สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในที่ประชุม World Economic Forum (WEF) ครั้งที่ 48 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวานนี้ (24 มกราคม 2561) นางอังเกลา แมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และนายเปาโล เจนติโลนี นายกรัฐมนตรีอิตาลี ได้เรียกร้องให้นานาชาติร่วมมือกัน เพื่อสร้างพลังทางเศรษฐกิจและควบคุมการไหล่บ่าของกระแสโลกาภิวัตน์
ถ้อยแถลงดังกล่าวมีขึ้นก่อนหน้าการมาเยือนของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเวทีการประชุมวันศุกร์ที่จะถึงนี้ และหลายคนคาดการว่าทรัมป์จะใช้เวทีนี้ในการโปรโมทและชี้แจงนโยบาย 'อเมริกาต้องมาก่อน' (America First)
โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้กล่าวเรียกร้องให้ 'ทั่วโลกร่วมมือกัน' เพื่อจัดการกับพลังทางเศรษฐกิจที่จะทำให้เกิดไม่เท่าเทียมเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการลื่นไหลของพลังประชานิยมที่เพิ่มมากขึ้น
"พวกเราอยู่ในสถานการณ์ที่ประชาชนกำลังถกเถียงประเด็นเรื่องของสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งคำตอบที่เราต้องทำคือลดกำแพงภาษี ซึ่งจะต้องไม่เกิดข้อจำกัดในเรื่องของภาษี และมันจะทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดล่างมากขึ้น และถ้าพวกเราไม่สามารถสร้างบรรทัดฐานในความร่วมมือระหว่างประเทศ เราก็ไม่สามารถที่จะโน้มน้าวให้ชนชั้นกลาง และคนทำงานเห็นถึงข้อดีของโลกาภิวัตน์ได้" มาครงกล่าวในที่ประชุม WEF
ในเวทีเดียวกันนี้ อังเกลา แมร์เคล นายรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวว่า พวกเราควรเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ประเทศเยอรมนีมีบาดแผลจากสงครามโลกครั้งที่ 2 พวกเรามองเห็นพลังชาตินิยม พลังของประชานิยมที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะนำประเทศไปสู่ภาวะสุญญากาศ เราเชื่อว่าการโดดเดี่ยวหรือการป้องกันตัวจากโลกภายนอกจะไม่สามารถป้องกันเราจะอันตรายเหล่านี้ได้ แต่เราต้องร่วมมือกันที่จะปกป้องกันและกัน
"พวกเราต้องแสดงบทบาทมากขึ้น พวกเราต้องกำหนดบทบาทและอนาคตของพวกเราได้ด้วยตนเอง แนวคิดการการปกป้องตนเองไม่ใช่คำตอบ และเป็นเสมือนยาพิษจากแนวคิดของพลังประชานิยมฝ่ายขวา และการตัดขาดตนเองจะไม่นำเราไปสู่อนาคตที่ดีได้" แมร์เคลกล่าว
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีอิตาลี เปาโล เจนติโลนี กล่าวว่า แม้ว่าการปกป้องประชาชน ภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจของประเทศจะเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ควรต้องมีขอบเขตในการกระทำนั้นๆ ด้วย และหลังจากที่ภายในยุโรปเผชิญกับเหตุการณ์วุ่นวายต่างๆ มากมายตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ตั้งแต่วิกฤตการเงินยูโร ปัญหายูเครน เรื่องผู้อพยพ และ การถอนตัวออกจากอียูของอังกฤษ เหตุการณ์เหล่านี้กลับทำให้ยุโรปกลับมามีความมั่นคงและเชื่อมั่นในตัวเองอีกครั้ง นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีอิตาลียังกล่าวถึงการปฏิรูปสหภาพยุโรปครั้งใหม่ที่จะนำพายุโรปให้มั่นคงอีกครั้งหนึ่ง
"เศรษฐกิจของยุโรปกลับมาก้าวกระโดดอีกครั้ง และชัยชนะของแนวคิดยุโรปนิยมในการเลือกตั้งฝรั่งเศสจะนำไปสู่การปฏิรูปสหภาพยุโรปรอบใหม่"
นักเศรษฐศาสตร์จากฮาร์วาร์ด เคนเน็ต โรกอฟฟ์ แสดงความเห็นในเวทีการประชุมว่า" ปีนี้จะเป็นปีของการเริ่มต้นของยุโรปอีกครั้ง"
ทั้งนี้ ทรัมป์ได้ประกาศนโยบาย 'อเมริกาต้องมาก่อน' หลังจากได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อต้นปี 2560 และได้ประกาศว่าสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) รวมไปถึงการออกนโยบายตั้งกำแพงภาษีเครื่องใช้ไฟฟ้านำเข้าจากต่างประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง