องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หลังตรวจสอบพบว่า นางนรีรัตน์ ปรมัตถ์วินัย ภรรยาของนายดอน ถือครองหุ้นเกินร้อยละ 5 ในบริษัทปานะวงศ์ จำกัด และบริษัทปานะวงศ์ รีแอลที จำกัด ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และไม่ได้มีการแจ้งต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.
โดยศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า นายดอน ไม่สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีเฉพาะตัว เพราะภรรยาโอนหุ้นที่เกินให้คนอื่นตามกำหนดเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด
ตามข้อเท็จจริงได้ว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 6 เมษายน 2560 ให้ถือเป็นวันเริ่มรับตำแหน่งรัฐมนตรีของนายดอน อีกทั้ง คู่สมรสได้ทำหนังสือใบโอนหุ้น ในบริษัทปานะวงศ์ จำกัด และบริษัทปานะวงศ์ รีแอลที จำกัด ให้กับบุตรชายอย่างถูกต้อง ในวันที่ 27 เมษายน 2560 และวันที่ 30 เมษายน 2560
เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่า รัฐมนตรีและคู่สมรสจะต้องไม่ถือครองหุ้นเกินร้อยละ 5 และจะต้องชี้แจงต่อ ป.ป.ช. ภายใน 30 วัน
จากหลักฐานพบว่า หลังจากโอนหุ้นให้กับบุตรชายแล้ว คู่สมรสของนายดอนได้ถือครองหุ้นแต่ละบริษัทเพียงร้อยละ 4 ซึ่งไม่เกินตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้
ดังนั้น นายดอน จึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรค (1) วรรค 5 ประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ไม่ต้องสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี เฉพาะตัว โดยหลังจากนี้คู่ความสามารถคัดสำเนาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ภายใน 15 วัน
นายดอน กล่าวว่า เมื่อเรื่องยุติจะกลับไปทำงานด้วยสมาธิอย่างเต็มที่ ที่ผ่านมายอมรับว่าได้แบ่งเวลาบางส่วนไปดูเรื่องดังกล่าว
ทั้งนี้ เขาระบุด้วยว่า ไม่ได้มีความประสงค์จะทำงานทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง และจะไม่ขอรับตำแหน่งใดๆ ช่วงเวลานี้ขอมุ่งการทำงานให้กระทรวงการต่างประเทศ เดินไปด้วยความเรียบร้อย
ยืนยันไม่ร่วมพรรคการเมืองใด
นายดอน กล่าวว่า จะไม่ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด แต่หากมาขอคำปรึกษาหารือ โดยเฉพาะงานด้านการต่างประเทศ ตนยินดี เพราะมีความรู้ความเข้าใจ
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่าหากได้กลับมาเป็นรัฐบาล จะมาเป็นรัฐมนตรีอีกหรือไม่ เพื่อให้งานด้านการต่างประเทศ และการเป็นประธานอาเซียนมีความต่อเนื่อง นายดอนระบุว่า เป็นเรื่องของอนาคต
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ บอกด้วยว่า การเลือกตั้งของประเทศไทย ไม่จำเป็นต้องมีองค์กรจากนานาชาติ เข้ามาสังเกตการณ์ เพราะรัฐบาลแม้มาจากการรัฐประหาร แต่ไม่ได้ห้ามหรือกดดัน ริดรอนสิทธิของประชาชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :