กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายตามแผนปฏิบัติการเพื่อให้คลองแสนแสบใสสะอาดหลังลงพื้นที่ตรวจสอบ 21 เขต ในพื้นที่กรุงเทพฯ พบผู้ประกอบการระบายน้ำทิ้งเกินค่ามาตรฐานกว่า 400 แห่ง และมีสถานประกอบการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ จำนวน 75 แห่ง พร้อมผลักดันใช้มาตรการเชิงรุกจัดอบรมสถานประกอบการบำบัดน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพ หากยังฝ่าฝืนโทษปรับสูงสุด 2,000 บาท/วัน
นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.)กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่าคพ.ได้ดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการเพื่อให้คลองแสนแสบใสสะอาด ตามนโยบายรัฐบาล ได้เข้าตรวจสอบการระบายน้ำทิ้งจากสถานประกอบการในพื้นที่ริมคลองแสนแสบ ครอบคลุมพื้นที่ 21 เขต ในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 631 แห่ง ประกอบด้วย โรงแรม อาคารชุด ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล ร้านอาหาร ตลาด และที่ดินจัดสรร ผลการตรวจสอบ พบว่า มีจำนวนสถานประกอบการถึง 412 แห่ง (ร้อยละ 66) ระบายน้ำทิ้งออกสู่สิ่งแวดล้อม เกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ซึ่งส่วนใหญ่มีปัญหาด้านเทคนิคการดูแลระบบบำบัดน้ำเสีย ขาดบุคลากรที่มีความรู้ และประสบการณ์ในการเดินระบบและมีข้อจำกัดด้านโครงสร้าง พื้นที่ในการปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสีย ทั้งนี้ คพ. ได้ใช้มาตรการบังคับทางกฎหมาย โดยออกคำสั่งให้สถานประกอบการทั้ง 412 แห่ง ปรับปรุงแก้ไขระบบบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพ ให้บำบัดน้ำทิ้งได้ตามค่ามาตรฐานภายในระยะเวลาที่กำหนด และผลการตรวจติดตามหลังครบกำหนดคำสั่งฯ แล้ว ปรากฏว่า ยังมีสถานประกอบการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ จำนวน 75 แห่ง ซึ่งได้ดำเนินการปรับรายวันแล้ว 49 แห่ง โดยการปรับมีโทษสูงสุดในอัตรา 2,000 บาท/วัน จนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขระบบบำบัดน้ำเสียให้บำบัดน้ำทิ้งตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
นางสุณี กล่าวอีกว่าคพ. ได้มีการผลักดันและส่งเสริมให้สถานประกอบการปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงใช้มาตรการเชิงรุกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียให้กับสถานประกอบการ โดยในปี 2561 จะจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการกลุ่มย่อยเฉพาะสถานประกอบการที่ใช้ระบบบำบัดน้ำเสียแบบเดียวกันและมีปัญหาลักษณะเดียวกันมาให้ความรู้เบื้องต้น วิเคราะห์สาเหตุ ปัญหาและแนวทางแก้ไข หลังจากนั้น จะจัดทีมนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อลงให้คำแนะนำเชิงลึกเป็นรายแหล่ง เพื่อช่วยเหลือให้คำปรึกษาในการปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการใช้มาตรการบังคับของกฎหมาย โดยในเดือนธันวาคม 2560 จะจัดฝึกอบรมซักซ้อมทีมวิชาการ (Train the Trainer) และจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการกลุ่มย่อยให้สถานประกอบการที่มีปัญหาในการเดินระบบบำบัดน้ำเสีย
สำหรับการดำเนินงานก้าวต่อไป คพ. ยังคงเดินหน้าตรวจบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษอื่นๆ ที่ยังไม่ปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม และตรวจสอบการระบายน้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษ ประเภทอาคารที่ทำการของทางราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การระหว่างประเทศหรือของเอกชนต่างๆ พร้อมทั้งบูรณาการแก้ไขปัญหาคลองแสนแสบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคมนาคม กรุงเทพมหานคร กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมโยธาธิการและผังเมือง และสำนักงบประมาณ โดยมีมาตรการสำคัญในการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย ได้แก่ การจัดการน้ำเสียที่ต้นทาง ณ แหล่งกำเนิด การเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการน้ำเสีย และการสร้างการมีส่วนร่วม ตามที่กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการเพื่อให้คลองแสนแสบสะอาด (มติ ครม. เมื่อวันที่12 กันยายน 2560) เพื่อนำไปสู่การจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ริมคลองแสนแสบอย่างยั่งยืนได้ในที่สุด นางสุณี กล่าว