นายนคร มาฉิม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จ.พิษณุโลก โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร แวะเยี่ยมเยียนถึงบ้านพัก เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมือง
ข้อความของนายนครระบุว่า การเยี่ยมเยียนครั้งนี้ไม่ได้ใช้วิธีรุนแรง และได้รับการปฏิบัติที่ดีจากเจ้าหน้าที่และผู้บังคับบัญชา แต่การห้ามไม่ให้ตนพูดคุยกับตัวแทนสหภาพยุโรป (อียู) ที่เป็นหน่วยงานรัฐบาลระหว่างประเทศ คงไม่สามารถทำตามได้ พร้อมระบุว่าอียูจะดำเนินการอย่างไรเป็นเรื่องที่ไม่อาจก้าวล่วงได้
"ต้องขอบคุณ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง กอ.รมน ฝ่ายปกครอง และทุกท่านที่ให้เกียรติมาเยี่ยม และปรึกษา หารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองกับผม ในวันนี้ โดยไม่ได้ใช้วิธีรุนแรง แม้ว่าผู้บังคับบัญชาของพวกท่านจะให้ปฎิบัติต่อผมอีกอย่างก็ตาม"
"ผมขอยืนยันตามหลักการเดิมที่จะให้ คสช. คืนอำนาจให้ประชาชนโดยไม่มีเงื่อนไข หรือข้อแม้ใดๆ ตามเจตนารมณ์เดิมที่ได้แสดงจุดยืนไว้อย่างมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนประเด็นที่ท่านขอร้องว่าอย่าดึงองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องกับกิจการภายในประเทศนั้น ผมไม่สามารถรับปากได้ เพราะผมเห็นว่า กฎ กติกาของประเทศไทยเราในปัจจุบัน เป็นกฎของเผด็จการ โดยเผด็จการ และเพื่อเผด็จการ ไม่ได้เป็นกฎที่เป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน และไม่มีความเป็นธรรมตามหลักสากล ตามที่ผมเสนอต่อEU ไปแล้ว"
"ส่วนทาง EU จะดำเนินการอย่างไร ก็เป็นสิทธิของ EU ผมไม่อาจก้าวล่วงได้ และเคารพการตัดสินใจของมิตรประเทศ และอยากเรียกร้องให้พี่ น้อง ข้าราชการที่มีใจเป็นธรรม หันกลับมารับใช้ประชาชนและประชาธิปไตยจะดีกว่า"
ก่อนหน้านี้ อนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนของอียูได้ออกแถลงการณ์ถึงไทยให้ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชนและการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม เพราะการดำเนินขั้นตอนให้ไทยกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตยและมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง มีผลต่อการเจรจาการค้าระหว่างอียูกับไทยในอนาคต
ทั้งนี้ นายปิแอร์ อันตอนิโอ พันเซรี ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนของอียูกล่าวว่า ไทยมีพัฒนาการที่ดีในการกลับสู่ประชาธิปไตย แต่อียูก็ยังกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของไทย การกดขี่สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองขั้นพื้นฐาน เช่น เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุม และการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งจะต้องบริสุทธิ์ยุติธรรมและเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม
การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอียูในอนาคตจะรวมถึงการสานต่อกระบวนการเจรจาต่อรองข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) รวมถึงกรอบข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมืออียู-ไทย (PCA)
นอกจากนี้ รัฐสภายุโรประบุด้วยว่าจะจับตาดูการเลือกตั้งของไทยที่กำลังจะมาถึงอย่างใกล้ชิด และจะประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนอย่างสม่ำเสมอ
ภาพจากเฟซบุ๊ก: นคร มาฉิม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: