เพราะอาจะเรียกได้ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด เพื่อปิดสวิตช์ สว. โดยใช้กลไกของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในการผลักดันร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (ยกเลิกมาตรา 272 ที่นำโดย ชัยธวัช ตุลาธน กับคณะ สส.ก้าวไกล เป็นผู้เสนอ โดยขอร่างดังกล่าวระบุเหตุผลว่า
"การที่มาตรา 272 ของรัฐธรรมนุญ กำหนดให้ สว. 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งมีอำนาจลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ สส. 500 คนที่มาจากการเลือกตั้ง โดยผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกของทั้งสองสภารวมกัน เป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ทั้งที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ของประเทศไทย และเป็นการปฏิบัติโดยทั่วไปในประเทศอื่นที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นการเปิดช่องให้ประเทศมีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากเสียงข้างมากของ สส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุุดในประเทศ ซึ่งทำให้ทั้งขาดความชอบธรรมและอาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศ จึงจำเป็นต้องตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ. ...."
โดยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเลิกมาตรา 272 เพื่อเป็นการปิดสวิตช์ สว.ฉบับนี้เป็นการยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เมื่อวันที่13 ก.ค. 2566 เห็นชอบให้ 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์' หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยเสียงเพียง 324 เสียง เป็นเสียงเห็นชอบที่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสองสภา
ร่างแก้ไขฉบับดังกล่าวเสนอไว้ 3 มาตรา สาระสำคัญคือให้รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ให้ยกเลิกมาตรา 272 แต่ทั้งนี้ มิให้มีผลกระทบต่อการเลือกนายกรัฐมนตรีที่ได้ดำเนินการไปแล้วก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับ
การแก้ไขรัฐธรรมนูญปิดสวิตช์ สว.ของพรรคก้าวไกล ครั้งล่าสุดนี้ ถือเป็นการเดินเกมแบบคู่ขนานกับช่วงที่มีการลงมติโหวตนายกรัฐมนตรี
โดย 'ชัยธวัช' ย้้ำถึงการแก้ปัญหาการโหวตนายกฯ ที่มี สว.คอยขัดขวางไม่ให้มีนายกฯ ที่มาจากเสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง ก็เพื่อไม่ให้ สว.กระทำการอะไรที่ไม่ขัดกับมโนธรรมสำนึกของ สว.ก็ยกเลิกมาตรานี้เสีย และคืนอำนาจการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นของประชาชน เมื่อตัดสินประชาชนตัดสินใจไปแล้วจะถูกจะผิดก็ไม่เกี่ยวกับ สว. นี่เป็นทางออกที่ดีที่สุด"
ที่ผ่านมารัฐสภามีการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในขั้นรับหลักการ เพื่อ ยกเลิกอำนาจ สว.โหวตเลือกนายกฯร่วมกับ สส. ไปแล้ว 6 ฉบับ แต่ไม่มีครั้งไหนที่ประสบผลสำเร็จแม้แต่ครั้งเดียว
ครั้งแรก พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเลิกอำนาจ สว. 2 ฉบับ
ทั้งนี้การลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในขั้นรับหลักการจะต้องมีเสียงของ สส.และสว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสองสภา และต้องมีเสียง สว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง
18 พ.ย. 2563 ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาเรื่องด่วนญัตติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยกเลิกมาตรา 272 โดยร่างฉบับที่ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่และคณะพรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอ ขอแก้ไขมาตา 159 ที่มานายกฯ จาก ส.ส. และยกเลิกมาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ โดยที่ประชุมรัฐสภา มีมติรับหลักการ 268 เสียง (สว.รับหลักการ 56 เสียง) ไม่รับหลักการ 20 เสียง งดออกเสียง 432 เสียง
ฉบับภาคประชาชนที่ จอน อึ๊งภากรณ์ในนามกลุ่ม โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 98,041 คน เป็นผู้เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยยกเลิกมาตรา 65 มาตรา 88 มาตรา 203 มาตรา 217 มาตรา 270 มาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ มาตรา 275 และมาตรา 279 ยกเลิกหมวด16 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 142 มาตรา 159 วรรคแรก มาตรา 162 วรรคแรก มาตรา 252 วรรคสอง มาตรา 256และมาตรา 269 และเพิ่มหมวด 17)
ที่ประชุมมีมติรับหลักการ 212 เสียง (สว.รับหลักการ 3 เสียง) ไม่รับ 139 เสียง งดออกเสียง 369 เสียง
ครั้งที่ 2 พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเลิกมาตรา272 จำนวน 2 ฉบับ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2564 ที่ประชุมรัฐสภาได้พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับในวาระที่1 ขั้นรับหลักการ โดยลงมตินับคะแนนแบบเปิดเผยข้ามวันจนถึงเวลา 01.30 น. วันที่ 25 มิ.ย. 2564
ที่ประชุมมีมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในฉบับที่13 ของ 3 พรรคร่วมรัฐบาลเพียงฉบับเดียว ที่เสนอแก้ไขระบบเลือกตั้ง ส.ส.ให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยมีมติรับหลักการ 552 เสียง (ส.ส. 342 เสียง ส.ว.210 เสียง) ไม่รับหลักการ 24 เสียง งดออกเสียง 130 เสียง ซึ่งมีเสียงของ ส.ว.ลงมติรับหลักการเกิน 1ใน 3 คือ 84 เสียง
ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 4 พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกลและฝ่ายค้าน เสนอแก้ไขที่มานายกฯ (มาจากบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง - ส.ส.ในพรรคที่มี ส.ส.ไม่น้อยกว่า 5%) และยกเลิก ม.272 ให้ ส.ว.เลือกนายกฯ โดยที่ประชุมมีมติรับหลักการ 455 เสียง (สว.รับหลักการ 15 เสียง) ไม่รับหลักการ 101 เสียง งดอกเสียง 150 เสียง
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 11 ที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย แก้ มาตรรา 159 ที่มานายกฯ จากบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง-ส.ส.ในสภาฯ ยกเลิก มาตรา 272 อำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ โดยมีมติรับหลักการ 461 เสียง (สว.รับหลักการ 21เสียง) ไม่รับหลักการ 96 เสียง งดออกเสียง 149 เสียง
ครั้งที่ 3 วันที่ 17 พ.ย. 2564 มีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม โดยยกเลิกมาตรา 65 แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 7 มาตรา 159 วรรคแรก เพิ่มมาตรา 193/1 มาตรา 193/2 แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 11 หมวด12 มาตรา 256 หมวด 16 ยกเลิกมาตรา 269 มาตรา 270 มาตรา 271 มาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ และมาตรา 279 )ในขั้นรับหลักการวาระที่ 1 เสนอโดย พริษฐ์ วัชรสินธุ ในนามกลุ่ม Re-Solution กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 135,274 คน เป็นผู้เสนอ
ที่ประชุมรัฐสภามีมติรับหลักการ 206 เสียง (แบ่งเป็น ส.ส. 203 ส.ว. 3) ไม่รับหลักการ 473 เสียง (ส.ส. 249 ส.ว. 224) งดออกเสียง 6 เสียง (ส.ส. 3 ส.ว. 3 )
ครั้งที่ 4 วันที่ 7 ก.ย. 2565 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา พิจารณาวาระร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (แก้ไขเพิ่มเติม) จำนวน 4 ฉบับ ในขั้นรับหลักการ
ทั้งนี้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 4 เป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ โดย สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.และประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทยกับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 64,151 คน เป็นผู้เสนอ ในขั้นรับหลักการวาระที่ 1
ที่ประชุมมีมติรับหลักการ 356 เสียง (ส.ว.รับหลักการ 23 เสียง) ไม่รับหลักการ 253 เสียง งดออกเสียง 53 เสียง
ครั้งนั้น สมชัย ศรีสุทธิยากร ในฐานะผู้ร่วมเสนอแก้ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ระบุว่า เป็นเรื่องดีที่ พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมพลังได้จับมือกับ ส.ว.ส่วนใหญ่ ไม่รับหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับ รวมถึงไม่เห็นด้วยกับการตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี แสดงว่า พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมพลัง เป็นพรรคการเมืองที่เห็นว่า สส.ไม่ควรมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีแต่เพียงลำพัง ต้องอาศัยวิจารณญาณของ สมาชิกวุฒิสภาด้วย ประชาชนจะได้จำแนกแยกแยะได้ถูกว่า การเลือกตั้งคราวหน้า ควรเลือกพรรคไหนเข้าสภา
ครั้งที่ 5 วันที่ 25 ม.ค. 2566 การประชุมร่วมกันของรัฐสภา พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ไขมาตรา 159 ให้สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบบุคคลเป็นนายกฯ จากผู้มีชื่อยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองที่แจ้งเป็นนายกฯ หรือ สส.ของพรรคการเเมือที่มีสมาชิกไดรับเลือกเป็นสส.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 พร้อมยกเลิกมาตรา 272 ซึ่ง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ ในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ
แต่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นการตัดอำนาจ สว.อีกครั้งก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง และเป็นฉบับที่ 7 ที่ถูกเสนอเข้าสูู่รัฐสภา แต่กลับไม่มีการลงมติ เพราะองค์ประชุมในช่วงท้ายสมัยประชุมรัฐสภา ล่มอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ร่างดังกล่าวต้องคาอยู่ในระเบียบวาระการประชุม จนกระทั่งรัฐสภาหมดสมัยประชุมเมื่อวันที่1 มี.ค. 2566 ส่วนสภาผู้แทนราษฎรก็หมดอายุตามวาระ 4 ปี ซึ่งต้องรอให้มี สส.ชุดใหม่และมีการเปิดสมัยประชุมรัฐสภาหลังการเลือกตั้ง
จะเห็นได้ชัดว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเลิกมาตรา 272 ปิดสวิตช์ สว.ลงมติเลือกนายกฯ ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมาที่ดำเนินการ สส.หรือแม้แต่ภาคประชาชน จำนวน 6 ฉบับที่มีการโหวตนั้น ไม่สามารถฝ่าด่านเสียงเห็นชอบรับหลักการของ สว. 1 ใน 3 ได้แม้แต่ครั้งเดียว
มีเพียงครั้งแรกและฉบับเดียวที่ สว.รับหลักการให้ปิดสวิตช์ตัวเองมากที่สุด คือฉบับของ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่และคณะพรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอ ที่ประชุมมีมติรับหลักการ 268 เสียง โดยจำนวนนี้มีเสียง สว.รับหลักการมากที่สุดถึง 56 เสียง แต่เสียงรับหลักการก็ไม่ถึงกึ่งหนึ่งและ สว.ก็ไม่ถึง 1 ใน 3
ดังนั้น ความพยายามจะปิดสวิตช์ สว.อีกครั้งในสมัยประชุมรัฐสภาปัจจุบันที่นำโดย สส.พรรคก้าวไกล คู่ขนานกับการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีที่ยังไม่ทราบว่าใครจะเป็นนายกฯนั้น คงไม่น่าจะผ่านความเห็นชอบจากสองสภาไปได้ง่ายๆ เหมือนที่มีการลงมติคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับก่อนหน้านั้น
เพราะสถานการณ์ได้เปลี่ยนไป ยิ่ง สว.เดินหน้าตั้งแง่ ไม่เห็นชอบให้ 'ก้าวไกล' ร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วย การรับหลักการให้ สว.ปิดสวิตช์อำนาจตัวเองย่อมเป็นไปได้ยากขึ้นกว่าเดิม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง