"การมาทำงานเกี่ยวกับตรงนี้ ทำให้ผมเห็นการสูญเสียสิ่งที่รัก แทบทุกเคสที่ติดต่อเข้ามาจะร้องไห้ด้วยความเสียใจ จนเกิดความเข้าใจว่า การเลี้ยงสัตว์ตัวหนึ่งตั้งแต่เล็กจนโต ก็เหมือนเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้อยู่ในครอบครัว มันมีความรัก ความผูกพัน งานของเราจึงทำตามความรู้สึกของเจ้าของสัตว์ ในเมื่อลูกค้ารัก เราก็ต้องรัก และทำออกมาให้ดีที่สุด" อภิวัฒน์ เจนเชี่ยวชาญ หนึ่งในทีมงาน www.สต๊าฟสัตว์.com บอกกับทีมข่าววอยซ์ทีวีออนไลน์
ภาพจาก : www.สต๊าฟสัตว์.com
ย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน เขาและกลุ่มเพื่อนมีโอกาสได้ไปดูสาธิตการสตัฟฟ์สัตว์ของคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่งานเกษตรแฟร์ จึงเกิดความสนใจ และส่งตัวแทนกลุ่มไปอบรมที่คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ แล้วนำกลับมาถ่ายทอดให้เพื่อนๆ ในกลุ่มได้เรียนรู้และพัฒนาจนกลายเป็นธุรกิจขนาดเล็ก
"ตอนนั้นยังไม่คิดว่าจะนำมาทำเป็นอาชีพ เพราะมีงานประจำอยู่แล้ว จนมาช่วง 6-7 ปีหลัง กลุ่มเพื่อนอยากมีเว็บไซต์เพื่อรับงานสตัฟฟ์สัตว์ ด้วยความที่ตนเองมีความรู้เกี่ยวกับไอที จึงเข้ามามีส่วนร่วม ตั้งแต่การออกแบบเว็บไซต์ ดูแลเว็บไซต์ รับงานจากลูกค้า ไปจนถึงการลงมือสตัฟฟ์สัตว์"อภิวัฒน์ กล่าว
ภาพจาก : www.สต๊าฟสัตว์.com
ก่อนที่จะตกลงรับงานจะมีการตรวจสอบก่อนว่าเป็นสัตว์ชนิดใด สาเหตุการตาย ระยะการตาย เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อโรคที่มาพร้อมสัตว์ และยังต้องทำความเข้าใจกับลูกค้าด้วยว่า งานที่ทำออกมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว อาจจะเหมือนตอนที่สัตว์มีชีวิตอยู่เพียง 70-80% เท่านั้น ถ้าลูกค้ารับได้ ถึงจะตกลงรับงาน
นอกจากนี้กฎเหล็กสำคัญ คือไม่รับทำ สัตว์สงวน สัตว์คุ้มครอง หากมีความประสงค์ที่จะทำจริงๆ ต้องมีใบอนุญาต ถ้าไม่มีจะไม่รับทำโดยเด็ดขาด เพราะต้องป้องกันตัวเองด้วย
จากนั้นจะมีการตกลงราคา มีตั้งแต่ราคา 1,500 จนถึงหลักแสนบาท ขึ้นอยู่กับขนาดของสัตว์ ถ้าลูกค้าอยู่ละแวกใกล้เคียงจะมีบริการรับส่ง หากอยู่ไกลลูกค้าต้องเดินทางนำสัตว์มาเอง
ภาพจาก : www.สต๊าฟสัตว์.com
จากนั้นจะมีการตกลงราคา มีตั้งแต่ราคา 1,500 จนถึงหลักแสนบาท ขึ้นอยู่กับขนาดของสัตว์ ถ้าลูกค้าอยู่ละแวกใกล้เคียงจะมีบริการรับส่ง หากอยู่ไกลลูกค้าต้องเดินทางนำสัตว์มาเอง
เมื่อสัตว์ตายแล้วหากเป็นสัตว์ขนาดเล็ก ก็จะนำไปแช่แข็ง หลังจากนั้นภายใน 1 สัปดาห์ต้องนำมาสตัฟฟ์ สำหรับสุนัขพันธุ์เล็กไม่ควรเกิน 3 วัน ส่วนสุนัขขนาดใหญ่ต้องนำมาสตัฟฟ์ภายใน 1 วันเท่านั้น
ทั้งนี้ระยะเวลาการสตัฟฟ์สัตว์ ขนาดเล็กใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง ขนาดใหญ่ 2-3 ชั่วโมง จากนั้นเป็นขั้นตอนการรอให้แห้ง ให้กลิ่นหาย แล้วจึงนัดให้ลูกค้ามารับรวมๆ แล้วประมาณ 1 เดือน
"กลุ่มลูกค้าหลักๆ เป็นกลุ่มที่มีรายได้ค่อนข้างดี สัตว์ส่วนใหญ่ที่จะนำมาสตัฟฟ์คือ สุนัข แมว กระรอก กระต่าย และปลา หากเป็นสัตว์ขนาดใหญ่จำพวก จระเข้ วัว สิงโต นานๆ จะมีเข้ามา ส่วนใหญ่จะเป็นสวนสัตว์นำมาสตัฟฟ์" อภิวัฒน์ กล่าว
นับตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ เขากระโดดเข้ามาทำธุรกิจสตัฟฟ์สัตว์เป็นเวลาร่วม 10 ปีแล้ว แต่โอกาสการขยายตัวธุรกิจยังคงทรงตัว ทำให้ทุกวันนี้ยังต้องทำงานอิสระควบคู่กันไป ที่ยังไม่ล้มเลิกความตั้งใจ เป็นเพรามองว่าการสตัฟฟ์สัตว์เป็นงานศิลปะอย่างหนึ่ง อีกทั้งเวลามาทำงานได้มาเจอกลุ่มเพื่อนที่คุ้นเคย โดยคาดว่าในอนาคตจะมีหน้าร้าน พร้อมทำแผนโปรโมตร้านให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น เมื่อถึงจุดนั้นเชื่อว่าธุรกิจน่าจะไปต่อได้ เนื่องจากปัจจุบันทั่วประเทศมีร้านที่รับทำสตัฟฟ์สัตว์อย่างจริงจังไม่เกิน 5 ราย
"ผมเคยมองโมเดลธุรกิจของต่างประเทศที่มีศูนย์กลางคอยรับงาน แล้วกระจายงานไปยังเครือข่ายทั่วประเทศ พร้อมกับมีบริการรับส่งด้วย ตรงนี้ยังต้องศึกษาอีกมาก ต้องวางแผนดีๆ " อภิวัฒน์ กล่าว