เมื่อวันที่ 22 พ.ย. เวลา 11.00 น. ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษา (ชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์) คดีหมายเลขดำที่ อม.อธ.4/2561 หมายเลขแดงที่ อม.อธ. 6/2562 ระหว่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โจทก์ นายทักษิณ ชินวัตร จำเลย เรื่อง ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ มีคำพิพากษาในสาระสำคัญ ว่า แม้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยตรงให้อำนาจกระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้บริหารแผนของบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ ลูกหนี้ ก็ตาม แต่กระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่หลักในการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะ รวมถึงการพยุงสภาวะเศรษฐกิจของประเทศมิให้เกิดความเสียหายมากจนยากแก่การแก้ไข
การเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนของทีพีไอ ซึ่งประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่ของประเทศ ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน หากทีพีไอไม่สามารถฟื้นฟูได้ และตกเป็นผู้ล้มละลาย กิจการเหล่านั้นอาจหยุดชะงัก ประเทศชาติ และประชาชนย่อมได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ พฤติการณ์ย่อมมีความจำเป็นอย่างยิ่ง และเร่งด่วนที่กระทรวงการคลังจะต้องดำเนินการ เมื่อได้รับการร้องขอให้ช่วยเหลือ กระทรวงการคลังจึงเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนของทีพีไอได้
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยเป็นผู้ริเริ่ม ผลักดัน สั่งการ และเป็นตัวการร่วม รวมถึงไม่ทักท้วงการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เพื่อเปลี่ยนจากวาระเพื่อทราบเป็นวาระเพื่อพิจารณา มีผลให้กระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้บริหารแผนของทีพีไอ โดยมีเจตนาครอบงำกิจการของทีพีไอกับเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้องนั้น
ข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่า จำเลยเชิญตัวแทนของเจ้าหนี้ และผู้บริหารของทีพีไอเข้าหารือที่บ้านพิษณุโลกเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของทีพีไอ และการตั้งผู้บริหารแผนคนใหม่เท่านั้น แต่ที่ประชุมเจ้าหนี้มิได้เลือกกระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนตามข้อเสนอของจำเลย
หลังจากนั้นจำเลยก็ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุในคดีนี้อีก ทั้งต่อมา ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งไม่ตั้งบริษัทบริหารแผนไทย จำกัด เป็นผู้บริหารแผนตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ โดยเห็นควรขอให้กระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผน หากกระทรวงการคลังยินยอม ซึ่งในท้ายที่สุด ที่ประชุมเจ้าหนี้ โดยเห็นควรขอให้กระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผน และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งตั้งกระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ดังกล่าว โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ส่วนข้ออ้างเกี่ยวกับการครอบงำกิจการของทีพีไอ โดยอ้างคำกล่าว “นายอยากได้” คำว่า นาย หมายถึงจำเลย ผู้ที่พูดข้อความคือร้อยเอก สุชาติ เชาววิศิษฐ ไม่ใช่จำเลย จึงเป็นเพียงพยานบอกเล่า มีน้ำหนักน้อย ส่วนที่จำเลยเสนอชื่อคณะผู้บริหารแผนของทีพีไอ เป็นเพียงการเสนอความเห็นเบื้องต้นแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในเรื่องที่นำมาปรึกษาเท่านั้น และจะได้รับการแต่งตั้งหรือไม่ ต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายอีกขั้นหนึ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่า จำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารแผนฟื้นฟูกิจการของทีพีไอ หรือการบริหารกิจการ หรือเข้าไปรับโอนถือครองหุ้นของทีพีไอ
จึงรับฟังไม่ได้ว่า การเสนอชื่อคณะผู้บริหารแผนของจำเลย เป็นการเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง สำหรับข้ออ้างที่ว่าการขายหุ้นเพิ่มทุนของทีพีไอให้แก่หน่วยงานในกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง และศาลฎีกามีคำพิพากษาให้กระทรวงการคลังคืนเงินค่าจ้างบริษัทชินเนอจี โซลูชั่น จำกัด ที่บริหารจัดการกิจการทรัพย์สินของทีพีไอให้แก่ทีพีไอ ทำให้ทีพีไอ และกระทรวงการคลังได้รับความเสียหายนั้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งตั้งให้กระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนของทีพีไอแล้ว หากทีพีไอหรือกระทรวงการคลังได้รับความเสียหายอย่างไร ทีพีไอหรือกระทรวงการคลังก็อาจไปว่ากล่าวแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องต่อไป เมื่อไม่ปรากฏในทางไต่สวนว่า จำเลยได้เข้าไปเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นหรือมีพฤติการณ์ที่บ่งชี้ได้ว่า จำเลยมีเจตนาพิเศษประสงค์ต่อผลเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น การกระทำของจำเลย จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ตามฟ้อง ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
ทั้งนี้ เมื่อองค์คณะผู้พิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้องแล้ว ผลคดีจึงถือเป็นที่สุด โดยนายทักษิณอดีตนายกฯ ไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบในกรณีดังกล่าว โดยทั้งศาลฎีกาฯ และองค์คณะวินิจฉัยชั้นอุทธรณ์ มีคำพิพากษายืนให้ยกฟ้อง ทั้ง 2 ชั้นศาล
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :