เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงปัญหาข้อถกเถียงว่า เมื่อถูกศาลนครศรีธรรมราชตัดสินพิพากษาจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา และถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี ในคดีอาญาฐานร่วมกันกระทำความผิดในการทุจริตการเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราช เมื่อปี 2557 กรณีจัดเลี้ยงอาหาร เพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่า จะมีผลทันทีหรือไม่ เรื่องนี้ผู้ที่จะชี้ขาด คือศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหา โดยส่วนตัวเข้าใจว่า ตนยังไม่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองทันที และยังทำหน้าที่ ส.ส. ต่อไปได้ ซึ่งในรัฐธรรมนูญกำหนดคุณสมบัติ ตัดสิทธิ เมื่อถูกดำเนินคดีก่อนเป็น ส.ส. แต่เมื่อถูกตัดสิทธิระหว่างเป็นส.ส.จะต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะในรัฐธรรมนูญเขียนเรื่องคุณสมบัติไม่ชัดเจน
อีกทั้ง ความเห็นของนักวิชาการด้านกฎหมาย ยังเห็นไม่ตรงกันทั้งในส่วนของวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย, เจษฎ์ โทณวณิก อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ., คมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ดังนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ควรจะเป็นผู้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ และ กกต.ไม่ควรที่จะด่วนสรุปตัดสินเองว่า ตนพ้นจาก ส.ส.
ทั้งนี้ หาก กกต.ด่วนวินิจฉัยและจัดการเลือกตั้งซ่อม โดยไม่รอศาลรัฐธรรมนูญ ก็ต้องรับผิดชอบผลที่ตามมาด้วย
'ราเมศ' รอ กกต. ส่งศาล รธน. ตีความ 'เทพไท' ถูกตัดสิทธิการเมือง
ด้าน ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อถกเถียงกรณีเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ถูกศาลนครศรีธรรมราชตัดสินพิพากษาจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา และถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี ในคดีอาญาฐานร่วมกันกระทำความผิดในการทุจริตการเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราช เมื่อปี 2557 ว่า เรื่องนี้หลายฝ่ายมีความเห็นที่ไม่ตรงกันว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นเหตุให้สมาชิกภาพความเป็น ส.ส. สิ้นสุดลงหรือไม่ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เคารพในคำตัดสินของศาลยุติธรรม โดยพรรคจะไม่มีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตีความเรื่องสมาชิกภาพ ส.ส.ของเทพไท เพราะตามกฎหมาย ระบุไว้ชัดว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้
ทั้งนี้ ส่วนตัว เชื่อว่า กกต.จะส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความ หรืออีกช่องทาง คือ ให้ ส.ส.เข้าชื่อกัน 1 ใน 10 ของจำนวน ส.ส.ที่มีอยู่ เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง