ไม่พบผลการค้นหา
‘ชัยธวัช‘ ย้ำร่าง รธน.ฉบับใหม่ต้องยึดโยงประชาชน แนะควรหาฉันทามติจากความเห็นทุกฝ่าย ชี้ต้องออกแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้สอดคล้องกับสังคมสมัยใหม่

วันที่ 10 ธ.ค. ที่ลานประชาชน อาคารรัฐสภา ในการเสวนาหัวข้อ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หน้าตาเป็นอย่างไร“ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญสำหรับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะมีสองส่วนสำคัญ ประการแรก ต้องยึดโยงกับหลักอำนาจสถาปนาเป็นของประชาชนให้มั่น กระบวนการทำประชามติที่มาจาก ส.ส.ร. ต้องยึดโยงกับหลักการนี้ 

ชัยธวัช กล่าวว่า พรรคก้าวไกลต้องการให้ทำประชามติทั้ง 3 ครั้ง การทำประชามติครั้งแรกสำคัญ เพราะหากประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย ข้อเสนอต่างๆ จากพรรคการเมืองก็ถือว่าได้รับอำนาจจากประชาชน เมื่อ ส.ส.ร. ทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ก็ควรทำประชามติอีกรอบ แม้จะเสียทั้งเงินและเวลาแต่ก็ต้องให้ความสำคัญ 

ประการที่สอง ทั้งกระบวนการและเนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรตอบโจทย์สภาพการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน เพราะเราต้องยอมรับว่าเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา เราไม่สามารถที่จะหาฉันทามติร่วมกันได้ ดังนั้น การที่เราจะเห็นตรงกันเราอยู่กันได้อย่างมีความแตกต่างอยู่ ถือเป็นโจทย์ที่สำคัญที่จะเชื่อมโยงตั้งแต่การออกแบบกระบวนการต่างๆ ซึ่งไม่ควรมีการกีดกันกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง 

ชัยธวัชกล่าวต่อว่า เราควรออกแบบกระบวนการให้ตอบโจทย์ เพื่อให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สร้างฉันทามติในสังคม ฉันทามติในทางการเมืองครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2540 ที่เป็นการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่หลังเหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 ซึ่งเสริมสร้างให้ระบบการเมืองมีความเข้มแข็งมากขึ้น แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับถูกฉีกในปี 2549 ในเวลาไม่ถึง 10 ปี โจทย์เก่าที่คิดว่ามีคำตอบแล้วกลับยังไม่มีคำตอบ และเมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหารในปีนั้น ก็ยิ่งเพิ่มโจทย์ใหม่ๆ มา หากจะสร้างฉันทามติครั้งใหม่ ก็นำโจทย์จากแต่ฝ่ายเป็นตัวตั้ง เพื่อออกแบบร่วมกัน 

“โจทย์แรก ต้องยอมรับว่ารัฐประหารไม่ใช่คำตอบ แม้แต่ฝ่ายที่ยอมให้เกิดรัฐประหารเพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองเฉพาะหน้า ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่น่าจะได้คำตอบแล้วว่า ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ ไม่มีทางลัด” ชัยธวัช กล่าว 

ชัยธวัช กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรออกแบบเพื่อป้องกันการเกิดรัฐประหาร และต้องคำนึงถึงการลบล้างความผิดในการรัฐประหารในอดีตด้วย โจทย์ที่สอง ต้องออกแบบให้มีการแข่งขันอย่างมีคุณภาพ ในระบบรัฐสภาของพรรคการเมือง 

รวมถึงโจทย์ที่สาม ในปี 2540 เราเคยออกแบบให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจมาก และคิดว่ากลไกในการตรวจสอบผู้ใช้อำนาจจะสามารถถ่วงดุลได้ ปรากฏว่ากลไกที่ออกแบบ เพื่อตรวจสอบนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ให้ฉ้อฉล กลายเป็นองค์กรที่ฉ้อฉลในการใช้อำนาจเสียเอง เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ต้องมีกลไกมาตรวจสอบผู้ใช้อำนาจ แต่คนที่มาตรวจสอบคนอื่น จะถูกตรวจสอบได้อย่างไร และมีอะไรที่ยึดโยงกับประชาชนได้บ้าง

ชัยธวัช กล่าวทิ้งท้ายว่า โจทย์สุดท้าย เราจะออกแบบระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้มีความยั่งยืนและสอดคล้องกับสังคมสมัยใหม่อย่างไร นี่เป็นโจทย์ทั้งหมดที่เราควรคิด เพื่อใช้โอกาสนี้ในการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อสร้างฉันทามติใหม่ให้กับสังคมไทย

'นิกร‘ แนะต้องถอดบทเรียนแก้ รธน. จากปี 2540

ด้าน นิกร จำนง ในฐานะประธานอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน กล่าวถึงประสบการณ์การมีส่วนร่วมในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 ซึ่งถือว่าน่ายินดี เพราะมีส่วนร่วมจากประชาชนค่อนข้างมาก แต่ก็ประสบปัญหาตรงที่รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไม่ได้มีการแก้ไข อีกทั้งยังแก้ยาก ส่งผลให้ฝ่ายการเมืองมีอำนาจมากเกินไป ดังนั้น จึงเห็นว่าวันนี้ควรมีรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน

นิกร ย้ำว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จึงต้องมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) พร้อมย้ำข้อเสนอว่า สัดส่วนของวุฒิสภาที่มีสิทธิออกเสียง ก็ทำให้แก้ยากอีก จึงเสนอว่าในครั้งนี้ควรใช้เสียงเพียง 2 ใน 3 เพื่อให้มีเพียงสภาผู้แทนราษฎรจับมือกัน ก็สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ เนื่องจากทุกวันนี้โลกหมุนเร็ว ปัญหาของปี 2540 ก็อาจไม่ใช่ปัญหาของวันนี้ และปัญหาของวันนี้ก็คงไม่ใช่ปัญหาของ 10 ปีข้างหน้า

“ถ้าเราเขียนรัฐธรรมนูญไว้ให้มันอ่อนตัว แก้ไขได้ ประชาชนสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ในอนาคต รัฐธรรมนูญที่ถูกฉีกก็จะไม่มี เพราะเหตุที่รัฐธรรมนูญถูกฉีกก็เพราะแก้ไขยาก” นิกร กล่าว 

นิกร ยังกล่าวต่อไปถึงประสบการณ์จัดทำรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ซึ่งรัฐบาลต้องมีสัญญากับประชาชนก่อน ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันนี้มีแล้วในคำแถลงนโยบาย คือ รัฐบาลจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งแตกแยกในเรื่องรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความประชาธิปไตยมากขึ้น ตีความได้ว่าเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะตั้งคณะทำงานเรื่องนี้โดยเฉพาะ โดยมี ภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาที่ซับซ้อน ซึ่งในขณะนี้ได้รับฟังความเห็นจากประชาชนทุกกลุ่มและทุกภูมิภาคแล้ว เหลือเพียงแต่สมาชิกรัฐสภา ซึ่งในวันที่ 13 ธ.ค. นี้ สมาชิกรัฐสภาจะทำแบบสอบถามความเห็นต่อประชามติ และในวันที่ 18-20 ธ.ค. นี้ จะรับฟังคำตอบ เพื่อสรุปความเห็นในวันที่ 22 ธ.ค. และวันที่ 25 ธ.ค. นายภูมิธรรม จะนัดประชุมคณะกรรมการฯ ชุดใหญ่ เพื่อหาข้อสรุป

หลังจากนั้น ช่วงเดือน เม.ย. ก็จะเริ่มทำประชามติครั้งแรก หรือหากมีพรรคการเมืองเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อน และวินิจฉัยว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็อาจจะเริ่มเร็วกว่านั้นได้ แต่ข้อที่เป็นห่วงคือ ประชาชนจะออกมาใช้สิทธิถึง 26 ล้านคนหรือไม่ และมีผู้เห็นชอบรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 13.5 ล้านคนหรือไม่ ตามระบบเสียงข้างมาก 2 ชั้น ซึ่งวันพรุ่งนี้ (11 ธ.ค.) ตนเองจะเดินทางไปสอบถามแนวทางกับสถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีการทำประชามติบ่อยครั้งมาก

“ทั้งหมดนี้ ผมพูดในนามผู้ปฏิบัติหน้าที่ว่าเราจะทำให้จนได้ ด้วยความตั้งใจ จริงใจเต็มที่ เพื่อให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเป็นรูปธรรม” นิกร กล่าวทิ้งท้าย