การนอนหลับเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด เพราะเป็นช่วงเวลาที่อวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน ความดันโลหิต และพัฒนาความจำ
ระยะเวลาในการนอนหลับของแต่ละช่วงวัยก็แตกต่างกัน คือ เด็กแรกเกิด - 5 ขวบ ควรนอน 10-17 ชม. , ช่วงอายุ 6-13 ปี ควรนอน 9-11 ชม., ช่วงอายุ 14-17 ปี ควรนอน 8-10 ชม., และช่วงอายุ 18-65 ปีขึ้นไป ควรนอนได้ 7-9 ชม.
Photo by Mpho Mojapelo on Unsplash
ข้อปฏิบัติที่จะทำให้การนอนของเรามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ได้แก่ จัดรูปแบบการใช้ชีวิตให้แลดูมีสุขภาพดี ด้วยการหันไปกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย รู้จักจัดการกับความเครียดที่จะแทรกแซงการนอน หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน นิโคติน และแอลกอฮอล์ ก่อนเข้านอน จัดตารางการนอนให้อยู่ในเวลาเดียวกันทุกวัน พร้อมพยายามไม่นอนกลางวัน เพราะจะทำให้เราตื่นในเวลากลางคืนได้ แต่ถ้าจำเป็นต้องงีบตอนกลางวันจริงๆ ควรอยู่ที่ 15-20 นาที สิ่งสุดท้ายคือการจัดหาเตียงนอนที่คิดว่านอนได้สบายที่สุด เพราะมีงานวิจัยบอกว่าที่นอนและหมอนที่ดีจะช่วยให้การนอนดีขึ้น
ทั้งนี้จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก บอกไว้ว่า ควรนอนหลับให้เพียงพอวันละ 7-9 ชม. แต่ประชากรทั่วโลก 45 เปอร์เซนต์ เคยมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการนอน, 35 เปอร์เซนต์ มีอาการนอนไม่หลับ ในผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับ จะมีปัญหาขาดงานหรือทำงานด้อยประสิทธิภาพมากกว่าผู้ที่ไม่มีปัญหาถึง 3 เท่า
นอกจากนี้ยังพบอีกว่า การนอนไม่พอจะทำให้การเรียนรู้ ความจำ และสมาธิการทำงานลดลงเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีปัญหา ส่วนภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้ามคือ การนอนไม่พอหรือนอนไม่มีคุณภาพติดต่อกันเป็นเวลานาน จะส่งผลต่อการก่อโรคในผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วยเบาหวาน ผู้มีภาวะโรคอ้วน ผลต่อระบบเผาผลาญของร่างกาย ทำให้เกิดความอยากอาหาร รวมถึงผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะเครียด โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และโรคไบโพลาร์หรือคนสองบุคลิก โดยเฉพาะผู้ที่เป็นผู้ป่วยอยู่เดิมทำให้อาการกำเริบได้
โรคนอนไม่หลับ ศัตรูทำร้ายสุขภาพมนุษย์
อาการนอนไม่หลับ นอนลำบาก หรือหลับไม่สนิท (Insomnia) เมื่อใครเป็นจะรู้สึกอ่อนเพลียในระหว่างวัน และเป็นสาเหตุให้มีปัญหาในการทำงาน โรคนอนไม่หลับ 2 ชนิด คือ โรคนอนไม่หลับจากปัญหาการปรับตัว จะเกิดขึ้นในเวลาไม่กี่คืนและน้อยกว่า 3 เดือน มักเกิดจากความตื่นเต้นหรือเครียด เมื่อสถานการณ์เหล่านั้นคลี่คลายไป การนอนหลับก็จะกลับมาเป็นปกติ และโรคนอนไม่หลับเรื้อรัง ผู้เป็นมักนอนไม่หลับนานกว่า 1 เดือน อาจต้องเข้ารับฟังคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหานี้
บางรายหันไปใช้ยานอนหลับ ซึ่งยานอนหลับสามารถช่วยให้นอนหลับและรู้สึกกระปรี้กระเปร่าในวันถัดไป แต่บางครั้งยานอนหลับอาจบดบังอาการบางอย่างที่เกิดจากโรคอื่นๆ ได้ เช่น ยานอนหลับอาจช่วยให้อาการบางอย่างของภาวะหยุดหายในจขณะหลับจากการอุดกั้นดีขึ้นได้ชั่วคราว เช่นทำให้การตื่นระหว่างคืนน้อยลง โดยทั่วไปโรคนอนไม่หลับต้องได้รับการวินิจฉัยทีเหมาะสมและการวิเคราะห์แนวทางการรักษาต่างๆจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนได้รับการรักษาด้วยการรับประทานยา อีกทั้งยานอนหลับบางชนิดหาซื้อได้เองโดยไม่ต้องมีแพทย์สั่ง ยาแต่ละชนิดก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เช่น ยาบางชนิดออกฤทธิ์ระยะสั้น และออกฤทธิ์ได้ดีที่สุดเมื่อคุณเริ่มนอนหลับ บางชนิดออกฤทธิ์ระยะยาว และออกฤทธิ์ได้ดีที่สุดเพื่อให้คุณนอนหลับได้ตลอดทั้งคืน การปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาว่ายานอนหลับชนิดใดเหมาะสมกับคุณที่สุด (ข้อมูลจาก : ศูนย์นิทราเวช ร.พ.จุฬาลงกรณ์)
อ่านข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการนอน
Photo by Vladislav Muslakov on Unsplash