ตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 กลุ่มองค์กรนักศึกษาได้กลายเป็นหัวขบวนในการเคลื่อนไหวทางการเมือง มีการก่อตั้งและรวมตัวกันเป็นเครือข่ายทั่วประเทศ ทั้งยังจับมือกับกลุ่มชาวนาและกรรมกร ผลอย่างสำคัญประการหนึ่งคือทำให้นักศึกษาทั่วไปตื่นตัวในเรื่องการเมืองและมองเห็นถึงบทบาทของตนเองต่อสังคม
กลุ่มนักศึกษาจากสามจังหวัดภาคใต้ที่เดินทางเข้าศึกษาต่อในกรุงเทพฯในช่วงเวลานั้นก็ได้รับอิทธิพลจากความคิดนี้เช่นกัน อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ เล่าไว้ว่า นักศึกษามุสลิมหลายคนจากสามจังหวัดภาคใต้ที่ไปศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในกรุงเทพฯได้ตื่นตัวและเข้าร่วมกิจกรรมหลายอย่างที่จัดโดยศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย โดยผ่านทางกลุ่มองค์กรนักศึกษาของตนเองหรือไม่ก็โดยส่วนตัว ยกตัวอย่างเช่นการประท้วงต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น การร่วมเรียกร้องรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้นในเวลาต่อมาพวกเขาได้รวมกลุ่มกันเพื่อจะทำกิจกรรมเพื่อสังคมตามแนวคิดเช่นนี้บ้าง โดยใช้ชื่อว่ากลุ่ม “สลาตัน”
อาบูฮาฟิส อัลฮากิม ซึ่งปัจจุบันเป็นโฆษกของกลุ่มมารา ปาตานีเล่าว่า ในช่วงเวลานั้นเขาเรียนอยู่ที่วิทยาลัยอิสลามแห่งประเทศไทยหรือวอท. มีความสนใจในเรื่องการเมืองอย่างมาก เขากับเพื่อนสนิทคนหนึ่งมักจะเดินทางไปร่วมการชุมนุมทางการเมืองที่กลุ่มองค์กรของนักศึกษาจัดขึ้นโดยตลอด เพื่อนสนิทของเขาที่ว่านี้ก็คืออิบราเฮง สาตา ที่ต่อมาเสียชีวิตที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในระหว่างที่นักศึกษาถูกปราบปรามเมื่อ 6 ต.ค. 2519
ในการทำกิจกรรมต่างๆ สิ่งที่ปรากฎให้เห็นมากในเวลานั้น ก็คือการหยิบยกปัญหาของผู้คนที่ไร้โอกาสหรือถูกกดทับขึ้นมานำเสนอต่อสังคม การทำกิจกรรมของนักศึกษาเป็นไปตามแนวคิดที่แพร่หลายในเวลานั้นว่า นักศึกษาต้องเรียนโดยมีเป้าหมายเพื่อรับใช้ประชาชน เพราะพวกเขาใช้ทรัพยากรของชาติและประชาชนในการศึกษา อันเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาได้โอกาสในสังคมเหนือคนอื่นๆ เป็นที่มาของความคิดที่ว่าภาระหน้าที่ของพวกเขาคือต้องตอบแทนประชาชน
ความคิดนี้เปิดทางให้มีการทำกิจกรรมหลายอย่างที่นำนักศึกษาออกสู่ชนบทและไปใช้ชีวิตร่วมกับชาวนาและกรรมกร เช่นการออกค่ายเป็นต้น พีรยศ ราฮิมมูลา อดีตนักวิชาการและนักการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์เล่าไว้ว่า ในระหว่างนั้นเขาและเพื่อนพ้องจากสามจังหวัดได้นำเสนอจนกระทั่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในขณะนั้นให้ทำโครงการเผยแพร่ประชาธิปไตยในชนบท ภายใต้โครงการนี้ นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการซึ่งมีทั้งพุทธและมุสลิมจำนวนหนึ่งได้เดินทางออกไปอยู่ในหมู่บ้านในสามจังหวัดภาคใต้เพื่อ “เผยแพร่ประชาธิปไตย” ซึ่งในความเป็นจริงสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ พวกเขาได้ไปสัมผัสและเรียนรู้ปัญหาของประชาชนในพื้นที่มากกว่า แต่สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างปัญญาชนกับประชาชนที่ประสบปัญหาจากการขาดโอกาสและถูกผู้มีอำนาจในสังคมข่มเหง ทำให้นักศึกษาเหล่านั้นได้เห็นภาพบางส่วนของปัญหาในชนบทที่ทับถมและสะสมกันมาอย่างยาวนาน
การเติบโตและเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาไทยอาจถือได้ว่าเป็นภาพสะท้อนของขบวนการนักศึกษาทั่วโลกและเกิดขึ้นในจังหวะที่บริบทการเมืองของโลกอยู่ในยุคสงครามเย็น เพราะการเผชิญหน้ากันของโลกเสรีกับค่ายคอมมิวนิสต์ ปัญหาสำหรับประเทศไทยที่อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการอย่างยาวนานก็คือ การเพิกเฉยของโลกภายนอกต่อปัญหาการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นในประเทศ สหรัฐฯซึ่งเป็นประเทศที่มีอิทธิพลอย่างสำคัญและเป็นผู้นำค่ายโลกเสรีได้สนับสนุนรัฐบาลทหารของไทยเพราะต้องการให้ไทยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการต้าน “ภัยคอมมิวนิสต์” ที่พวกเขาเห็นว่ากำลังไปเคาะประตูอยู่ข้างบ้านคือที่อินโดจีน ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้มีเรื่องราวของการที่ประชาชนที่ไร้สิทธิและเสียงถูกกระทำอย่างต่อเนื่อง หลังเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 เมื่อรัฐบาลทหารถูกโค่นล้มลง ปัญหาต่างๆที่สะสมตัวเองอยู่อย่างเนิ่นนานจึงปรากฎตัวให้เห็นโดยเฉพาะเมื่อมีคนรุ่นใหม่เช่นนิสิตนักศึกษาที่ให้ความสนใจจับเรื่องราวเหล่านั้นมาเผยแพร่สู่สังคม
ชนวนสำคัญของการเคลื่อนไหว เหตุเกิดที่สะพานตอกอ
ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ หนึ่งในเหตุการณ์ละเมิดสิทธิที่ต่อมากลายเป็นชนวนเหตุให้มีการเคลื่อนไหวอย่างสำคัญและส่งผลต่อการเมืองในพื้นที่อย่างมาก ก็คือเรื่องของการประท้วงสิ่งที่เรียกกันว่า “เหตุการณ์สะพานกอตอ” ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนพ.ย. 2518 ที่อำเภอบาเจาะ นราธิวาส มีประชาชนห้าคนซึ่งล้วนเป็นพี่น้องกันถูกเจ้าหน้าที่นำตัวไปประทุษร้ายจนตายแล้วโยนศพทิ้งน้ำที่สะพานกอตอ แต่ปรากฎว่าหนึ่งในนั้นรอดชีวิตมาได้แม้ว่าจะบาดเจ็บสาหัส เขาเป็นเด็กวัยสิบสี่ชื่อสือแม บราเซะ บรรดาญาติพี่น้องของสือแมพาเขาไปรักษาตัวและหลบซ่อนตามที่ต่างๆ สมาชิกกลุ่มสลาตันมีส่วนร่วมในการนำตัวสือแมและผู้ปกครองไปกรุงเทพฯ เพื่อจะร้องเรียนขอความเป็นธรรม พวกเขาได้เข้าพบเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลเพื่อร้องเรียนให้มีการสอบสวนการสังหาร รวมทั้งต่อมาเขาได้ไปปรากฎตัวในที่ชุมนุมที่สนามหลวงเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของต่อผู้ชุมนุม
เมื่อการเรียกร้องนั้นไม่ได้ผล สมาชิกกลุ่มสลาตันได้จัดการชุมนุมขึ้นที่หน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานีเมื่อเดือนธันวาคม 2518 มุข สุไลมานที่เป็นแกนนำคนหนึ่งที่ริเริ่มจัดชุมนุมบอกว่า ในระยะแรกสมาชิกของกลุ่มไม่มีความมั่นใจเท่าใดนักว่าประชาชนจะสนใจเข้าร่วมการชุมนุม แต่พวกเขาเห็นว่าควรจัดให้มีการชุมนุม ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างความตื่นตัวและให้การศึกษาแก่ประชาชนถึงแนวทางของการต่อสู้ในระบอบประชาธิปไตย มุข สุไลมานและอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์เป็นกลุ่มคนหนุ่มในยุคนั้นที่แสดงความเชื่อมั่นต่อพลังของการแสดงออกทางการเมืองอันเป็นสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้มาจากการร่วมเคลื่อนไหวกับขบวนการนักศึกษาส่วนกลาง
ที่ปัตตานี การจัดชุมนุมของสมาชิกกลุ่มสลาตันได้รับการขานรับจากประชาชน มีผู้ไปร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก แต่การชุมนุมดำเนินไปได้เพียงสามวันก็มีผู้เอาระเบิดไปปาใส่ รวมทั้งยิงเข้าใส่ผู้ปราศรัยบนเวที ทำให้มีคนตายเพิ่มอีก 13 คน การที่เกิดเหตุรุนแรงเพิ่มเติมและมีคนตายเพิ่มในขณะที่เรื่องเก่าก็ยังไม่ได้รับการสะสางยิ่งก่อให้เกิดความโกรธแค้นในหมู่ประชาชน แม้ว่าทันทีที่สิ่้นเสียงระเบิดและกระสุนนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมจะสลายตัว แต่ไม่กี่ชั่วโมงถัดมาพวกเขาก็รวมตัวกันอีกที่มัสยิดกลางของจังหวัดปัตตานี การชุมนุมในที่ใหม่มีประชาชนไปร่วมด้วยมากขึ้นกว่าเดิม และต่อมามันได้กลายเป็นการชุมนุมที่ยืดเยื้อยาวนานมากที่สุด มีคนไปเข้าร่วมการชุมนุมมากเป็นประวัติการณ์สำหรับพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ จากการสัมภาษณ์ผู้ที่เคยเข้าร่วมการชุมนุมหลายราย พวกเขาบอกตรงกันว่าผู้ไปร่วมการชุมนุมมาจากแทบจะทุกพื้นที่และมีคนจากทุกวัยและอาชีพแม้แต่เด็กนักเรียน หลายคนเดินทางมาจากที่ห่างไกลเพื่อจะไปเข้าร่วมการชุมนุม โดยต่างเข้าร่วมในช่วงเวลาที่พวกเขาเข้าร่วมได้ แม้ว่าหลายครั้งจะมีฝนตกหนักน้ำเอ่อท่วมแต่การชุมนุมนี้ก็ยังดำเนินไปทั้งกลางวันและกลางคืนถึง 45 วัน มันเป็นการเคลื่อนไหวที่นำเอาแกนนำของขบวนการนักศึกษาจากที่อื่นของประเทศไปขึ้นเวทีเดียวกันกับผู้นำศาสนาหลายคนในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ เป็นการชุมนุมที่สร้างนักพูดและกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับการต่อสู้ทางการเมืองของหลายๆคน
หะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำให้สัมภาษณ์บีบีซีไว้ว่า ในช่วงนั้นเขายังอายุเพียง 18 ปี เขาได้ร่วมกับเพื่อนๆ ไปสมทบในการชุมนุมประท้วงด้วยเพราะไม่พอใจในความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่จากเรื่องราวสะพานกอตอ หะยีดาโอ๊ะได้มีบทบาทเป็นการ์ดรักษาความปลอดภัยของที่ชุมนุมในเวลาต่อมา ในขณะที่อีกด้านนายตำรวจคนสำคัญจากตระกูลเดียวกันในพื้นที่จำนวนสามคนตกเป็นจำเลยสังคมที่สงสัยว่าพวกเขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการยิงและปาระเบิดใส่ผู้ชุมนุม
ผู้ที่เคยไปร่วมการชุมนุมล้วนเห็นว่าสิ่งที่ดึงผู้คนให้ออกไปร่วมชุมนุมอย่างมากในช่วงนั้น ไม่ใช่เพราะเหตุการณ์สังหารประชาชนโยนทิ้งน้ำที่สะพานกอตอเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะประวัติของการละเมิดสิทธิประชาชนที่เกิดขึ้นในพื้นที่มาอย่างยาวนานก่อนหน้านั้นที่ทำให้เกิดแรงอัด เหตุการณ์สะพานกอตอกลายเป็นเครื่องตอกย้ำถึงปัญหา เพิ่มเติมด้วยการโยนระเบิดใส่ผู้ชุมนุมและยิงผู้ปราศรัยบนเวที แต่ทว่าการชุมนุมที่ปัตตานีปี 2518 เป็นการต่อสู้ทางการเมืองของคนในพื้นที่ที่จบลงอย่างไม่น่าพอใจสำหรับหลายๆคน ผู้ที่เคยไปร่วมชุมนุมแม้จะโล่งใจที่ในที่สุดสามารถสลายการชุมนุมได้โดยไม่เกิดเหตุร้ายแรงขึ้นทั้งๆที่ประชาชนที่เข้าร่วมจะอยู่ในสภาวะตึงเครียดอย่างยิ่งเนื่องจากท่าทีที่แข็งกร้าวของรัฐบาล ก่อนสลายการชุมนุมได้มีการเจรจากันแต่ข้อตกลงที่ได้มาจากการเจรจาต่อรองนั้นกลับไม่ได้รับการสานต่อ โดยเฉพาะในเรีื่องของการสอบสวนคดีสะพานกอตอและกรณีการปาระเบิดรวมทั้งยิงผู้ปราศรัยในการชุมนุม แน่นอนว่าบทสรุปเช่นนี้มีผลต่อวิธีคิดในเรื่องการต่อสู้ทางการเมืองของหลายๆคนที่ผิดหวังกับแนวทางการต่อสู้บนท้องถนน
อย่างไรก็ตามสมาชิกส่วนหนึ่งของกลุ่มสลาตันหันเข็มชีวิตไปสู่การเป็นนักการเมืองในเวลาต่อมา เช่นอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ มุข สุไลมาน พีรยศ ราฮีมมูลา เพราะพวกเขาได้เห็นพลังของการต่อสู้ของประชาชนบนท้องถนน
ผลกระทบหลังการชุมนุมยิ่งรุนแรงมากกว่าบทสรุปที่ไม่น่าพอใจจากการชุมนุม หลังจากที่พวกเขาสลายการชุมนุมไปแล้ว หลายๆคนพบว่าตัวเองถูก “ติดตาม” และในกลุ่มผู้ที่เคยเข้าร่วม เริ่มมีการสังเกตเห็นว่าหลายคนที่มีบทบาทในการจัดชุมนุมหายตัวไป คนในกลุ่มเชื่อว่าบางคน “ถูกเก็บ” มันทำให้คนจำนวนไม่น้อยต้องหลบหนี บ้างก็หนีออกจากพื้นที่ไปอยู่ส่วนอื่นของประเทศ บ้างก็เดินทางออกจากประเทศไทย ไปมาเลเซียหรือไกลกว่านั้นเช่นตะวันออกกลาง
หนึ่งในคนกลุ่มหลังนี้ก็คือหะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำนั่นเอง เขาบอกว่าหลังการชุมนุมสิ้นสุด ชีวิตของเขาและเพื่อนๆเปลี่ยนไปอย่างมาก เพื่อนหลายคนหายไป และเขาถูกติดตามตัวจนไม่อาจอยู่บ้านได้ต้องตัดสินใจ “หลบ” ออกไปแม้จะเพียงสักพัก เขาเดินทางไปศึกษาต่อที่ตะวันออกกลาง หนึ่งปีให้หลังเมื่อเขากลับมาบ้านก็พบว่ายังถูกติดตามตัวต่อไป ในที่สุดเมื่อทนไม่ไหวเขาจึงร่วมกับเพื่อนจำนวนหนึ่งเดินทางมุ่งหน้าขึ้นสู่เขาบูโดเพื่อไปร่วมกับขบวนการพูโลที่เป็นกลุ่มที่มีบทบาทอย่างมากในเวลานั้น หะยีดาโอ๊ะได้กลายเป็นผู้นำกองกำลังของพูโลจนกระทั่งถูกจับในเวลาต่อมา
การหลบหนีของคนกลุ่มที่มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่จบเพียงเท่านั้น การปราบปรามนิสิตนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 ทำให้มีคนหนีไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในจำนวนนั้���ยังก็มีนักศึกษามุสลิมจากภาคใต้รวมอยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง
ทุกวันนี้อดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้ทิ้งป่ากลับคืนสู่สังคม การล่มสลายของพคท.นอกจากจะเป็นปรากฎการณ์ที่ได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงของบริบทการเมืองโลกและภูมิภาคแล้ว การดำเนินนโยบายการเมืองนำการทหารที่เรียกว่ากันว่านโยบาย 66/2523 ที่รัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์นำมาใช้ยังช่วยปูทางนำคน “กลับบ้าน” ได้ในที่สุด
แต่ในขณะที่พคท.ล่ม ผู้คนที่เคยอยู่กับพรรคพากัน “กลับบ้าน” ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ กลุ่มต่อสู้เพื่อแยกตัวยังดำรงอยู่ต่อไป แม้ว่ากลุ่มเก่าจะอ่อนกำลังลงเพราะถูกปราบ แต่ก็มีกลุ่มอื่นเข้ามาแทนที่ในขณะที่การต่อสู้ทางการเมืองบนท้องถนนหายไป
* รายงานชิ้นนี้เป็นการตัดทอนเนื้อหาบางส่วนและเรียบเรียงใหม่ จากบทสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยกลุ่มเอฟทีมีเดียในหัวข้อเรื่องการชุมนุมประท้วงใหญ่ปัตตานีปี 2518 ซึ่งกลุ่มเตรียมตีพิมพ์ในปี 2561
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่