เมื่อไม่นานมานี้ ฉันได้อ่านกระทู้ตั้งคำถาม ประมาณว่าฝรั่งที่มาเมืองไทยนั้นเขา “โอ้โห” กับเรื่องอะไรบ้าง เช่น บ้านช่อง ห้างร้าน ความทันสมัยไรงี้ ซึ่งคำตอบก็มีทั้งโอ้โหเรื่องดีๆ แล้วก็เรื่องที่ดูแปร่งๆ ฟังแล้วเหมือนโดนตบหน้าไปในตัว เช่น โอ้โหกับเรื่องมอเตอร์ไซต์ขี่บนฟุตบาท หรือโอ้โหกับโชว์ปิงปอง โชว์ยิงลูกดอก โชว์เปิดขวด เป็นต้น
ความโอ้โหของฝรั่ง สะท้อนภาพลักษณ์ของบ้านเราได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไปในอดีต ฝรั่งหลายๆ คนก็เคยบันทึกถึง “คนสยาม” ในมุมมองของพวกเขาเอาไว้เยอะเหมือนกัน ซึ่งวันนี้ได้กลายเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ไปแล้ว ถึงแม้มีข้อเท็จจริงที่ว่าชาวต่างประเทศเหล่านี้มาไทยเป็นช่วงเวลาสั้นๆ และมีทัศคติต่อชาวเอเชียว่าเป็นพวกล้าหลัง การอ่านเอกสารเหล่านี้จึงต้องมีวิจารณญาณให้มาก แต่ก็ถือว่าเป็นภาพสะท้อนมุมหนึ่ง ซึ่งบางเรื่องไม่น่าเชื่อว่ายังพบเห็นได้ในสังคมปัจจุบัน
ราชทูตฝรั่งเศสสมัยสมเด็จพระนารายณ์ “ลาลูแบร์” (de la Loubère) บันทึกถึงเรื่องดีๆ ของชาวสยามหลายอย่าง เช่น รักสะอาดมาก เคารพต่อผู้สูงอายุ มีสติปัญญาฉับไว เจ้าบทเจ้ากลอนโดยกำเนิด และเป็นคนดีละอายต่อบาป
แต่เรื่องไม่ดีนี่ก็เขียนไว้เยอะพอกัน ซึ่งก็เป็นไปตามธรรมชาติปุถุชนผู้ยังไม่บรรลุ เรื่องที่น่าสนใจมีสองเรื่องคือ เขาบอกว่า “ชาวสยามพูดปดเก่ง” และ “ชาวสยามเป็นขโมย” โดย “ชาวสยามจักไม่ปฏิเสธการลักขโมยเลยในเมื่อมีโอกาสที่จะกระทำได้”
นิสัย 2 ข้อหลักๆ นี้ อาจทำให้ชาวสยามดูเจ้าเล่ห์ ไว้ใจไม่ใคร่ได้ในสายตาชาวต่างชาติ โดย “มองสิเออร์เซเบเรด์” (Céberet) เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ที่เดินทางมาเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้ากรุงสยาม ราวปี ค.ศ. 1687-1688 ก็เป็นอีกคนที่บันทึกนิสัยเสียข้อนี้ไว้ โดยระยะเวลาหนึ่งปีที่ได้ติดต่อกับข้าราชการไทย ทำให้เขาเห็นดีเห็นงามในการเอานายทหารฝรั่งเศสมาเป็นหัวหน้าบังคับบัญชากองทหารไทยที่บางกอก โดยเขาให้เหตุผลว่า
“...เพราะเปนการที่อาจจะป้องกันอันตราย โดยเหตุที่ไม่ต้องวิตกถึงความคดโกงและทุจริตของคนไทยต่อไป (ความจริงคนไทยนั้นเปนคนที่โกงและคิดการทุจริตอย่างหาตัวเปรียบไม่ได้เลย) เพราะนายทหารฝรั่งเศสของเราคงจะได้ควบคุมคอยระวังอยู่เสมอ...”
“บาทหลวง เดอะ แบส” (De Bèze) เดินทางมากับคณะเยซูอิตชุดที่สอง สมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ เขียนถึงข้าราชคนสำคัญในรัชสมัยคนหนึ่งนั่นคือ “พระคลัง” หรือพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) เขาบอกว่าโกษาเหล็กอะไรๆ ก็ดี เสียอย่างเดียว คือ “ลุ่มหลงในการสั่งสมทรัพย์สมบัติ ชอบรับของกำนัล” เดอะ แบส เล่าว่า จากเรื่องนี้แหละที่ “ก็องสตังซ์ ฟอลคอน” หนุ่มนักผจญภัยชาวกรีซ อาศัยจุดอ่อน มอบเงินให้โกษาเหล็กอย่างมากมาย ทำให้เขามีโอกาสเข้ารับราชการจนเป็นถึงเอกอัครมหาเสนาบดี
“...คนสยามผู้นี้ (โกษาเหล็ก) ย่อมจะอ่อนไหวไปโดยอำนาจของกำนัลทำนองนี้ จึงสอบถามผู้ให้ว่าตนจะทำสิ่งไรเป็นการตอบแทนแก่เขาได้บ้าง มร.ก็องสตังซ์ตอบว่า ความกรุณาเดียวที่เขาใคร่ขอรับนั้นก็คือขอเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามเท่านั้น...”
ในบันทึกของเขายังเขียนถึงนิสัยชอบรับของกำนัลของโกษาเหล็กจนถึงกับ “ร่ำรวย” โดยบอกว่าโกษาเหล็กมักจะขายของกำนัลที่มีผู้นำมาให้เพื่อเปลี่ยนเป็นเงิน และของกำนัลนั้นๆ ก็จะถูกคนซื้อกลับมามอบให้โกษาเหล็กอีกครั้ง วนลูปไปเรื่อยๆ
“...มีผู้เห็นว่าตะลุ่มบรรจุผลไม้สดและผลไม้กวนที่มีผู้นำมาให้เป็นของกำนัลตะลุ่มเดียวกันนั้นได้ถูกขายออกไปจากทำเนียบให้แก่พ่อค้าไม่ต่ำกว่าวันละ 30 เที่ยว และถูกซื้อกลับเข้ามาให้เป็นของกำนัลอีก เป็นจำนวนเที่ยวเท่าๆ กัน...”
เห็นได้ชัดว่าการรับค่าน้ำร้อนน้ำชาในหมู่ชนชั้นปกครองมีมาตั้งแต่อดีต ซึ่งการรับของกำนัลกันจนร่ำรวยในยุคนั้นอาจไม่ใช่เรื่องผิด แต่ในยุคที่กฎบ้านกฎเมือง กฎของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็มีอยู่ การจะรับหมาบางแก้วตัวแค่ 6,000 บาท ถึงไม่ใช่หมาออกไข่เป็นทองคำทำให้คนรับร่ำรวยขึ้น ก็จำเป็นต้องทำให้ถูกครรลองทางกฎหมาย ไม่แปลกเลยที่เรื่องการรับ “หมาของกำนัล” จะเป็นเรื่องน่าสนใจรับปีจอนี้
“ร้อยโท เจมส์ โลว์” เป็นทูตที่อังกฤษแต่งตั้งมาเจริญไมตรีและจัดการเรื่องการค้ากับเมืองนครศรีธรรมราช ราวปี ค.ศ. 1824 ตรงกับปีสุดท้ายในแผ่นดินรัชกาลที่ 2 จากการมาอยู่สยามนานหลายเดือน เขาได้มีโอกาสดูโขนรามเกียรติ์ และเห็นว่าผู้คนปรบมือเกรียวกราวสนุกสนานชอบใจกับการไต่ไม้ของหนุมาน (ในเอกสารเขียนว่า “หัวละมาน”) อย่างมาก จากจุดนี้เขามีคอมเมนต์บันทึกไว้ในเอกสาร “จดหมายเหตุเจมส์ โลว์” ว่า
“...คนสยามเป็นคนที่มีนิสัยดีตามธรรมชาติและขบขันรื่นเริงง่าย และพวกเขามักตั้งใจปล่อยอารมณ์ไปกับความสนุกสนานและเสียงเพลงชั่วขณะหนึ่ง เพื่อให้ (ลืม?) ความทุกข์ยากประจำวันที่เขาจำต้องทนทานจากการกระทำของผู้ปกครองที่ไม่มีความรู้สึกรู้สมอะไร...”
อ่านตรงนี้แล้วสะอึกนิดนึง... เออ เหมือนฉันเลยอ่ะ เวลาที่รู้สึกเกินขีดจำกัดจากข่าวคราวที่เราไม่อาจทำอะไรได้ เช่น ทหารยิงนักกิจกรรมลาหู่ ประชาชีขอดูกล้องก็ไม่มีใครได้ดู, นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยติดคุกเพราะแชร์ข่าวจาก BBC ทั้งที่มีคนแชร์อีกเกือบสามพันครั้ง, ช้อปปิ้งเรือดำน้ำ, ค่าไข่คาเวียร์เที่ยวบินเหมาลำ, นาฬิกาหรูเรือนที่ 15 ฯลฯ มันเครียดเพราะมองไม่เห็นความยุติธรรมจากผู้ปกครองในปลายทาง จนหลายๆ ครั้งฉันต้องเอาแผ่นซีดี “หอแต๋วแตก” ของผู้กำกับที่ดีที่สุดในประเทศไทย มาเปิดดูซ้ำๆ ให้มุกตลกไร้สไตล์ เต็มไปด้วยคำหยาบคาย และการดำเนินเรื่องที่ไม่ค่อยประติดประต่อ มาช่วยเยียวยาจิตใจ ซึ่งไม่น่าเชื่อฉันขำกับอะไรแบบนี้มากๆ
ซึ่งอีการปล่อยอารมณ์ไปกับความบันเทิง ฉันว่าไม่ได้หมายถึงแค่มหรสพหนัง เพลง ละเม็งละครแต่อย่างเดียว แต่ยังหมายถึงความบันเทิงจากการได้เสพเรื่องชาวบ้านด้วย จึงไม่แปลกนักที่เราจะเห็นได้ว่าบ้านเรามีสารพัดเรื่องราวเป็นกระแสแบบ “ดราม่า - ฟีเวอร์” ได้ตลอดเวลา ตั้งแต่วาทะกรรมเสก-กานต์, สอดอStyle เลิกแฟน ไปจนถึงภาพหลุดสายป่าน เวลาชื่นชอบอะไรก็เฮโลตามกันไปจนเอียนเลี่ยน เวลาด่าใครก็ถล่มยับจนแทบจะเป็นการ Bully เสมือนว่ากำลังระบายความเครียดจากโลกแห่งความเป็นจริง
ขอย้ำอีกครั้งว่า เอกสารประวัติศาสตร์จากสายตาต่างชาติ ต้องอาศัยวิจารณญาณ แต่ถ้าเอาเฉพาะแต่ความคิดของฉันเอง บางเรื่องนั้นฉันรู้สึกคุ้นเคยเสมือนว่าเห็นมาตลอดชั่วชีวิต 30 เศษๆ และอดที่จะเทียบเคียงกับสถานการณ์ที่เจอทุกวันนี้ไม่ได้
สุดท้ายนี้ถ้าเอกสารเหล่านี้คือประวัติศาสตร์ ก็ขอให้ประวัติศาสตร์ไม่ซ้ำรอย...
___________________________________________
เอกสารประกอบ
โลว์, เจมส์, จดหมายเหตุเจมส์ โลวว์ “Journal of Public Mission to Raja of Ligor” (พิมพ์ครั้งที่ 2), กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2542, หน้าที่ 59.
เดอะ แบส, บาทหลวง, บันทึกความทรงจำของบามหลวง เดอะ แบส เกี่ยวกับชีวิตและมรณกรรมของก็องสตังซ์ ฟอลคอน (พิมพ์ครั้งที่ 2), นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2550, หน้าที่ 32, 40.
เดอะ ลาลูแบร์, มร., จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2), นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2548, หน้าที่ 227-231.