นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่อยู่ในการดูแลของกรมชลประทานนั้นมีความปลอดภัย มั่นคงแข็งแรงทุกแห่ง เพราะผ่านการออกแบบตามหลักวิชาการ สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ และสามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้สูงถึงระดับ 7 ตามมาตราริกเตอร์
นอกจากนี้ ยังได้ทําการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอตลอดทั้งปี เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ท้ายเขื่อน มีความมั่นใจและเชื่อมั่นในความปลอดภัยแข็งแรงของเขื่อนตลอดเวลา
"เขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่อยู่ในความดูแลของกรมชลประทานนั้น มีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งบํารุงรักษาถูกต้องตามมาตรฐานสากล อย่างไรก็ตามหากมีแนวโน้มว่าน้ำจะไหลลงอ่างเก็บน้ำในปริมาณมาก และคาดว่าน้ำอาจจะล้นทางระบายน้ำล้น โครงการชลประทานในพื้นที่ที่รับผิดชอบจะแจ้งเตือนเป็นเอกสารรายงานไปยังจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับแจ้งเตือนผู้นําองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำให้รับทราบสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง" อธิบดีกรมชลประทานกล่าว
เพราะการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่อย่างรวดเร็ว จะลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้เป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนมากขึ้น กรมชลประทานได้จัดเวรยามประจำทุกเขื่อนเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอดเวลา พร้อมจัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ที่ต้องใช้เกี่ยวกับเขื่อนไว้ให้พร้อมใช้งานได้ทันที รวมทั้งมีการจัดเตรียมการติดต่อสื่อสารไปยังเขื่อนและเจ้าหน้าที่ประจำเขื่อนต้องทำได้มากกว่า 1 ช่องทาง และรายงานให้ทางอำเภอ จังหวัด และศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ทราบสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยให้ SWOC ปฏิบัติงานตลอด 24 ชม. ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค. 2561 เป็นต้นไป
ติดตามสถานการณ์ฝนตกหนักเหนือ-อีสาน ตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งระบาย
ส่วนสถานการณ์ฝนตกหนักในหลายพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ส่งผลให้ระดับน้ำในลําห้วยธรรมชาติและแม่น้ำต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นจนเอ่อล้นเข้าท่วมบางพื้นที่นั้น กรมชลประทานได้นําเครื่องสูบน้ำเข้าไปติดตั้ง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จนทําให้ในหลายพื้นที่สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว และหากไม่มีฝนตกในพื้นที่ดังกล่าวเพิ่ม สถานการณ์ก็จะเข้าสู่ภาวะปกติในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กรมชลประทานประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และจะแจ้งให้ประชาชนทราบเป็นระยะๆ
ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำล่าสุด อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้ำทั้งหมด 49,466 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 65 ของปริมาณความจุ โดยเป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 25,546 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 49 มากกว่าช่วงเดียวกันในปี 2560 ประมาณ 5,203 ลูกบาศก์เมตร โดยมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำ จํานวน 517.22 ลูกบาศก์เมตร/วัน และปริมาณน้ำระบายออก จํานวน 185.27 ลูกบาศก์เมตร/วัน สามารถรับน้ำได้อีก 26,541 ลูกบาศก์เมตร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :