นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. (ชื่อเดิมสภาพัฒน์) เปิดเผยว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ไตรมาส 4/2560 ที่ผ่านมา ขยายตัว 4% ดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้ภาพรวมดีกว่าครึ่งปีแรก และทำให้จีดีพีปี 2560 เติบโตตามเป้าหมาย 3.9% ขยายตัวจากปี 2559 ซึ่งอยู่ที่ 3.3%
การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2560 ที่ผ่านมา เป็นผลจากการขยายตัวด้านการบริโภคภาคเอกชน 3.2% การลงทุนภาคเอกชน 1.7% จากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 3% และ 0.5% ตามลำดับ อีกทั้ง ภาคส่งออกซึ่งมีสัดส่วนสูงในจีดีพี ยังขยายตัวมากถึง 9.7% จากปีก่อนอยู่ที่ 0.1% ซึ่งนับเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี โดยในไตรมาส 4/2560 ที่ผ่านมา การส่งออกขยายตัวมากถึง 11.6% เติบโตในทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดออสเตรเลียที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในรอบ 5 ไตรมาส จากการส่งออกรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมา การลงทุนภาครัฐ ติดลบ 1.2% จากปีก่อนหน้าขยายตัว 9.5% เป็นผลจากตัวเลขฐานสูง ปัญหาน้ำท่วม และการปรับตัวของหน่วยงานรัฐและเอกชนตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ) จัดซื้อจัดจ้าง พ.ศ. 2560 ส่งผลต่อการเบิกจ่ายการลงทุนภาครัฐในช่วงเริ่มต้นใช้กฎหมายใหม่
"ในช่วงเริ่มต้นการใช้ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างอาจเป็นอุปสรรคในการใช้จ่ายรัฐบ้าง เพราะต้องมีช่วงปรับตัว ตีความกฎหมาย ซึ่งไม่คุ้นเคยในการปฏิบัติ แต่ถ้าเริ่มทำแล้วน่าจะกลับมาปกติ และคาดว่าการใช้จ่ายลงทุนโดยภาครัฐในปี 2561 น่าจะดีขึ้น" นายปรเมธี กล่าว
ขณะที่ การผลิตภาคเกษตรในปีที่ผ่านมา ขยายตัว 6.2% เทียบกับปีก่อนหน้า -2.5% เป็นผลจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัว 6.7% แต่ดัชนีราคาสินค้าเกษตร -2.7% ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรขยายตัว 3.9% จากปีก่อนหน้าขยายตัว 1.7%
"ดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลง 3 ไตรมาส เกิดจากปัญหาสภาวะอากาศ อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 คาดว่า เมื่อแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ก็น่าจะดันราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น แต่ภาคเกษตรยังต้องเผชิญผลของลานีญาอยู่ ดังนั้นในอีกด้านหนึ่งรัฐบาลจึงมีมาตรการเสริมด้วยการใส่เงินลงไปในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรผู้มีรายได้น้อย เพื่อเสริมรายได้เกษตรกร เพราะถ้าจะหวังเม็ดเงินจากสินค้าเกษตร ในสถานการณ์แบบนี้ คงไม่เพียงพอ" นายปรเมธี กล่าว
นอกจากนี้ รัฐมีมาตรการแก้ปัญหาภาคเกษตรระยะยาว เช่น การสนับสนุนโครงการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร การแปรรูป การทำมหานครผลไม้ตามมติที่ประชุม ครม. สัญจรที่จันทบุรีในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งการทำมาตรการอาหารปลอดภัย สร้างมูลค่าสินค้าเกษตรครบวงจร เป็นต้น
โดยภาพรวมทั้งหมด จึงทำให้จีดีพีปี 2560 ที่ผ่านมาขยายตัว 3.9% ตามเป้าหมาย โดยมีภาคส่งออกสินค้าขยายตัวเกินคาด
สำหรับประมาณการปี 2561 คาดว่า จีดีพีโต 3.6-4.6% ค่ากลาง 4.1% ซึ่งเป็นประมาณการเดิมจากคราวก่อน (เดือน พ.ย. 2560) โดยคาดว่า ส่งออกปี 2561 จะขยายตัว 6.8% การบริโภคภาคเอกชนโต 3.2% การใช้จ่ายภาครัฐโต 3.2% การลงทุนภาครัฐโต 10% และการลงทุนภาคเอกชนทรงตัวที่ 3.7%
อย่างไรก็ตาม ในประมาณการปี 2561 ได้คำนวณผลจากการปรับอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้นอยู่ในช่วง 31.50-32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งโครงการลงทุน 5 โครงการหลักในเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี รวมถึงการใช้งบกลางปีกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก 1.5 แสนล้านบาท แล้ว
"เงินบาทคงไม่อ่อนลง และคาดว่าทั้งปี 2561 จะแข็งค่ากว่าปีก่อนเล็กน้อยที่ระดับ 31.50-32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และในบางช่วงของปีอาจจะอ่อนค่าเล็กน้อย หากสหรัฐอเมริกาปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด หรือหากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยมีการเร่งการนำเข้าเพิ่มขึ้น และสามารถลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดได้" นายปรเมธีกล่าว
สำหรับข้อจำกัดและความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยปีนี้ ได้แก่ 1.ผลกระทบจากปรากฎการณ์ลานีญา ซึ่งอาจกดดันภาคเกษตร 2.ราคาสินค้าในตลาดโลก อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น และ 3.ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก
ส่วนประเด็นการเมืองและการเลือกตั้งในประเทศไทย เลขาธิการ สศช. ระบุว่า นักลงทุนจะดูจากปัจจัยพื้นฐาน ดังนั้นหากมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปไม่กี่เดือน แต่ยังมีการเลือกตั้งตามโรดแมป ก็ไม่น่าจะมีผลนัก
“ยืนยันปี 2561 จีดีพีโต 4.1% แต่ต้องดูแลภาคเกษตร แม้ว่า 3 ปีที่ผ่านมารายได้เกษตรจะติดลบติดต่อกัน และการกระจายตัวทางเศรษฐกิจไม่ดีนัก แต่ก็ต้องดูเชื่อมโยงกับภาพรวม เช่น การสนับสนุนการประกอบธุรกิจใหม่ๆ หนุนธุรกิจขนาดเล็กๆ ด้วย” เลขาธิการ สศช. กล่าว
แบงก์ชาติชี้ไตรมาส 4/2560 จีพีดีโตต่ำกว่าคาด
ขณะที่ นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 4/2560 ขยายตัวที่ สศช.ประกาศออกมา ต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ในรอบเดือน ธ.ค. 2560 จากการใช้จ่ายภาครัฐที่น้อยกว่าคาดเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยปี 2560 ทั้งปียังขยายตัวได้ 3.9% ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ จากแรงสนับสนุนหลักจากอุปสงค์ต่างประเทศ สำหรับปี 2561 ประเมินว่าอุปสงค์ต่างประเทศยังดีต่อเนื่องและการใช้จ่ายในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องในระยะต่อไป
ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศที่ต้องติดตามพัฒนาการต่อไปอย่างใกล้ชิด อาทิ นโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และการกระจายตัวของกำลังซื้อในประเทศ