อดีตนักเคลื่อนไหวในการลุกฮือปี 1988 ของเมียนมาเข้าร่วมแสดงความเห็นถึงปัญหาประชาธิปไตยในเมียนมาในการเสวนาเมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมาเพื่อทบทวน 30 ปีของเหตุการณ์ลุกฮือ 8888 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนในเมียนมาประท้วงใหญ่ต่อต้านรัฐบาลในเดือน ส.ค.ปีนั้น แต่ถูกปราบปรามอย่างหนัก มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก รวมทั้งมีผู้ถูกจับและอีกจำนวนมากต้องหนีตายออกนอกประเทศ
จอ ชวา โม อดีตนักเคลื่อนไหวที่ร่วมการต่อสู้ทางการเมืองหนนั้นเล่าว่า เป้าหมายของการเคลื่อนไหวของคนจำนวนมากในเวลานั้นคือพยายามจะแยกทหารให้ออกจากการเมือง ต้องการกำจัดรัฐบาลที่กดขี่และปราบปรามประชาชนและต้องการให้ประเทศมีประชาธิปไตย เสรีภาพ เสมอภาค และมีภราดรภาพ รวมทั้งให้มีความยุติธรรม แม้ว่าผลของการต่อสู้ในปี 1988 จะทำให้ถูกปราบปรามอย่างหนัก แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งคือ ประชาชนชาวพม่าหรือเมียนมาไม่ได้ยอมแพ้ พวกเขายังคงต่อสู้ต่อมาเรื่อยๆ
เขาชี้ว่า การที่มีคนไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งอย่างท่วมท้นในช่วงที่มีการจัดเลือกตั้ง ก็แปลความได้อย่างหนึ่งว่า ผู้คนทั่วไปอยากจะเห็นทหารออกจากการเมือง ซึ่งเรื่องนี้เขาถือว่าเป็นเจตนารมณ์เดียวกันกับการต่อสู้ที่ผ่านมาแม้ว่าวิธีการจะต่างกัน เขาย้ำว่า อันที่จริงการผลักดันให้ทหารยุติบทบาทในทางการเมืองเป็นสิ่งที่มีการแสดงออกอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดในการต่อสู้ของประชาชนในช่วงก่อนๆ หน้าการลุกฮือปี 1988 ด้วย
จอ ชวา โมนั้นได้รับผลกระทบจากการปราบปรามการต่อต้านในปี 1988 เขาเล่าว่าในช่วงนั้นเขาถูกจับและต้องติดคุกอยู่ถึง 8 ปี หลังจากนั้นได้หนีออกนอกประเทศ ใช้ชีวิตอยู่ต่างแดน 13 ปี ปัจจุบันจอ ชวา โมเป็นบรรณาธิการอาวุโสของอิระวดี นสพ.ภาษาอังกฤษที่รายงานเรื่องเมียนมาอย่างยาวนาน
ประชาธิปไตยที่มี 'ทหาร' เป็นผู้ปกปักรักษา
ในวันนี้เมียนมามีรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง อิระวดีมีสำนักงานในเมียนมา และจอ ชวา โมทำงานอยู่ในเมียนมา ทั้งหมดนี้ดูจะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากวันที่เขาและนักเคลื่อนไหวอีกเป็นจำนวนมากต้องหลบหนีอยู่ต่างประเทศ จอ ชวา โมยอมรับว่าในวันนี้พม่าหรือเมียนมามาไกลกว่าเดิมมาก
แต่การยอมรับของเขามีข้อแม้ “เทียบกับในอดีต ขณะนี้เรามีรัฐบาลพลเรือน อันนี้คือความเปลี่ยนแปลง มันเป็นของใหม่” เขาว่า แต่เขาก็บอกด้วยว่าวันนี้ทหารเมียนมายังคงมีอำนาจ และแม้จะมีการเลือกตั้ง มีนักการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้งและได้ชัยชนะอย่างท่วมท้น แต่อำนาจของทหารยังคงอยู่ ทหารเมียนมารักษาอำนาจของพวกเขาไว้ได้ผ่านรัฐธรรมนูญปี 2008 ที่ใช้เวลายกร่างกันอย่างยาวนาน ประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในเมียนมาก็เป็นประชาธิปไตยที่มีทหารเป็นผู้ปกปักรักษา มันเป็นประชาธิปไตยที่ได้รับการออกแบบมาแล้วและเป็นของที่กำหนด “จากบนลงล่าง” และจอ ชวา โมชี้ว่าทุกวันนี้ “เรายังไม่ได้สิ่งที่ต้องการ”
“มันก็คือการบังคับแต่งงาน” เขาว่า ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตามแต่นี่คือสิ่งที่ประชาชนได้มา ทุกวันนี้เขาก็ยังรู้สึกได้ว่าผู้คนยังต้องระวังตัว และเขาในฐานะนักหนังสือพิมพ์ก็ยังต้องระวังตัว “มันยังมีความเสี่ยงอยู่ ซึ่งเราก็ยอมรับความเสี่ยงนั้น อิระวดีอยู่ในพม่า” เขาว่า
“ผมสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ สามารถให้ความเห็นในเรื่องต่างๆได้ไม่ว่าเรื่องของอ่องซานซูจี เรื่องของรัฐบาล ผมทำได้ มันไม่มีการเซ็นเซอร์ แต่ว่าเราจะต้องระมัดระวังตัวเองในเรื่องของการวิพากษ์วิจารณ์ ผมบอกทุกคนว่ามันมีเส้นที่มองไม่เห็นอยู่ เราต้องระวังเวลาเขียน ต้องคัดสรรถ้อยคำและประโยค”
“ผมไม่อยากจะเรียกมันว่าเป็นการเซ็นเซอร์ตัวเอง แต่นั่นก็คือสิ่งที่เกิดขึ้น และเส้นที่มองไม่เห็นนี้มันเคลื่อนได้ด้วย นี่เป็นสถานการณ์ในปัจจุบัน แต่ว่าโดยทั่วไปเราก็มีเสรีภาพ”
แต่เขาก็เห็นว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนั้นเป็นกระบวนการที่ยาวนาน และประชาชนในเมียนมาต่อสู้เพื่อสิ่งนี้มาก่อนที่จะมีการลุกฮือในปี 1988
นอกจากจอชวาโมแล้ว ชู บิก ทอง จากกลุ่มพันธมิตรพรรคการเมือง 22 กลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมาและเลขาธิการพรรคประชาธิปไตยฉิ่น ได้เข้าร่วมในการเสวนาหนนี้ด้วย เขาชี้ว่าข้อดีจากการเคลื่อนไหวปี 1988 ก็คือเป็นการต่อสู้ที่ประชาชนทุกฝ่ายในสังคมเมียนมาในเวลานั้นมีความเป็นเอกภาพกันอย่างมาก พวกเขาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและเพื่อผลักดันทหารให้ออกจากการเมือง เนื่องจากการเคลื่อนไหวในช่วงนั้นทุกฝ่ายต่างมีศัตรูคนเดียวกัน
มาในวันนี้แม้เมียนมาจะได้รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ชู บิก ทองซึ่งพูดในฐานะของตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งในเมียนมากลับบอกว่า “ผมมองไม่เห็นความคืบหน้า ไม่่ว่าในเรื่องของประชาธิปไตยหรือความเป็นสหพันธ์ เรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็จริง แต่เรายังมีทหารเป็นผู้ปกครอง”
'ศัตรูร่วม' ที่หายไป
เมียนมานั้นมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายและต่างต่อต้านรัฐบาลเมียนมามายาวนาน แม้วันนี้จะมีหลายกลุ่มมีข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาล แต่การผลักดันกระบวนการสันติภาพยังเป็นไปอย่างเชื่องช้า นี่เป็นกระบวนการที่จะทำให้เมียนมาเป็นสหพันธ์ ให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศมีส่วนร่วมในการสร้างประเทศด้วยการจัดความสัมพันธ์ให้เป็นสหพันธ์ซึ่งดูจะไม่ค่อยคืบหน้ามากนัก
ชู บิก ทองชี้ว่า “ขณะนี้ศัตรูร่วมของเราหายไป ในยุคที่อยู่ภายใต้รัฐบาลเนวิน เป้าหมายของเราคือเป้าหมายอันเดียวกัน แต่ตอนนี้ถ้าเราวิจารณ์รัฐบาล มันจะกลายเป็นการวิจารณ์รัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยทันที”
“มันเหมือนทหารใช้อองซานซูจีและรัฐบาลพลเรือนเป็นหน้าฉาก” เขาว่า “ภูมิทัศน์การเมืองมันเปลี่ยนไป”
ชู บิก ทองบอกว่า ในเวลานี้กลุ่มที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกับกลุ่มที่ต่อสู้เพื่อความเป็นสหพันธ์ในเมียนมาดูจะยังไม่ไปด้วยกัน เขาตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรนักเคลื่อนไหวสองกลุ่มนี้จะมีเป้าหมายและมีเอกภาพกันได้
“เรากับรัฐบาลประชาธิปไตยควรจะมีจุดยืนอันเดียวกัน มันเหมือนเรามีการเคลื่อนไหวสองกลุ่ม เรามีบริบทที่ต่างกัน กลุ่มต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยคิดว่ากลุ่มชาติพันธุ์นั้นใจแคบ มองเห็นแต่เรื่องผลประโยชน์ของตัวเอง ในขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์มองว่ากลุ่มต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยสนใจแต่เรื่องของประชาธิปไตย เราจะร่นระยะห่างระหว่างสองกลุ่มนี้ได้อย่างไร” เขามีคำถามว่า ประชาธิปไตยและความเป็นสหพันธ์จะเป็นเป้าหมายเดียวกันได้หรือไม่
จอ ชวา โมเห็นด้วยกับชู บิก ทองที่ว่า ปัจจุบัน 'ศัตรูร่วม' ในทางการเมืองของพวกเขาหายไปหรืออย่างน้อยมีความไม่ชัดเจนทำให้การขับเคลื่อนเดินหน้าเพื่อประชาธิปไตยดูสับสน “ตอนนี้เราอยู่ในสถานการณ์ที่สลับซับซ้อน เป็นสถานการณ์ที่สับสน และผู้คนสับสน” สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือผู้คนยังคงต้องการการเปลี่ยนแปลง เขาบอกว่าสิ่งที่หลายฝ่ายมองเห็นในเวลานี้คือ อยากจะแก้รัฐธรรมนูญ แต่เรื่องนี้ไม่ง่าย เพราะกฎที่ทหารวางเอาไว้
ส่วน ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช แห่งโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ชี้ว่า เมียนมานั้นก้าวหน้ามากขึ้นอย่างแน่นอน กองทัพพม่าลดบทบาทลงจากการที่เคยเป็นผู้ปกครองโดยตรงขณะนี้มาทำหน้าที่เสมือนเป็นผู้คุ้มครอง สถานการณ์เคลื่อนจากการการที่ประเทศต้องบริหารจัดการความขัดแย้งมาสู่จังหวะก้าวของการคลี่คลายให้เกิดความลงตัว แต่ในช่วงระยะเวลาข้างหน้านี้เขาเชื่อว่าทหารเมียนมาจะยังคงมีบทบาทต่อไป อันเป็นความเห็นที่สอดคล้องกันกับของจอ ชวา โม
อ่านเพิ่มเติม: