ประเด็นที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับคิมจองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ อาจหยิบยกขึ้นหารือกันที่สิงคโปร์ ประกอบด้วย การเพิกถอนนิวเคลียร์ การยุติสงครามเกาหลี การสถาปนาความสัมพันธ์ สิทธิมนุษยชน และความมั่นคง
เพิกถอนนิวเคลียร์
หัวข้อสำคัญที่สุดในการเจรจา คือ การเพิกถอนนิวเคลียร์ โดยทรัมป์ต้องการให้เกาหลีเหนือปลดอาวุธนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิง ไม่สามารถรื้อฟื้นโครงการได้อีก โดยเปิดรับการตรวจพิสูจน์จากภายนอก
คิมบอกว่า ต้องการเห็นคาบสมุทรเกาหลีปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งแปลว่า นอกจากฝ่ายเกาหลีเหนือต้องกำจัดระเบิดและวัสดุนิวเคลียร์แล้ว สหรัฐฯ ก็ต้องยุตินโยบายร่วมนิวเคลียร์ที่ให้การปกป้องแก่เกาหลีใต้ด้วยเช่นกัน
ยุติสงครามเกาหลี
จนถึงเวลานี้ ในทางนิตินัยถือว่า เกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ยังคงอยู่ในสถานะสงคราม เนื่องจากสงครามเกาหลีเมื่อช่วงปี 1950-1953 ยุติลงโดยไม่มีการทำสนธิสัญญาสันติภาพ มีเพียงข้อตกลงหยุดยิง ซึ่งลงนามโดยสหรัฐฯ เกาหลีเหนือ และจีน
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เกาหลีใต้บอกว่า กำลังหารือสามฝ่ายกับสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ ที่จะประกาศการสิ้นสุดของสงครามเกาหลี คำประกาศนี้ไม่ใช่สนธิสัญญาสันติภาพ ซึ่งต้องใช้เวลาเจรจาจัดทำยาวนาน เนื่องจากมีประเด็นต้องต่อรองกันอีกมาก
ทรัมป์แสดงท่าทีสนใจไอเดียดังกล่าว จึงต้องคอยดูว่า ผลการเจรจาที่สิงคโปร์ในวันที่ 12 มิ.ย. จะมีเรื่องคำประกาศยุติสงครามเกาหลีรวมอยู่ด้วยหรือไม่
สถาปนาความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ
ก่อนหน้านี้ ทรัมป์เคยเสนอว่า หากการเจรจาประสบผลสำเร็จ รัฐบาลวอชิงตันจะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีเหนือ และปูพรมแดงต้อนรับคิมจองอึนไปเยือนทำเนียบขาว ซึ่งจะเป็นการรับรองสถานะของผู้นำเปียงยางในเวทีโลก
ทรัมป์ยังเสนอด้วยว่า ถ้าเปียงยางยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐฯ จะผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ ขณะที่ฝ่ายคิมบอกว่า อยากให้ผ่อนคลายการลงโทษอย่างเป็นขั้นเป็นตอนตามความคืบหน้าในการปลดอาวุธ
สิทธิมนุษยชน
อีกประเด็นที่ทรัมป์อาจหยิบยกขึ้นพูดกับคิม คือ เรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเกาหลีเหนือถูกกล่าวหาว่าสังหารผู้คนโดยใช้ศาลเตี้ย ทรมาน และลักพาตัว มีตัวเลขประมาณการว่าเกาหลีเหนือมีนักโทษการเมืองราว 120,000 คน
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นเรียกร้องให้ทรัมป์พูดจากับคิมในเรื่องที่เกาหลีเหนือลักพาตัวพลเมืองชาวญี่ปุ่นเมื่อช่วงทศวรรษ 1970-1980 เพื่อให้ไปฝึกสอนจารชนของเกาหลีเหนือให้เรียนรู้ภาษาและประเพณีของญี่ปุ่น
ความมั่นคง
เกาหลีเหนือต้องการให้สหรัฐฯ ยุตินโยบายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเปียงยาง และให้หลักประกันความมั่นคงแก่เกาหลีเหนือ
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ 'ไมค์ ปอมเปโอ' มีน้ำเสียงยอมรับเรื่องการให้หลักประกันความมั่นคง แต่หลายฝ่ายยังไม่เชื่อใจรัฐบาลทรัมป์ว่าจะรักษาคำมั่นสัญญา หลังจากทรัมป์นำสหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ทำกับอิหร่าน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :