ไม่พบผลการค้นหา
วอยซ์ ทีวี พูดคุยกับ ‘เอดมันด์ โหย่ว’ ผู้กำกับมาเลเซียที่กำลังมาแรง พร้อมนักแสดงสาว ‘ชาริฟาฮ์ อามานี่’ ถึงผลงานสารคดี ‘Yasmin-San’ ที่สะท้อนชีวิตผู้กำกับมือทองของมาเลเซียผู้จากไป

เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว ครั้งที่ 30 ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 25 ตุลาคม ถึง 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หนึ่งในผู้กำกับที่ได้รับความสนใจไม่น้อยคงหนีไม่พ้น ‘เอดมันด์ โหย่ว (Edmund Yeo)’ ผู้กำกับมาเลเซียที่มีภาพยนตร์ได้รับเลือกให้เข้าฉายเปิดตัวถึง 2 เรื่อง ได้แก่สารคดี ‘Yasmin-San’ ที่ฉายในสาย Crosscut Asia และ ‘AQÉRAT (We the Dead)’ ที่ฉายในสายประกวด ซึ่งทำให้โหย่วคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลนี้

ก่อนหน้าที่โหย่วจะคว้ารางวัลใหญ่ วอยซ์ ทีวี เป็นสื่อไทยเพียงสื่อเดียวที่ได้สัมภาษณ์พิเศษผู้กำกับรุ่นใหม่วัย 33 ปีผู้นี้ ถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานและวงการภาพยนตร์มาเลเซีย ร่วมด้วย ‘ชาริฟาฮ์ อามานี่ (Sharifah Amani)’ นักแสดงสาวมือรางวัลที่เป็นทั้งนักเขียนและผู้กำกับภาพยนตร์

Edmund Yeo เอดมันด์ โหย่ว (c)2017 TIFF

เอดมันด์ โหย่ว รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากกรรมการ เรซา มีร์คาริมิ ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว ครั้งที่ 30 (c)2017 TIFF


‘Yasmin-San’ เป็นสารคดีที่บันทึกเบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง ‘Pigeon’ ซึ่งผู้กำกับชาวญี่ปุ่น ‘อิซาโอะ ยูกิซาดะ (Isao Yukisada)’ เดินทางไปถ่ายทำที่มาเลเซีย โดยชาริฟาฮ์ อามานี่ รับบทเป็น ‘ยาสมิน’ ซึ่งชื่อนี้ตั้งตาม ‘ยาสมิน อาหมัด (Yasmin Ahmad)’ ผู้กำกับระดับตำนานของมาเลเซียที่เสียชีวิตไปเมื่อปี 2009 ซึ่งอามานี่ถือเป็นนักแสดงคู่บุญของอาหมัด และได้เรียนรู้อะไรมากมายจากผู้กำกับหญิงผู้นี้


ความรู้สึกที่ได้ฉายหนัง 2 เรื่องในเทศกาลโตเกียว

เอดมันด์ โหย่ว: ผมรู้สึกถ่อมตัวที่ได้ฉาย ‘Yasmin-san’ รอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลภาพยนตร์โตเกียว เพราะผมนึกไม่ออกเลยว่าจะมีที่ไหนเหมาะสมไปกว่านี้ เทศกาลภาพยนตร์โตเกียวและ ‘ยาสมิน อาหมัด’ มีสายสัมพันธ์ที่พิเศษต่อกัน เพราะเทศกาลนี้ได้ค้นพบความสามารถของยาสมิน โดยภาพยนตร์เรื่อง ‘Sepet’ ได้ฉายรอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลนี้ในปี 2004 และคว้ารางวัลภาพยนตร์เอเชียยอดเยี่ยม ซึ่งนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นตำนานของยาสมินในระดับนานาชาติ และทำให้มีผู้กำกับมาเลเซียไม่น้อยได้ฉายภาพยนตร์ในเทศกาลนี้หลังจากยาสมิน คล้ายกับว่าเธอได้ทำลายกำแพงลง ไม่ว่าจะเป็นเจมส์ ลี (James Lee), โฮ ยูฮัง (Ho Yuhang), วู มิงจิน (Woo Ming Jin), ทัน ชุยมุย (Tan Chui Mui), ลิว เซ็งทัท (Liew Seng Tat) ซึ่งผู้กำกับเหล่านี้ถือเป็นเบอร์ใหญ่ และเป็นเพราะยาสมิน อาหมัด รวมถึงผู้กำกับเหล่านั้น ที่ทำให้พวกเราได้มาฉายภาพยนตร์ที่เทศกาลนี้ ผมจึงรู้สึกถ่อมตัวที่ได้มาฉายหนังที่นี่ ในวาระที่เทศกาลครบรอบ 30 ปี


Edmund Yeo

เอดมันด์ โหย่ว ผู้กำกับสารคดี 'Yasmin-San' และนักแสดง ชาริฟาฮ์ อามานี่


ความผูกพันกับ ‘ยาสมิน อาหมัด’

ชาริฟาฮ์ อามานี่: ฉันทำงานกับยาสมินตั้งแต่อายุ 17 ปี เธอเป็นผู้ค้นพบความสามารถฉัน ก่อนหน้านั้นฉันอยากเป็นนักแสดงมาตลอด เพราะแม่ฉันเป็นนักแสดงละครเวที เรามาจากครอบครัวใหญ่ที่เต็มไปด้วยนักแสดง แต่นั่นเป็นเพียงความปรารถนาลับของฉันที่ไม่เคยบอกใคร

โชคชะตาทำให้ฉันพบกับยาสมิน ซึ่งเธอทำให้ฉันถือกำเนิดบนโลกภาพยนตร์ และทำให้ฉันค้นพบอาชีพที่ฉันอยากทำ ซึ่งการที่ฉันได้อยู่ในกองถ่ายกับยาสมินก็ทำให้ฉันอยากเป็นผู้กำกับในอนาคต

ดังนั้นการมีภาพยนตร์ที่พูดถึงยาสมินและสิ่งที่เธอทำ โดยมีพวกเราอยู่ในนั้นด้วย ก็ทำให้รู้สึกอบอุ่นใจ และรู้สึกดีที่ได้รับการชื่นชมจากผู้ชมชาวญี่ปุ่น ซึ่งฉันว่าคนญี่ปุ่นคิดถึงพวกเรามาก แทบจะมากกว่าผู้ชมมาเลเซียด้วยซ้ำบางที ฉันเลยรู้สึกดีที่ได้เห็นความรักและความชื่นชมที่ผู้ชมที่นี่มีต่อยาสมิน หนังของเธอ และคนมาเลเซีย



ภาพยนตร์ของยาสมินสะท้อนความเป็นมาเลเซียอย่างไร

ชาริฟาฮ์ อามานี่: ยาสมินขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้กำกับที่ยอดเยี่ยมที่สุด เพราะเธอเน้นถ่ายทอดเรื่องราวของการเป็นชาวมาเลเซีย เพราะมาเลเซียมีผู้คนหลากเชื้อชาติมารวมตัวกัน เรามีหลายวัฒนธรรม ภาษา ศาสนา แต่ละคนต่างมีตัวตนอยู่ในกลุ่มเดียวกัน เรานำความแตกต่างหลากหลายของผู้คนมาเป็นจุดขายของประเทศ แต่หลายครั้งเราก็ไม่ได้ปฏิบัติเช่นนั้น คือมันก็เป็นสโลแกนที่ดูดีหรือเวลานำไปขายกับต่างชาติ แต่บางทีเราไม่ได้นำมาทำจริง

ยาสมินเป็นอีกคนที่เจาะปัญหานี้เพื่อเล่าเรื่องของมาเลเซีย ไม่ได้มาจากแค่มุมมองของคนเชื้อสายมาเลย์ อินเดีย หรือจีน แต่เธอสะท้อนเรื่องราวทั้งหมดผ่านโฆษณาโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ซึ่งตอนที่ยาสมินยังมีชีวิตอยู่ แต่ละปี เราจะมีโฆษณาทีวีหนึ่งชิ้นที่พูดถึงการเป็นหนึ่งเดียว การเป็นมาเลเชีย โดยไม่แบ่งแยกสีผิว หรือความแตกต่าง แค่เป็นตัวเราเองที่ดี ไม่ดี น่าเกลียด สวยงาม ตัวตนของมาเลเซีย เพราะไม่มีประเทศไหนหรอกที่สมบูรณ์แบบ ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ ซึ่งการที่เราไม่สมบูรณ์แบบเป็นสิ่งที่เธอรักมากที่สุด และเป็นสิ่งที่ภาพยนตร์ของเธอทำได้ดี

โดยหลังจากปี 2009 ที่ยาสมินเสียชีวิต ฉันไม่คิดว่ามีใครทำได้แบบนั้นอีก ที่ทำให้ประเทศเป็นหนึ่งเดียวกันผ่านการเล่าเรื่อง ซึ่งเธอมักจะนำเสนอสิ่งที่เกิดในประเทศให้ต่างชาติได้รับรู้ หนังของยาสมินทำให้เราได้เดินทางไปเม็กซิโก ปารีส เบอร์ลิน ซึ่งเธอชนะรางวัลภาพยนตร์เยาวชนยอดเยี่ยมที่เทศกาลเบอร์ลิน และน้องสาวฉันก็เล่นหนังเรื่องนั้นด้วย

ภาพยนตร์ที่เธอทำมักสะท้อนสิ่งที่ชาวมาเลเซียเป็นให้โลกได้รับรู้ ซึ่งฉันชื่นชมมาก เพราะไม่ค่อยมีใครรู้ว่ามาเลเซียคืออะไรหรืออยู่ที่ไหน แต่ยาสมินพูดถึงความเป็นมาเลเซียผ่านภาพยนตร์ของเธอ และเล่าถึงชาวมุสลิมด้วยเช่นกัน นี่เป็นความงดงามสำหรับฉันที่ยาสมินได้ถ่ายทอดในหนังของเธอ



‘AQÉRAT (We the Dead)’ เล่าถึงปัญหาการค้ามนุษย์และโรฮีนจาที่ลี้ภัยไปมาเลเซีย ทำไมถึงสนใจประเด็นนี้

แรงบันดาลใจผมเกิดขึ้นในปี 2015 ตอนที่มีผู้พบศพเกือบ 200 ร่างในป่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮีนจาและผู้ลักลอบค้ามนุษย์จากมาเลเซีย ตอนนั้นมันช็อกมาก เพราะมีเด็กตายด้วย มีคราบน้ำมัน

ความจริงก็คือ มีผู้อพยพเข้ามาเลเซียจำนวนมาก และเรามีคำเดียวที่ใช้เรียกพวกเขา “แรงงานต่างด้าว” โดยไม่ได้สนใจว่าพวกเขามาจากไหน มองแค่เป็น “แรงงานต่างด้าว” ซึ่งเหตุการณ์นั้นทำให้ผมเหวอมากว่า เราเป็นคนเลวเหรอ เพื่อเงินเราทำได้ขนาดนี้เลยเหรอ

ผมจึงรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องที่ผมอยากสำรวจทั้งเรื่องการอพยพหมู่ของชาวโรฮีนจา ซึ่งกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว แม้จะพยายามเพิกเฉยกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ปัญหาของชาวมาเลเซียส่วนใหญ่คือมักอยู่ในฟองอากาศของตัวเอง อยู่ในที่ที่รู้สึกสบาย คิดว่าไม่ต้องแคร์สิ่งนี้ แต่จะไม่สนใจได้อย่างไรในเมื่อนี่เป็นปัญหาของมาเลเซีย เป็นปัญหาสากล ถ้าหากจะเพิกเฉยกับปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก แล้วเราจะอยู่เป็นมนุษย์ต่อไปได้อย่างไร นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ผมทำหนังเพื่อสำรวจประเด็นนี้


Edmund Yeo เอดมันด์ โหย่ว (c)2017 TIFF

อิซาโอะ ยูกิซาดะ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ‘Pigeon’ ร่วมเสวนาถึง 'Yasmin-San' กับเอดมันด์ โหย่ว และชาริฟาฮ์ อามานี่ ในเทศกาลภาพยนตร์โตเกียว


วงการภาพยนตร์มาเลเซียเป็นอย่างไร

ตอนที่ยาสมินยังมีชีวิตอยู่ เธอทำภาพยนตร์ที่รวมเราทุกคนไว้ด้วยกัน เพราะเธอชอบสำรวจความเป็นมาเลเซีย ไม่ใช่แค่เพียงการแบ่งแยกเชื้อชาติ ไม่ใช่ทำหนังจีนเพื่อคนเชื้อสายจีน หนังมาเลย์เพื่อคนเชื้อสายมาเลย์

หลังจากที่ยาสมินเสียชีวิต มีหลายคนพยายามเลียนแบบสิ่งที่เธอทำ แต่มันเป็นไปไม่ได้ เพราะนั่นคือเอกลักษณ์ของยาสมิน ไม่ควรมีใครไปทำเลียนแบบ มันเลยไม่ได้ผล พวกเราเลยแบ่งแยกกันอีกครั้ง คนทำหนังจีน หนังมาเลย์ และหนังอินเดีย เราเติบโตไปคนละทาง มันเลยประหลาด เพราะพวกเรามาจากประเทศเดียวกัน แต่ส่วนใหญ่กลับไม่รู้จักกัน เพียงเพราะเรามีสีผิวแตกต่างกัน

วงการภาพยนตร์สะท้อนตัวตนเรา ประเทศเรา และการที่ทางการพยายามแบ่งแยกพวกเราออกจากกัน จนทำให้วงการภาพยนตร์ของเราแบ่งแยกไปด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเศร้า ผมคิดว่าภาพยนตร์สามารถเติบโตได้มากกว่านี้ หากพวกเรารวมเป็นหนึ่งเดียวกัน นี่เป็นสิ่งที่ผมรู้สึก หนังตลาด หนังอาร์ต ทำไมเราต้องแบ่งแยกกัน

ผมรักวงการภาพยนตร์ไทยมาก เพราะเห็นได้ชัดว่า หนังตลาดและหนังอาร์ตอยู่ร่วมกันได้อย่างเข้มแข็ง ทั้งหนังของ ‘อภิชาติพงศ์’ ไปจนถึง ‘ฉลาดเกมส์โกง’ หนัง GDH นั่นเป็นเหตุผลที่ทำไมหนังไทยถึงไปได้ทั่วโลก เพราะไม่ได้มีการแบ่งแยกกันมาก

ชมคลิปสัมภาษณ์: