(เนื้อหานี้ถูกเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 28 ส.ค. 2560)
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2560 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. จัดพิธีมอบรางวัลกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในโครงการ National Space Exploration 2017 โดยผู้ที่ได้รับรางวัลมีทั้งนักวิจัยและเยาวชนสร้างสรรค์ผลงานเข้าร่วมโครงการ
ในงานดังกล่าว หลิว หยาง นักบินอวกาศหญิงคนแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เดินทางมาเพื่อแบ่งประสบการณ์เกี่ยวการเป็นนักบินอวกาศ ภารกิจ การทดลอง และการค้นพบในอวกาศ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนไทยและเยาวชนที่สนใจ ทั้งนี้เธอยังเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานถามคำถามต่าง ๆ ด้วย
ไม่เพียงแต่การบรรยายที่เต็มไปด้วยเนื้อหาสาระ และเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจพร้อมวิดิโอที่เธอบันทึกไว้จากภารกิจในอวกาศ เธอยังสามารถสอดแทรกเนื้อหาที่ชวนอมยิ้มและสร้างความเชื่อมั่นว่าคนไทยและความเป็นไทยต่าง ๆ สามารถก้าวไปเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจในอวกาศได้ เช่น ในขณะที่เธอกล่าวถึงการดำเนินชีวิตบนสถานีอวกาศที่นักบินอวกาศต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเธอได้นำเสนอวิดิโอที่เผยว่าการรำมวยไทเก็กแบบจีนก็สามารถเป็นการออกกำลังกายบนอวกาศได้ และในวันหนึ่งมวยไทยก็สามารถเป็นการออกกำลังกายบนอวกาศได้เช่นกัน หรือในเรื่องของอาหารการกินของนักบินอวกาศ ที่มีหลากหลายกว่า 100 เมนู และอาหารไทยก็สามารถกลายเป็นเมนูเหล่านี้ได้เช่นกัน (สอดคล้องกับทีมวิจัยหนึ่งที่ได้รับรางวัลในงานนี้ ที่ศึกษาเกี่ยวกับการนำอาหารไทยไปในอวกาศ)
สำหรับการตอบคำถามของผู้ร่วมงานที่ผู้ถามส่วนใหญ่เป็นเยาวชน เธอก็ได้สอดแทรกการให้กำลังใจและส่งเสริมความสนใจด้านอวกาศผ่านการตอบคำถามเหล่านั้น เช่น เมื่อมีเยาวชนคนหนึ่งถามถึงการทดลองเกี่ยวกับกลศาสตร์ควอนตัมในอวกาศ และเธอได้ตอบกลับว่าการทดลองเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นในภารกิจอวกาศของเธอ แต่หากเยาวชนที่ถามสนใจสามารถร่างโครงการทดลองส่งมาได้ และอาจจะเป็นการทดลองกลศาสตร์ควอนตัมแรกที่เกิดขึ้นในอวกาศก็เป็นได้ การตอบคำถามนี้ยังสอดคล้องกับส่วนหนึ่งในการบรรยายของเธอที่ว่าด้วยโครงการทดลองที่เยาวชนจีนเสนอและได้รับคัดเลือกให้เกิดขึ้นจริงในอวกาศ (โครงการดังกล่าวคือการศึกษาวงจรชีวิตของหนอนไหมในอวกาศ ซึ่งเธอได้ให้ความเห็นว่าการทดลองที่ถูกเสนอโดยเยาวชนชิ้นนี้นับเป็นก้าวสำคัญด้านชีววิทยาอวกาศ และยังเป็นก้าวแรกสู่เส้นทางสายไหมอวกาศด้วย)
ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐได้จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศ และกำลังพัฒนายุทธศาสตร์อวกาศแห่งชาติ 20 ปี ที่จะมีขึ้นเร็ว ๆ นี้ตามที่ ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกล่าวในงานนี้ อีกด้านหนึ่งทีมข่าวออนไลน์ Voice TV ก็ได้พบการขับเคลื่อนของเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่กำลังทำข่าวและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับอวกาศอย่างแข็งขัน ภายใต้ชื่อ Spaceth.co (สเปซทีเอช ดอท โค)
SPACETH.CO
Spaceth.co คือเว็บไซต์ที่ถูกออกแบบมาให้เป็นพื้นที่ที่รวบรวมเรื่องราวและข่าวสารเกี่ยวกับอวกาศ ที่เขียนโดยกลุ่มคนที่มีความสนใจด้านอวกาศ และเผยแพร่แก่บุคคลทั่วไปได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนไปพร้อม ๆ กัน ทีมข่าวออนไลน์ Voice TV มีโอกาสสัมภาษณ์พูดคุย ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน อายุ 19 ปี หรือเติ้ล หนึ่งในผู้ก่อตั้งพื้นที่ข่าวสารอวกาศแห่งนี้ และพบว่าพวกเขามีเจตนารมณ์และความคิดที่ชัดเจน
เพราะทำได้ เราจึงทำ
Spaceth.co เกิดจากการรวมตัวของเยาวชนที่สนใจเรื่องอวกาศ โดยตัวตั้งตัวตีหลักทั้ง 5 คนมีอายุตั้งแต่ 16-19 ปี เติ้ลได้บอกกับเราว่า พวกเขาเริ่มต้นจากความสนใจส่วนตัว และมีโอกาสได้พบเจอกันตามกิจกรรมเกี่ยวกับอวกาศทั้งบนพื้นที่จริงและออนไลน์ และคิดว่าในไทยนั้นยังไม่มีใครเผยแผ่ข้อมูลข่าวสารด้านอวกาศและสื่อสารกับคนทั่วไปได้อย่างน่าสนใจ ทำให้มีคนไทยกลุ่มเล็กมากที่จะเข้าถึงข่าวสารด้านอวกาศ และเมื่อพวกเขาประเมินศักยภาพของตัวเองแล้ว ก็พบว่าพวกเขามีความสามารถด้านการเขียน การออกแบบภาพ การทำเว็บไซต์ รวมถึงแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ที่จะทำให้พื้นที่ในการเผยแพร่ข้อมูลที่พวกเขาชอบเป็นจริงได้ Spaceth.co จึงเริ่มต้นจากตรงนั้น
ทั้งนี้เราได้สอบถามว่าพวกเขามีใครสนับสนุนอย่างเป็นทางการหรือไม่ เติ้ลตอบกลับมาอย่างมั่นใจว่า ไม่มี และพวกเขาก็คิดว่าในขั้นต้นนี้พวกเขาสามารถดำเนินการเองได้ทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องรับการสนับสนุนทุนจากผู้สนับสนุน แต่หากจะมีใครอยากสนับสนุนพวกเขา ขอรับเป็นคำแนะนำในด้านการสื่อสารการตลาดต่อไปในอนาคตจะมีประโยชน์มากกกว่า
ถูกต้องและตรวจสอบได้
ในตอนนี้แม้เว็บไซต์ของพวกเขาจะยังไม่เปิดตัว แต่พวกเขาก็เริ่มผลิตเนื้อหาเผยแพร่ออกมาทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ อย่าง Facebook และ Twitter อย่างต่อเนื่องหลายเดือนแล้ว เติ้ลได้บอกกับเราว่า แม้พวกเขาจะสร้างเนื้อหาที่น่าสนใจ เข้าถึงง่าย แต่ก็ให้ความสำคัญกับความถูกต้องและแหล่งข้อมูลที่สามารถถูกตรวจสอบและเชื่อถือได้ อาทิเช่น การแถลงอย่างเป็นทางการขององค์กรอวกาศของประเทศต่าง ๆ และสำนักข่าวชั้นนำในต่างประเทศ และเครือข่ายคนในแวดวงอวกาศที่เชื่อถือได้ เป็นต้น เติ้ลให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้นั้น เพราะว่าเท่าที่สังเกตดู ข่าวสารด้านอวกาศที่ได้รับความสนใจมาก ๆ ในไทย มักจะถูกเล่าผ่านเว็บไซต์ clickbait ที่หลายครั้งบิดเบือนเนื้อหาจนเกินจริงเพื่อเรียกร้องความสนใจให้คนคลิกเข้ามาดูเนื้อหา และตัวเนื้อหาเองก็มักจะขาดความน่าเชื่อถือ ซึ่งทำให้ผู้คนเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องราวต่าง ๆ อยู่เสมอ
อวกาศใกล้ตัวได้ เมื่อมองผ่านชีวิตและสังคม
เติ้ลเข้าใจดีว่า อวกาศ ดูเป็นเรื่องไกลตัวของคนไทย เพราะยังมีเรื่องความเป็นอยู่ เรื่องปากท้องที่สำคัญกว่า อย่างไรก็ดีเติ้ลและทีมก็คิดว่าเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านอวกาศก็เป็นเรื่องที่ควรสนใจและมีประโยชน์ จึงหาทางสื่อสารข้อมูลข่าวสารด้านอวกาศให้ใกล้ตัวมากขึ้น โดยเล่าเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับสังคมและความเป็นอยู่ของผู้คนในประเทศไทย อาทิเช่น เนื้อหาที่เท่าทันยุคสมัยว่าด้วยนักบินอวกาศสหรัฐฯสามารถเลือกตั้งได้จากอวกาศ ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในประเทศก็เลือกยังเลือกตั้งไม่ได้ หรือเรื่องราวความเข้าใจผิดของนักวิจัยด้านอวกาศที่ค้นพบสัญญาณแปลกประหลาด แต่แท้จริงแล้วสัญญาณนั้นเกิดขึ้นจากเตาอบไมโครเวฟในศูนย์วิจัยนั้นเอง เป็นต้น
ภาครัฐลำพังไม่อาจเพียงพอ
"ถ้าพูดกันตรง ๆ ประเทศของเรายังไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเต็มตัว" คือความเห็นของเติ้ลเกี่ยวกับประเทศไทย โดยเติ้ลมองว่าเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดูไกลตัวจากคนไทย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบการศึกษาด้วย ที่ฝึกให้เยาวชนได้รู้ ได้จำเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ แต่ไม่ได้ฝึกให้คนเข้าใจแนวคิดและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เท่าที่ควร จึงทำให้ผู้คนรู้สึกว่าความรู้เหล่านี้เป็นของคนเฉพาะกลุ่มมากกว่าจะเป็นเรื่องที่ใคร ๆ ก็เข้าถึงได้
อย่างไรก็ดีในปัจจุบันภาครัฐก็ได้ผลักดันและส่งเสริมการศึกษาเหล่านี้ (ผ่าน STEM education ดูเพิ่มเติมได้ที่นี่) ในขณะที่เติ้ลมองว่าอาจจะคาดหวังได้ แต่ก็ไม่ควรปล่อยให้รัฐทำแต่เพียงลำพัง ภาคส่วนต่าง ๆ ก็สามารถร่วมกันทำให้ประเทศขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างเต็มตัว ไม่ต่างกับที่พวกเขาได้สร้าง Spaceth.co ขึ้นมา
เว็บไซต์ Spaceth.co มีแผนจะพร้อมเปิดตัวในช่วงสิ้นปีนี้ (ปัจจุบันเว็บไซต์เปิดใช้งานแล้ว ,แก้ไขเพิ่มเติม 11 พ.ย. 2560) อย่างไรก็ดีพวกเขาได้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ แล้วผ่านทาง Facebook และ Twitter ผู้ร่วมก่อตั้งวัย 19 ปีคนนี้ยังบอกว่า พวกเขาไม่ได้ขอให้ทุกคนต้องมาสนใจเรื่องอวกาศเหมือนที่พวกเขาสนใจ แต่หากวันหนึ่ง เริ่มรู้สึกสนใจขึ้นมา ผู้คนก็สามารถเข้ามายังพื้นที่ ๆ เราสร้างไว้ได้และพบกับเนื้อหาที่เข้าถึงง่ายและน่าสนใจรอพวกเขาอยู่
___________________________
ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ STEM education ได้ที่