ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลจีนเรียกร้องให้ไทยนำตัวชาวมุสลิมอุยกูร์ที่หลบหนีจากห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมาดำเนินคดีโดยเร็วที่สุด แต่ผู้นำองค์กรชาวอุยกูร์พลัดถิ่นเรียกร้องให้ไทยและประเทศอื่นๆ ปฏิบัติตามกฎหมายสากล ไม่บังคับส่งตัวชาวอุยกูร์กลับจีน

เจ้าหน้าที่ตำรวจและสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) สะเดา จังหวัดสงขลา ระดมกำลังค้นหาชาวอุยกูร์ที่หลบหนีจากห้องกักของ ตม.ช่วงเช้ามืดของวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยชาวอุยกูร์เจาะห้องกักและใช้ผ้าห่มโรยตัวลงมายังพื้นดิน ทำให้มีผู้หลบหนีไปทั้งหมด 25 ราย แต่เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวกลับมาได้แล้ว 10 ราย วันนี้ (21 พฤศจิกายน) ขณะที่อีก 15 รายยังหลบหนีไปได้ และเจ้าหน้าที่ยังได้ตั้งด่านตรวจและกระจายกำลังค้นหาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย

สำนักข่าวรอยเตอร์/ยูเอสนิวส์ รายงานคำแถลงของนายหลู คัง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ซึ่งระบุว่าทางการจีนพร้อมจะยกระดับความร่วมมือกับไทยเพื่อนำตัวชาวมุสลิมอุยกูร์ทั้งหมดมาดำเนินคดีโดยเร็วที่สุด พร้อมย้ำว่าทางการจีนจะติดตามสถานการณ์ในครั้งนี้อย่างใกล้ชิด ทั้งยังเรียกร้องให้ไทยนำตัวผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการหลบหนีของชาวอุยกูร์ในครั้งนี้มาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมด้วย

ขณะที่นางเรบียา คาเดียร์ ประธานเครือข่ายชาวอุยกูร์พลัดถิ่น World Uyghur Congress เรียกร้องให้ไทยเคารพกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งระบุว่าผู้ที่ยื่นเรื่องขอสถานะผู้ลี้ภัยจะต้องได้รับการคุ้มครองไม่ให้ถูกส่งตัวกลับไปยังประเทศต้นทาง อันหมายถึงประเทศจีน เนื่องจากชาวอุยกูร์ตกเป็นเป้าของการเลือกปฏิบัติและกีดกันสิทธิทางศาสนาและการดำรงชีวิต ทำให้ต้องละทิ้งทุกอย่างเพื่อหลบหนีออกนอกประเทศ รัฐบาลไทยจึงไม่ควรส่งชาวอุยกูร์เหล่านี้กลับไปเผชิญชะตากรรมในจีน

000_Hkg9604816.jpg

(AFP: เด็กชาวอุยกูร์ถูกคุมตัวขณะผู้ปกครองขึ้นศาลเพื่อรับฟังข้อกล่าวหาหลบหนีเข้าไทยเมื่อปี 2014)

สำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย/เบอร์นามา รายงานว่าผู้ต้องกักที่หลบหนีไปในครั้งนี้อยู่ในกลุ่มชาวอุยกูร์เกือบ 200 คนซึ่งถูกจับกุมและควบคุมตัวในฐานะผู้ลักลอบเข้าเมืองตั้งแต่ปี 2014 (พ.ศ.2558) และเกือบทั้งหมดขอร้องให้ทางการไทยส่งตัวพวกเขาไปยังประเทศตุรกี แต่รัฐบาลไทยตัดสินใจส่งชาวอุยกูร์ 109 คนกลับไปยังจีนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2015 (พ.ศ. 2558) ทำให้ไทยถูกโจมตีอย่างหนักจากสหประชาชาติ สภาพยุโรป รวมถึงองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เนื่องจากเกรงว่าชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งกลับจะตกเป็นเป้าในการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีน

ส่วนชลิดา ทาเจริญศักดิ์ เลขานุการเครือข่ายติดตามการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประเทศไทย ระบุว่าน่าจะยังมีชาวอุยกูร์ประมาณ 60 คนถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องกักของ ตม.ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ แต่องค์กรภาคประชาชนที่ดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนไม่สามารถระบุตัวเลขที่ชัดเจนได้ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้เข้าพบกลุ่มคนเหล่านี้ 

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่ชาวอุยกูร์หลบหนีจากห้องกักของ ตม.ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก โดยเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ผู้ต้องกักชาวอุยกูร์ 10 ราย หลบหนีจากอาคารควบคุมผู้หลบหนีเข้าเมือง สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดหนองคาย โดยใช้วิธีเจาะเพดานเพื่อใช้เป็นช่องทางการหลบหนีเช่นกัน แต่มีการติดตามจับกุมตัวกลับมาได้ และมีคำสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องออกจากพื้นที่หนองคายหลังเกิดเหตุทันที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

UN ตำหนิไทยส่งตัวนักโทษการเมืองให้ตุรกี

จับ 10 อุยกูร์ แหกคุก ตม.หนองคาย

​'กสม.'จ่อถกปม'อุยกูร์' ซัดรัฐทำไม่ถูกส่งกลับจีน