น จึงเหลือบริษัทที่แสดงความจำนงและผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นสำหรับการดำเนินงานในแปลง G1/61 (เอราวัณ) จำนวน 4 ราย ได้แก่ 

1. บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd. 

2. บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited 

3. บริษัท Total E&P Thailand 

4. บริษัท MP G2 (Thailand) Limited 

แปลง G2/61 (บงกช) จำนวน 3 ราย ได้แก่ 

1. บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd. 

2. บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited 

3. บริษัท MP L21 (Thailand) Limited

หลังจากนั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้เปิดห้อง Data Room ให้ผู้เข้าร่วมประมูลได้ศึกษาข้อมูลแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61(เอราวัณ) และ G2/61 (บงกช) อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อจัดทำข้อเสนอด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ 

ส่วนวันนี้ (25 ก.ย. 2561) กำหนดให้ผู้ที่มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลที่ผ่านหลักเกณฑ์ตามขั้นตอนต่างๆ เข้ายื่นแผนการดำเนินงาน งบประมาณการลงทุน ข้อเสนอทางด้านเทคนิค และผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ ตามเงื่อนไขหลักสำคัญที่ระบุไว้ ใน TOR เพื่อขอรับการคัดเลือกเป็นผู้ดำเนินการสำรวจ พัฒนาและผลิตก๊าซธรรมชาติ ทั้ง 2 แปลง ร่วมกับภาครัฐให้เกิดความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องยื่นเอกสารจำนวน 4 ซอง ประกอบด้วย

ซองที่ 1 เอกสารด้านคุณสมบัติของผู้ประกอบการปิโตรเลียมตามกฎหมาย

ซองที่ 2 เอกสารข้อเสนอด้านหลักการและเงื่อนไขการให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุน

ซองที่ 3 เอกสารข้อเสนอด้านเทคนิค ซึ่งประกอบด้วยแผนงานช่วงเตรียมการ แผนงานการสำรวจ และ แผนการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม 

ซองที่ 4 เอกสารข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ และสัดส่วนการจ้างพนักงานไทย ซึ่งหลังจากยื่นซองแล้วจะใช้เวลาเพื่อพิจารณาหาผู้ชนะการประมูล และคาดว่าจะสามารถนำเสนอชื่อผู้ชนะการประมูลไปยังคณะรัฐมนตรีภายในเดือน ธ.ค. 2561

เซฟรอน-ปตท.สผ. ยื่นประมูลแหล่งปิโตรเลียม

สำหรับวันนี้ (25 ก.ย.) มีผู้ประกอบการมายื่นคำขอประมูลในฐานะผู้ดำเนินงาน 

แปลง G1/61 จำนวน 2 ราย ได้แก่ 

1. บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท เอ็มพีจี 2 (ประเทศไทย) จำกัด

2. บริษัท เซฟรอน ประเทศไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซ์โปลเรชั่น คัมปานี ลิมิเต็ด

แปลง G2/61 จำนวน 2 ราย ได้แก่

1. บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด 

2. บริษัท เชฟรอน ไทยแลนด์ โฮลดิ้ง จำกัด ร่วมกับ บริษัท มิตซุยออยล์ เอ็กซ์โปลเรชั่น คัมปานี ลิมิเต็ด

ทั้งนี้ การดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ อย่างโปร่งใส และมีการเปิดเผยทุกขั้นตอนต่อสาธารณชนผ่านสื่อ และเว็บไซต์ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมาโดยตลอด โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นหลักประกันว่าประเทศและประชาชนจะมีก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพลังงานในประเทศใช้อย่างต่อเนื่องในราคาที่ไม่แพง

คปพ. ยืนยันค้านเต็มที่-แจงไม่กระทบราคาพลังงานในประเทศ

วันนี้ (25 ก.ย.) เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้ออกแถลงการณ์ ความว่า ตามที่ประชาชนจำนวนมากได้เรียกร้องให้รัฐบาลชะลอการให้เอกชนยื่นซองประมูลปิโตรเลียมสำหรับแหล่งก๊าซเอราวัณและบงกช เนื่องจากข้อกำหนดการประมูล (TOR) ยังไม่เหมาะสม ไม่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและประชาชน และเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้เตือนให้กระทรวงพลังงานตรวจสอบคุณสมบัติผู้เข้าประมูลให้รอบคอบก่อน ในประเด็นการค้าน้ำมันเถื่อน และการเรียกสินบนจากบริษัท โรลส์รอยซ์ นั้น

ปรากฏว่า กระทรวงพลังงานยังไม่ยอมชะลอ และเปิดรับซองประมูลในวันนี้ โดยอ้างว่า ต้องรีบเร่งดำเนินการ เพราะการส่งมอบการผลิตเพื่อให้ต่อเนื่องต้องใช้เวลาเตรียมการ

คปพ. เห็นว่า กระทรวงพลังงานไม่มีความจริงใจที่จะหยิบยกปัญหาคุณสมบัติผู้เข้าประมูลทั้งสองกรณีขึ้นพิจารณา จึงอาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เพราะเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้เคยแจ้งเรื่องดังกล่าวไปยังกระทรวงพลังงาน ตั้งแต่วันที่ 7 ธ.ค. 2560 แต่กระทรวงพลังงานกลับออกประกาศเชิญชวนโดยมิได้เผื่อเวลาสำหรับการตรวจสอบสองเรื่องนี้ และมิได้ชี้แจงต่อสาธารณะแต่อย่างใด

ทั้งนี้ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ขอให้ข้อเท็จจริง กรณีมีการอ้างว่า หากไม่ดำเนินการเปิดประมูลในวันนี้ การส่งมอบการผลิตปิโตรเลียมอาจจะขาดช่วง ทำให้จำเป็นต้องเร่งนำเข้าก๊าซและน้ำมันเพิ่มขึ้น จะกระทบต่อราคาพลังงานนั้น เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ขอชี้แจงว่า หากมีการขาดช่วงการผลิตปิโตรเลียมขึ้น ก็จะไม่กระทบประชาชนทั่วไปแต่อย่างใด เพราะรัฐบาลนี้ใช้นโยบายราคาน้ำมันอ้างอิงราคานำเข้าจากประเทศสิงคโปร์อยู่แล้ว ส่วนก๊าซหุงต้ม แม้ผลิตในไทยก็อ้างอิงราคานำเข้าจากประเทศซาอุดิอาระเบีย ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติ ณ ปากหลุมผลิตที่ผ่านมาก็กำหนดไว้สูงกว่าราคาตลาดโลกที่สหรัฐฯ ถึงกว่าสองเท่า

ดังนั้น ถึงหากแม้การผลิตและการส่งมอบจะขาดช่วงไปจนต้องนำเข้า ราคาพลังงานจะไม่สูงกว่าปัจจุบัน เพราะที่ผ่านมาแม้มีการผลิตปิโตรเลียมในประเทศได้ แต่ประชาชนก็ซื้อพลังงานในราคาสูงเสมือนนำเข้าอยู่แล้ว ดังนั้น กระทรวงพลังงานไม่อาจจะหยิบยกข้ออ้างว่าพลังงานจะแพงขึ้นหากชะลอการประมูลออกไป เพื่อจะหลีกเลี่ยงการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายให้ครบถ้วนได้แต่อย่างใด

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จะดำเนินการทางกฎหมายต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องให้ถึงที่สุดต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :