นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์ระบุว่า ตามที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ผลักดันให้มี “โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศ” หรือ “อินเทอร์เน็ตประชารัฐ” เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และสนองนโยบายนำพาประเทศไทยก้าวสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” โดยจำนวนหมู่บ้านในประเทศไทยที่มีอยู่ราว 74,965 หมู่บ้านพบว่า มีสัญญาณไวไฟเข้าถึงแล้ว 41,000 หมู่บ้าน อีก 33,965 หมู่บ้านยังไม่มีโครงข่ายและสัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้าถึง รัฐบาลจึงแบ่งมอบงานโครงการออกเป็น 3 ส่วน คือ เฟสที่ 1 (โซน A และ B) จำนวน 24,700 หมู่บ้าน มอบให้กระทรวงดีอีรับไปดำเนินการภายใต้วงเงิน 15,000 ล้านบาท และมอบหมายให้บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ลงทุนขยายเคเบิลใยแก้วระหว่างประเทศ (อินเทอร์เน็ตเกตเวย์) วงเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อรองรับความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตที่จะเพิ่มขึ้น
ส่วนเฟสที่ 2 (โซน C) มอบให้ กสทช.ดำเนินการ 15,000-16,345 หมู่บ้าน โดยใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อบริการสาธารณะ(กองทุน กทปส.) ซึ่ง กสทช. ได้สำรวจพบว่ายังคงมีหมู่บ้านในพื้นที่ห่างไกลหรือพื้นที่ “ชายขอบ” อีกกว่า 3,920 หมู่บ้าน ที่ยังไม่มีโครงข่ายอินเทอร์เน็ต และเครือข่ายมือถือใดๆ เข้าไปให้บริการ จึงได้แยกโครงการดังกล่าวออกมาดำเนินการก่อน อันเป็นที่มาของโครงการ “เน็ตชายขอบ” ที่เปิดให้บริษัทสื่อสารเข้ามาดำเนินการภายใต้วงเงินดำเนินการราว 13,000 ล้านบาทไปแล้ว
ในการเปิดประมูลเฟสที่ 2 กสทช.จะมีการดำเนินการ E-bidding กันในวันที่ 12 ต.ค.2561 นี้(เวลา 8.00-16.30 น.)มีมูลค่า 23,000 ล้านบาท โดยในเงื่อนไขการประมูลนั้น กสทช.กำหนดให้บริษัทใด ๆ ที่จะเข้าร่วมประมูลจะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วน หนึ่งในคุณสมบัตินั้นคือ การได้รับหนังสือแต่งตั้งและรับรองของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่มีคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วนตาม TOR จากบริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์
แต่พบว่ามีผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ 5 รายที่มีคุณสมบัติครบ แต่ปฏิเสธการออกหนังสือรับรองให้กับผู้ใดหรือบริษัทใดได้อีก เนื่องจากผู้ผลิต 5 รายถูกคำสั่งจากผู้มีอำนาจที่ทำการล็อคสเปคและรวมตัวกันเพื่ออกหนังสือแต่งตั้งละรับรองให้กับรัฐวิสาหกิจบางราย และบริษัทเอกชนใหญ่บางรายที่ซูเอี๋ยกันเท่านั้น โดยผู้มีอำนาจใน กสทช.ดังกล่าวได้สั่งให้ตัวแทนการนำเข้าคอมพิวเตอร์ในประเทศไทย 2 รายสั่งห้ามผู้ผลิต 5 ราย ไม่ให้ออกหนังสือรับรองหรือห้ามแตกแถวหากไม่ใช่พวกของตน
ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 11, 12 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ทำให้รัฐและประชาชนเสียประโยชน์ เพราะทำให้มีผู้เข้าแข่งขันประมูล E-bidding จำนวนน้อยรายและสามารถซูเอี๋ยราคากันได้
ดังนั้น สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงจะนำความไปร้องเรียนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้สั่งการให้มีการตรวจสอบเป็นการด่วน และสั่งระงับการประมูลอินเทอร์เน็ตประชารัฐในวันที่ 12 ต.ค.นี้ไว้ก่อน จนกว่าจะสร้างความโปร่งใสในการประมูลได้ โดยสมาคมฯจะเดินทางไปยื่นคำร้องในวันที่ 11 ต.ค. 2561 เวลา 10.30 น. ณ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ ตึก กพร.เดิม ทำเนียบรัฐบาล อย่างไรก็ตามหากการร้องเรียนนี้ไม่เป็นผล สมาคมฯ จะนำความไปร้อง ป.ป.ช. เพื่อเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :