ไม่พบผลการค้นหา
อย. ชี้แจงไม่เคยมีการขึ้นทะเบียนยาที่แอบอ้างว่าเป็นยาปลุกอารมณ์ทางเพศตามที่ พร้อมประสานกระทรวงดิจิทัลฯ ขอความร่วมมือระงับการเผยแพร่ข้อมูลแล้ว ซึ่งตามกฎหมายไม่อนุญาตให้มีการขายยาผ่านเว็บไซต์หรือนอกสถานที่ขายยา

นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงประเด็น การแอบอ้าง อย.บนสินค้ายาปลุกอารมณ์ทางเพศ ว่า จากกรณีแฟนเพจ “Drama-addict” แจ้งเบาะแสกรณีมีการขายยาปลุกอารมณ์ทางเพศทางออนไลน์แอบอ้างว่าผ่านการรับรองจาก อย.และมีการแชร์ออกไปเป็นจำนวนมาก ผู้ขายได้นำใบเสียภาษีนำเข้าสินค้าที่ออกโดยกรมศุลกากรมาแสดง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการผ่านการตรวจมาตรฐานจาก อย. ตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด

จากกรณีดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบข้อมูลยาปลุกอารมณ์ทางเพศหรือ ยาปลุกเซ็กส์ Girly Sex ซึ่ง อย.ไม่เคยมีการขึ้นทะเบียนตำรับยาให้แก่ผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างสรรพคุณในลักษณะดังกล่าว ทั้งนี้ การโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณของผลิตภัณฑ์นี้ เข้าข่ายเป็น "ยา" ตาม พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 แต่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่มีเลขทะเบียนตำรับยา ดังนั้น ผู้นำเข้า/ ขาย มีความผิด ฐานนำเข้า/ ขายซึ่งยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต และโฆษณาขายยาที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นยาบำรุงกาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท นอกจากนี้ยังเข้าข่ายผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 อีกด้วย ซึ่ง อย. ได้ประสานไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อขอความร่วมมือในการระงับซึ่งการเผยแพร่ข้อมูลในเว็บไซต์และ Social Media ดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ กฎหมายไม่อนุญาตให้ขายยาในเว็บไซต์ หรือนอกสถานที่ขายยา โดยผู้ที่จะขายยาต้องมีใบอนุญาต และจำหน่ายโดยเภสัชกรเท่านั้น

ในส่วนของประชาชน อย. ได้ประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึง ข้อควรระวังในการซื้อยาตามอินเทอร์เน็ต หรือทางเว็บไซต์ต่างๆ เพราะเสี่ยงทั้งได้รับยาปลอม ยาไม่มีคุณภาพ หรือได้รับผลข้างเคียงจากยา จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้